"วราวุธ" ให้ใจเย็นๆ รอผลสัปดาห์นี้  "นายกฯ" นั่งหัวโต๊ะถกเงินดิจิตอล เชื่อชี้แจงได้ อนุสรณ์ย้ำขอให้เชื่อมั่นรัฐบาลเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตควบคู่นโยบายอื่นๆ แน่นอน ขณะที่"ซูเปอร์โพล" เผยผลสำรวจพบคนไทย 27 ล้านคน ระบุเงินในกระเป๋าอยู่ในขั้นวิกฤ

     
เมื่อวันที่ 11 ก.พ.67 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล โดนแรงต้านจากหลายหน่วยงาน ว่า นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นเรื่องใหม่ของประเทศ เป็นเรื่องปกติ และยอมรับได้หากจะมีข้อห่วงใย ข้อเสนอแนะจากหลายหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุมตามกรอบกฎหมาย
      
 "ขอให้ประชาชนที่รอคอยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เชื่อมั่นรัฐบาลว่าจะสามารถเดินหน้าผลักดันนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ รัฐบาลยินดีรับฟังทุกข้อเสนอแนะจากทุกหน่วยงาน เพราะแต่ละองค์กรมีข้อเสนอแนะ ข้อท้วงติงที่รัฐบาลยินดีรับฟัง ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่วันที่ 15 ก.พ. จะได้เอารายงาน ป.ป.ช.มาพิจารณาด้วย เพื่อให้ครบองค์ประกอบของการพิจารณา เพื่อเดินหน้าโครงการ"
    
 นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า หลักการสำคัญของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ต้องไปถึงมือประชาชนอย่างโปร่งใส ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นแต่อย่างใด มั่นใจว่าแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ใช่การเอาไข่ไปใส่ในตะกร้าใบเดียว แต่รัฐบาลมีไข่หลายใบ กระจายใส่ในตะกร้าหลายอัน นอกเหนือจากนโยบายโครงการโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท รัฐบาลยังมีนโยบายเรือธงอื่นๆ ที่ดำเนินการควบคู่กันไปเป็นอาวุธลับขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โครงการแลนด์บริดจ์ และอีกหลายนโยบาย
       
"ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาลว่าจะเดินหน้าผลักดันนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้เกิดขึ้น ควบคู่กับนโยบายเรือธงของรัฐบาล" นายอนุสรณ์ กล่าว
     
ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ส่งข้อเสนอแนะให้รัฐบาลในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หนุนให้กลุ่มยากจนและเปราะบาง ว่า เบื้องต้นต้องดูว่าข้อสังเกตที่ทางป.ป.ช. ส่งมาให้รัฐบาล ซึ่งมีอยู่หลายข้อพอสมควร ก็ต้องดูว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กับพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่จะมีการหารือกันในเร็วๆ นี้ ว่าจะความเห็นต่อข้อสังเกตดังกล่าว หรือจะมีแนวทาง และคำชี้แจงอย่างไรได้บ้าง ก่อนที่จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
      
 "สัปดาห์หน้านายกฯ จะนั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตอยู่แล้ว ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะโครงการนี้พี่น้องประชาชนมีความหวัง และหลายคนมีทั้งความหวัง และเป็นห่วง ดังนั้นนายกฯจะสามารถชี้แจง และคลายข้อกังวลของหลายฝ่าย" นายวราวุธ กล่าว
    
 วันเดียวกัน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง จำนวนคนไทย ใน วิกฤตการเงินกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,146 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 7 - 10 ก.พ.67 ที่ผ่านมา
    
 จากการประมาณการทางสถิติกลุ่มประชากรคนไทยอายุ 16 - 85 ปี มีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 53,417,480 คน ที่ระบุ การเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤต พบว่า ประมาณครึ่งต่อครึ่ง หรือร้อยละ 50/50 ที่บอกว่าเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤต กล่าวคือคนไทยเกือบ 27 ล้านคน คือ จำนวน 26,975,827 คน หรือร้อยละ 50.5 ระบุการเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤต ในขณะที่ อีกร้อยละ 49.5 ระบุไม่อยู่ในขั้นวิกฤต
    
 เมื่อแบ่งออกจากภูมิภาค พบว่า คนในภาคอีสานส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.9 ระบุการเงินในกระเป๋าของตนเอง อยู่ในขั้นวิกฤต มากที่สุด รองลงมาคือ คนในภาคใต้คือร้อยละ 66.3 คนในภาคกลางร้อยละ 47.2 คนในภาคเหนือร้อยละ 35.8 และคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 30.8 ระบุ การเงินในกระเป๋าของตนเอง อยู่ในขั้นวิกฤต
    
 อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงข้อกังวล ถ้ามีการแจกเงินดิจิทัลจริง พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 32.7 กังวลต่อความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ พวกมิจฉาชีพ ออนไลน์ รองลงมาคือร้อยละ 32.7 เช่นกัน กังวลภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพง ร้อยละ 30.7 กังวลการทุจริตเชิงนโยบาย ร้อยละ 24.2 กังวลการสวมสิทธิ์ ร้อยละ 22.6 กังวลความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้รับความเสียหาย ร้อยละ 21.7 กังวล ประชาชนเสียวินัยการเงิน ขาดความรับผิดชอบ ร้อยละ 19.2 กังวล ประชาชนผู้ห่างไกล เทคโนโลยี เข้าไม่ถึงการแจกเงินนี้ และร้อยละ 14.9 กังวลประเทศสูญเสียโอกาส พัฒนาที่ยั่งยืน ตามลำดับ
     
ที่น่าพิจารณาคือ ถ้าวันนี้เลือกตั้ง ประชาชนสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนเลือกพรรคในรัฐบาล เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคม ที่ผ่านมา กับ เดือนกุมภาพันธ์ นี้ พบว่า ประชาชนกลับไปจากฝ่ายสนับสนุนและไม่สนับสนุน ไปขออยู่ตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่ กล่าวคือ กลุ่มสนับสนุนพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลลดลงจากร้อยละ 40.5 ในเดือนมกราคม ไปอยู่ที่ร้อยละ 31.2 ในขณะที่ กลุ่มไม่สนับสนุนก็ลดลงเช่นกันคือจากร้อยละ 39.3 ลงมาอยู่ที่ ร้อยละ 15.4 น่าจะเป็นผลมาจากการที่คนไทยสองกลุ่มเริ่มหันหน้ามาเผชิญหน้ากันในหลายมิติทั้งจากนโยบายรัฐบาลและไม่เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล แต่กลุ่มคนที่ขออยู่ตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่ กลับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.2 ในเดือนมกราคม มาอยู่ที่ร้อยละ 53.4 ในการสำรวจครั้งล่าสุด