สนามบินชิโตเสะ ท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น มีทั้งไฟลท์บินจากต่างประเทศ และในประเทศ โดยให้บริการ 500 เที่ยวบินต่อวัน แบ่งเป็น ระหว่างประเทศ 100 เที่ยวบินต่อวันและในประเทศ 400 เที่ยวบินต่อวัน รองรับผู้โดยสารได้ 6.5 หมื่นคนต่อวัน เปิดบริการ 24 ชั่วโมง มีพื้นที่ให้บริการ 3.2 แสน ตร.ม. มี 2 อาคารผู้โดยสาร 4 ชั้น มี 1 ทางวิ่งในพื้นที่ 3.2 แสน ตร.ม. เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ 70,000 ตร.ม. ภายใต้ชื่อ “Smile Road” ซึ่งมีบริการทั้งโรงแรม สปา ออนเซ็น โรงภาพยนตร์ ร้านค้า และร้านอาหารกว่า 200 ร้าน บรรยากาศเปรียบเสมือนเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์อาหาร นอกจากนี้ ยังได้นำ “Soft Power” ของญี่ปุ่นมาจัดแสดงอาทิ ตัวการ์ตูนโดเรม่อน คิตตี้ ชินจัง รวมทั้งนำโรงงานขนาดเล็ก มาจัดแสดงวิธีทำช็อกโกแลต “Royce” ซึ่งเป็นผู้ผลิตช็อกโกแลตที่ดังที่สุดในฮอกไกโด ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส
พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. พร้อมด้วยนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางมาศึกษาดูงานและเยี่ยมชมสนามบินชิโตเสะ ในกิจกรรม Press Tour ประจำปี 2567 เพื่อนำไปปรับพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิให้ดูทันสมัย และสร้างความสุขให้กับผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า การบริหารจัดการพื้นที่ของสนามบินชิโตเสะ เป็นตัวอย่างที่ดีมีการนำอัตลักษณ์ของญี่ปุ่นมาโชว์ให้ผู้โดยสารได้เห็น สำหรับสนามบินแห่งนี้รัฐบาลเป็นเจ้าของ แต่ให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ สัมปทาน 30 ปี ทอท.จะนำแนวคิดนี้ไปต่อยอดกับท่าอากาศยานของ ทอท. โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ ในเรื่องการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งที่นี่มีการผสมผสาน ไม่ได้เน้นกำไรอย่างเดียว แต่ทำให้ผู้โดยสารรู้สึกได้ว่ามีส่วนร่วมกับพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ อาทิ คิดตี้เวิลด์ เด็กๆเข้าไปเล่นได้ ผู้ใหญ่ก็นั่งพักผ่อนได้
นอกจากนี้ จะทำโซน "บางกอก ฟู้ด สตรีท" นำร้านอาหารชื่อดังของกรุงเทพฯ มาเปิดที่สนามบินสุวรรณภูมิ เหมือนที่สนามบินชิโตเสะ ที่ทำโซน "ราเม็ง สตรีท" นำร้านราเม็งที่ขึ้นชื่อของฮอกไกโด มาเปิดบริการ คาดว่าแนวคิดนี้จะเริ่มเกิดขึ้นบนพื้นที่ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) สนามบินสุวรรณภูมิ 6 หมื่น ตร.ม. คาดเปิดประมูลเดือน เม.ย.-พ.ค. 67 เปิดให้บริการปี 2570 พื้นที่หลักเป็นการเช็กอิน จุดตรวจค้น และตรวจคนเข้าเมือง ที่เหลือ 10% เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ มีร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่สำหรับเด็ก ร้านนวดแผนไทย และโรงแรมแบบเดย์รูม ทั้งรายวัน และรายชั่วโมง
ทั้งนี้ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิ มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ 5% ของพื้นที่ทั้งหมด ตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 15% แต่ยอมรับว่า สนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสารจำนวนมากเมื่อเทียบกับสนามบินชิโตเสะ ที่มีผู้โดยสาร 18 ล้านคนต่อปี พื้นที่ 3.2 แสนตร.ม. ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิ ผู้โดยสาร 65 ล้านคนต่อปี มีพื้นที่ 4.5 แสน ตร.ม. ผู้โดยสารสนามบินชิโตเสะน้อยกว่าสนามบินสุวรรณภูมิ 3 เท่า แต่พื้นที่น้อยกว่าสนามบินสุวรรณภูมิ 20% ซึ่งอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบันคงทำพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มไม่ได้แล้ว ต้องรอส่วน ต่อขยายด้านทิศตะวันออก
“สนามบินชิโตเสะ ยังเป็นต้นแบบด้านการประหยัดพลังงาน แต่อาจใช้คนละรูปแบบกัน เนื่องจากฮอกไกโด เป็นเมืองหิมะ จึงได้นำหิมะมากักเก็บรวมกัน และนำมาใช้ทำความเย็นในอาคารผู้โดยสารช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย. ของทุกปีที่มีอุณหภูมิอุ่นขึ้น โดยไม่ใช้เครื่องปรับอากาศ ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ 20-30% ต่อปี ขณะที่เมืองไทยเป็นเมืองร้อน ทอท. จะทำโรงงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่สนามบิน เริ่มแล้วที่สนามบินสุวรรณภูมิ ปกติจ่ายค่าไฟ 100 ล้านบาทต่อปี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 20%”
พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริษัท ทอท. กล่าวว่า ในฐานะบอร์ดพร้อมสนับสนุนทุกกิจกรรมของ ทอท. ได้ดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาดูงานที่สนามบินชิโตเสะ จะนำไปปรับพัฒนาสนามบินของเรา เน้นการใช้พื้นที่ใช้สอยที่เป็นกันเองกับผู้มาใช้บริการ มีราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้จับจ่ายใช้สอยอย่างคึกคักเหมือน อยากให้ผู้โดยสารทั้งต่างชาติ และคนไทยเดินทางอย่างมีความสุข ภูมิใจ และแฮปปี้ที่ใช้บริการสนามบิน ทอท. ทุกอย่างสะดวก รวดเร็ว มีมาตรฐานสูง รวมทั้งพร้อมรับฟังข้อแนะนำต่างๆ
#ทอท #สนามบินชิโตเสะ #สนามบินสุวรรณภูมิ