ตามไทม์ไลน์กองทัพ พอก้าวเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ ก็ถือว่า เข้าสู่ ฤดูกาล แต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล  หรือที่เรียกว่า โผโยกย้ายกลางปี หรือโผเมษาฯ

แม้ว่าจริงๆแล้ว มันจะคือ โผมีนาฯ เพราะผบ.เหล่าทัพ จะต้องจัดทำเสร็จสิ้น และนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ภายในเดือนมีนาคม  เพราะคำสั่งจะมีผล ตั้งแต่ 1 เมษายน

โดยวันที่ 15 กุมภาพันธ์ มักจะเป็นกำหนดที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพต้องส่งบัญชีรายชื่อให้กับผู้บัญชาการทหารสูงสุด และปลัดกระทรวงกลาโหม รวบรวมเพื่อส่งให้ รมว.กลาโหม

โดยในการโยกย้ายนายพลครั้งนี้ จะเป็นการโยกย้าย ครั้งแรกใน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยและในยุคของ เศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี ที่คุมความมั่นคงเอง และ ยุค สุทิน คลังแสง  รมว.กลาโหม พลเรือน

และเป็นครั้งแรกของ สุทิน ที่จะร่วมในการจัดโผโยกย้ายทหารในนามของ คณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล ของกระทรวงกลาโหม หรือที่เรียกว่า บอร์ด7เสือ กลาโหม แต่ทว่าในรัฐบาลนี้  ไม่มี รัฐมนตรีช่วยกลาโหม จึงกลายเป็นแค่ “บอร์ด 6 เสือ กลาโหม” เท่านั้น

โดยมี สุทิน รมว.กลาโหม เป็นประธาน ร่วมด้วย “บิ๊กหนุ่ม” พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม “บิ๊กอ๊อบ” พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด “บิ๊กต่อ” พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. “บิ๊กดุง” พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. “บิ๊กไก่” พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ.

ในกรณีที่หากมีความเห็นไม่ตรงกัน และต้องโหวต  ฝ่าย รมว.กลาโหม ก็จะมีแค่เสียงเดียว แต่ที่ผ่านมา ไม่ค่อยจะต้องถึงขั้นโหวต เพราะ ผบ.เหล่าทัพ  มักจะไม่ร่วม แสดงความคิดเห็นในการเลือกผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยให้เป็นอำนาจหน้าที่และการพิจารณาของผู้บัญชาการเหล่าทัพนั้นเอง ยกเว้นในบางกรณี ผู้บัญชาการทหาร สูงสุด ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรง ก็สามารถที่จะเสนอแนะให้ความคิดเห็นประกอบได้

ทั้งนี้เพราะ คณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล หรือบอร์ดโยกย้ายนายพล ของกลาโหมนี้ เป็นกลไกป้องกันการเมืองแทรกแซง กองทัพตาม พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 2551

โดยในห้วง ที่ผ่านมาผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้มีการพูดคุยกับ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในเรื่องตำแหน่งแลกเปลี่ยน  เช่น ที่จะต้องส่งนายทหาร ไปอยู่ที่กองบัญชาการกองทัพไทย และบางตำแหน่ง ที่ต้องส่งนายทหารจากทัพไทย กลับกองทัพ

แต่เนื่องจากโผโยกย้ายนี้จะเป็นโผโยกย้ายทหารกลางปี ที่จะมีการขยับตำแหน่งหลัก น้อย ส่วนใหญ่ จึงเป็นการขยับโยกย้ายในทางที่จะเกษียณราชการเพื่อให้ได้ยศสูงขึ้น

แต่ด้วยนโยบายปรับลดจำนวนนายพลของรัฐบาลของกระทรวงกลาโหมที่จะต้องลดจำนวนนายพลในตำแหน่งประจำเช่นผู้ทรงคุณวุฒิ  ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ  ของแต่ละเหล่าทัพ ที่มีกว่า 700 นาย ให้เหลือ แค่ 50%  หรือราว 300 นาย ภายในปี 2570 

