วันที่ 12 ก.พ.2567 เวลา 14.15 น.ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกลถูกโยงเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มทะลุวัง ขัดขวางขบวนเสด็จ ฯเนื่องจากเคยเป็นนายประกันแกนนำหลายคนว่า ความคิดที่ว่ากลุ่มต่างๆมีฝ่ายการเมืองอยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ถามว่าลักษณะแบบนี้ทำให้เราแก้ไขปัญหาสังคมหรือไม่ ก็ไม่ใช่ หลายครั้งที่พรรคก้าวไกลเราถูกปรักปรำในลักษณะนั้น เอาเข้าจริงอะไรคือหลักฐานว่าเราอยู่เบื้องหลังคนนั้นคนนี้ ก้าวไกลทุกช่วงที่ผ่านมาที่เราอยู่ท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง มีการดำเนินคดีจับกุมคนเห็นต่างทางการเมือง ในอดีตเราหลายคนอาจจะไปเป็นนายประกันและประกันตัวให้ แต่ต้องบอกว่า การไปเป็นนายประกันในลักษณะนั้น มันแยกออกจากที่เขาขับเคลื่อนทางการเมือง
การที่เราไปเป็นนายประกันเราสามารถไปทำได้ตามกฎหมาย แล้วการไปประกันตัวก็เป็นการไปให้สิทธิในการต่อสู้คดี ซึ่งไม่ได้หมายความว่า คนที่ไปประกันตัวจะเห็นด้วยกับการกระทำของคนเหล่านั้น ไม่เช่นนั้นการประกันตัวที่เกิดขึ้นเต็มไปหมด เท่ากับว่าคนที่ประกันจะต้องไปเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ถ้าคิดแบบนี้อยู่ตลอดเวลา ถือว่าเป็นการคิดที่ผิด
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เข้าใจว่าความพยายามเชื่อมโยงพรรคก้าวไกลกับกลุ่มต่างๆ มีเหตุผล 2 ประการ 1. กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนตัวของกลุ่มทะลุวังและต้องการสร้างความชอบธรรมหรือดิสเครดิตกลุ่มทะลุวัง 2 .ต้องการทำลายพรรคก้าวไกลเช่นเดียวกัน มันไม่ควรไปมองอย่างนั้น ตนยืนยันว่าเราไม่ได้อยู่เบื้องหลังใครและใครก็ไม่ได้อยู่เบื้องหลังเรา พรรคก้าวไกลคือพรรคก้าวไกลที่ทำหน้าที่โดยมีจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชน เราเชื่อในเสรีภาพการแสดงออก เมื่อเขาแสดงออกไปแล้วจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยเป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่ตะแสดงความคิดเห็นได้ แต่จุดยืนของพรรคก้าวไกลคือเราไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง ในการแสดงออกมา เพราะการทำแบบนั้นคือการสร้างสังคมแห่งความหวาดกลัว เรามีบทเรียนการสร้างความหวาดกลัวมาแล้วและไม่ได้ทำให้สังคมไทยดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย
เมื่อถามว่ายืนยันว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้เห็นด้วยกับการกระทำ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ต้องแยกก่อนว่าการกระทำต่างๆของน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ แกนนำกลุ่มทะลุวัง แน่นอนว่าสร้างเสียงวิจารณ์อยู่แล้ว แต่คงสรุปยากว่าถึงที่สุดสังคมจะเห็นไปในทิศทางใด ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า มีสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่น.ส.ทานตะวัน แสดงออก และมีฝ่ายที่เห็นด้วยหากดูตามคอมเมนต์ในโลกโซเชียลฯ ขณะที่การอารักขาบุคคลสำคัญ ก็ต้องมีมาตรการ
