กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)เดินหน้าดันซอฟต์พาวเวอร์ สอนอาชีพบนหลักคิดความพอเพียงของแต่ละบุคคล สร้างชุมชนเข้มแข็ง ดึงคนนอกอยากเที่ยว เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
นายธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) กล่าวถึงการผลักดันงานด้านการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อสร้างซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ว่า การจัดการศึกษา การฝึกอบรม การสร้างอาชีพให้แก่ประชาชน ของ สกร. หรือ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) เดิม ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง หลักสูตรของ กศน.ไม่เคยหยุดนิ่ง มีการจัดกิจกรรมการศึกษาที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดการศึกษาเพื่อข่าวสารข้อมูล การเพิ่มพูนทักษะอาชีพ เรายึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เรื่องใด อาชีพอะไรที่ประชาชนสนใจ สกร.ก็จะเข้าไปจัดอบรมให้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ดีๆ ที่มีชื่อเสียงของแต่ละชุมชนออกมามากมาย โดยมีหน่วยงานต่างๆเข้าไปช่วยโปรโมทส่งเสริมผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี
รักษาราชการแทนอธิบดี สกร.กล่าวต่อไปว่า การส่งเสริมอาชีพของ สกร. มอง 3 มิติ คือ 1.มิติการจัดอบรมอาชีพเพื่อการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม เช่น การทอผ้า ซึ่งคนในชุมชนได้ทำอยู่แล้ว และเข้าไปช่วยส่งเสริมโดยประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปสอน หาดีไซเนอร์เก่งๆ ไปช่วยออกแบบ 2.มิติส่งเสริมอาชีพที่จะแก้ปัญหาชุมชน เช่น น้ำเน่าเสีย ก็สอนการผลิตอีเอ็ม หรือ การบำบัดน้ำเสียด้วยจุลินทรีย์ชีวภาพ ให้ชุมชนนำความรู้ไปแก้ปัญหาของชุมชน และ 3.มิติอาชีพในอนาคต เช่น หลักสูตร Internet of Things ( IOT) หรือ อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง เป็นต้น
“ ซอฟต์พาวเวอร์ ในความหมายของผม มองถึงศิลปวัฒนธรรมของชุมชน โดยมีหลักคิด ในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพบนมิติความพอเพียงที่มาจากอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของชุมชน สกร.ไม่ควรสอนให้ทำเป็น ค้าขายได้เท่านั้น ซึ่งนอกเหนือจากการจัดอบรม พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เหนือสิ่งอื่นใดต่อไป สกร. จะสอนวิธีให้ชาวบ้านในชุมชนได้พัฒนาอาชีพตามความพอเพียงของแต่ละบุคคล ไม่ใช่สอนเพื่อให้ผลิตและขายเหมือนกันหมด การผลิตเพื่อขายบางคน บางกลุ่มก็ไปไม่ถึงเป้าหมาย สกร.ต้องอยู่กับพื้นที่ อยู่กับชุมชน ต้องดูด้วยว่า ผลิตแล้วกินเองได้หรือไม่ ใช้เองได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้จำเป็นกับวิถีชีวิตของชุมชน และถ้าเราพัฒนาอาชีพบนมิติความพอเพียงของบุคคลได้ ก็จะส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เก่งบนความพอเพียงของตนเอง กลายเป็นจุดแข็งของชุมชน คนภายนอกก็อยากไปท่องเที่ยว เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากมีรายได้จากการขายสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนแล้ว ยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวได้อีกด้วย ซึ่ง สกร.จะเดินหน้าทำเรื่องนี้ให้เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ ” นายธนากร กล่าว.