เมื่อวันที่ 10 ก.พ.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, กรมควบคุมมลพิษ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 พบ 19 จังหวัด ในของประเทศไทยมีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีส้มที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ อาทิ แพร่ ลำปาง เชียงราย ลำพูน น่าน สุโขทัย พะเยา อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พิจิตร เพชรบูรณ์ เป็นต้น
สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ระดับปานกลางในหลายเขต รวมทั้งเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ
แอพพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” ยังคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอีก 3 ชั่วโมงข้างหน้า พบว่าหลายพื้นที่จะมีค่าคุณภาพอากาศที่ยังคงอยู่ในระดับสีส้มต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ ข้อมูลบนแอพพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมร่วมกับ AI (Artificial intelligence) ในการวิเคราะห์ค่าฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัด PM 2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ, ข้อมูลสภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น จุดความร้อน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก มานำเสนอให้ในรูปแบบข้อมูลตัวเลขและค่าสีในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ประชาชนควรสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมาโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูล PM2.5 แบบรายชั่วโมงเพิ่มเติมผ่านแอพพลิเคชัน “เช็คฝุ่น”
ขณะเดียวกัน เพจ กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความระบุว่า
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครขอสรุปผลการตรวจวัด PM2.5
วันเสาร์ที่ 10 ก.พ. 2567
เวลา 05.00-07.00 น. (3 ชั่วโมงล่าสุด)
ตรวจวัดได้ 17.4-36.2 มคก./ลบ.ม.
ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 26.0 มคก./ลบ.ม.
ค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกสถานีที่มีการตรวจวัด
ทั้งนี้ ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ในช่วง 17.6 - 36.2 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดยมีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน และพบว่าไม่เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.)
ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง(คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่นPM2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา)
ช่วงวันที่ 10 - 14 ก.พ. 67 การระบายอากาศอ่อน อากาศใกล้ผิวพื้นมีลักษณะปิดส่งผลให้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีแนวโน้มทรงตัวถึงเพิ่มขึ้น และคาดการณ์วันนี้ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง
จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงาน NASA พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 จำนวน 2 จุด เวลา 13.31 น. แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง
(อยู่ระหว่างประสานตรวจสอบจุดความร้อน)
ทั้งนี้กรณีประชาชนพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแส ผ่านทาง Traffy Fondue และสามารถตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน ผ่านทาง
- แอปพลิเคชัน AirBKK
- FB: สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
- FB: กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม
- FB: กรุงเทพมหานคร
- LINE ALERT
- LINE OA @airbangkok