เมื่อถามว่าขณะนี้หนักใจหรือไม่กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่พุ่งเป้ามาที่พรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การพุ่งเป้ามาที่พรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น เพราะเคยเกิดมาก่อนหน้านี้ สิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามทำคือให้สติกับทุกคน พูดกันตรงๆว่าการที่เราไปเป็นนายประกันในอดีต มันเท่ากับว่าเราไปอยู่เบื้องหลังหรือ คุณเชื่อขนาดนั้นเลยหรือ ตนคิดว่าสุดท้ายคนที่แสดงออกทางการเมืองในทุกรูปแบบเขาก็เป็นตัวเขา มีจุดยืนของเขา เราจะเห็นด้วยหรือไม่ต้องแยกเป็นกรณีๆไป เมื่อถึงที่สุดก็มีสิทธิ์ที่จะต่อสู้คดีในชั้นศาล รวมถึงกลไกทางกฎหมายต้องว่ากันไปตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น
“ดังนั้นสังคมของเราอยู่กันแบบนั้น ผมจึงคิดว่าอย่าไปสร้างสังคมแห่งความหวาดกลัวเลย อย่าสร้างปีศาจตัวใหม่ขึ้นมา อย่าสร้างผีตัวใหม่ขึ้นมา เหตุการณ์เดือนตุลาฯเคยสร้างบทเรียนมาแล้ว อย่าทำซ้ำเลย มันไม่คุ้มกัน” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เราควรใช้เวทีของสภาฯ ใช้พื้นที่ทางการเมืองในการคลี่คลายหาทางออก และเข้าใจว่านายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ พยายามจะพูดเรื่องนี้ ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สภาฯ จะพิจารณาพูดคุยหาทางออก และการที่ปล่อยให้ไปคุยกันตามท้องถนนถ้านำไปสู่การสร้างพื้นที่ที่อันตรายก็ไม่คุ้ม ทางหนึ่งที่ตนคิดว่าเป็นทางออกคือกฎหมายนิรโทษกรรม
เมื่อถามว่ามีหลายฝ่ายมองว่าควรนำเรื่องเกี่ยวกับผู้ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 ออกจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เราเคยหาเสียงเอาไว้ เมื่อเราได้รับการเลือกตั้งมาก็พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ซึ่งเราไม่ได้มีนโยบายแก้มาตรา 112 เท่านั้น ทางสว. อาจจะมีความคิดว่าเราไม่ควรทำแบบนั้น แต่ในจุดยืนของเราต้องกลับมาตั้งต้นว่าวันนี้ปัญหาของประเทศชาติคืออะไร เราต้องยอมรับว่ามีคนถูกดำเนินคดีในเรื่องมาตรา 112 จะมีหนทางแก้ไขอย่างไร
“ออปชั่นเรามีอะไรบ้าง เอาเขาเข้าไปขัง ปล่อยพวกเขา นิรโทษกรรมให้พวกเขาหรืออะไร ถ้าเอากันแบบสุดโต่งเลยคือการเอาไปขัง ต้องถามว่าช่วยให้บ้านเมืองดีขึ้นอย่างไร ถึงที่สุดคนเหล่านี้ก็มีญาติพี่น้องและเขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ความคิดเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กลุ่มนิสิตนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่เท่านั้น ที่มิตรประเทศที่เขามองมายังประเทศไทยรู้สึกไม่สบายใจ กับการดำเนินคดีที่มีความรุนแรง และไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สิทธิเสรีภาพ
มีการตั้งคำถามในเชิงภาคธุรกิจ ความมั่นใจว่าหากมีการดำเนินคดีในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกับคดีอื่นได้หรือไม่สิ่งเหล่านี้เป็นความมั่นใจทั้งหมดที่สามารถส่งผลกระทบต่อประเทศได้ ถ้าเราตั้งโจทย์ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นเราก็ควรเริ่มต้นเปิดประตูให้กว้าง ถ้าเราบอกว่าการนิรโทษกรรมไม่รวม มาตรา 112 ถ้าเริ่มจากตรงนี้ จะแก้ปัญหาการเมืองได้จริงหรือไม่ ไม่มีประโยชน์ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ การนิรโทษกรรมก็ไม่มีประโยชน์" นายรังสิมันต์ กล่าว