ปัจจุบัน กองทัพ มี นายทหารชั้นนายพล  ราว 2,000 นาย  ในจำนวนนี้ เป็นตำแหน่งหลัก ราว 1,300 นาย  ที่ในส่วนนี้ ไม่สามารถลดได้ เพราะ เป็นไปตามโครงสร้างของกองทัพ

แต่เนื่องจาก นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ที่จะเกษียณ ใน ตค.2567 นี้ มีจำนวนมาก  แต่ตำแหน่งที่จะรองรับ นายพลที่จะเกษียณ ไม่เพียงพอ  โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพบก  จึงมีรายงานว่า พล.อ.เจริญชัย ได้หารือกับ สุทิน และ เศรษฐา นายกรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติอัตราเฉพาะตัวเป็นกรณีพิเศษ  และเมื่อเกษียณราชการ ก็ปิดอัตราลงไป

ด้วยความสัมพันธ์อันดี ระหว่าง กองทัพกับรัฐบาล ระหว่างผู้บัญชาการเหล่าทัพ กับนายกรัฐมนตรี และกับ สุทิน รมว.กลาโหม  จึงทำให้ นายกฯไฟเขียวตามที่กองทัพเสนอมา โดยจะเห็นได้ว่าในห้วง 4 เดือนของรัฐบาล เศรษฐา และ สุทิน เองก็สามารถบริหารจัดการ เรื่องกองทัพได้เป็นอย่างดี จนไม่มีการต่อต้าน รมว.กลาโหมพลเรือน

ขณะที่ เศรษฐา ก็ให้ความสำคัญกับ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ด้วยการให้สัมภาษณ์ ออกสื่อขอบคุณ ในการทำงาน ตามนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชนในหลายเรื่อง โดยเฉพาะกับ พล.อ.ทรงวิทย์ และ พล.อ. เจริญชัย ซึ่งถือเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่มีบทบาทหลัก เศรษฐา เองก็พยายามกระชับความสัมพันธ์กับผู้นำเหล่าทัพและสร้างความรู้จักคุ้นเคยกันให้มากขึ้นนอกเหนือจากเรื่องงานจึงได้นัดหมาย ที่จะพบปะทานอาหารค่ำกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ แต่ก็ต้องเลื่อนเพราะว่าง ไม่ตรงกัน

รวมถึงการเชิญ พล.อ.ทรงวิทย์ และ พล.อ. เจริญชัย ไปร่วมเตะฟุตบอลกับกระทรวงการต่างประเทศ และ บรรดาเอกอัครราชทูตมิตรประเทศต่างๆที่ประจำอยู่ในประเทศไทย  เพื่อที่จะกระชับระยะห่างระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับกองทัพ และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับทูตนานาประเทศด้วย

หากมองในฐานะที่  เศรษฐา นายกรัฐมนตรี เป็น ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผอ.รมน.ด้วย แล้วก็ยิ่งต้องประสานงานสั่งการพูดคุยกับ พล.อ.เจริญชัย ซึ่งโดยตำแหน่ง ผบ.ทบ.ก็จะเป็นรอง ผอ.รมน. ด้วย

โดยที่ เศรษฐา ก็พยายามใช้ กอ.รมน. เป็นกลไกในการทำงานและแก้ปัญหาต่างๆ ด้วย

ดังนั้นในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ชั้นนายพล โดยเฉพาะโผโยกย้ายกลางปี  โผนีั ที่ยังไม่มีตำแหน่งหลักอะไรมาก ก็คงจะไฟเขียวฉลุย  เพราะทั้ง สุทิน และ เศรษฐา ก็คงไม่ได้ไปล้วงลูก โผทหาร เพราะให้เป็นเรื่องของกองทัพ

แต่ที่ถูกจับตามองก็คือที่ หน้าห้อง รมว.กลาโหม สำนักงานรัฐมนตรี  สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ที่คาดว่า จะต้องมีนายทหาร ในสายเพื่อไทย สายชินวัตร สายเตรียมทหารรุ่น 10 เพื่อนร่วมรุ่นของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่แม้จะเกษียณราชการกันไปหมดนานแล้วก็ตาม  แต่ก็ยังมีลูกน้องและลูกหลานที่ต้องดูแล

ขณะที่กองทัพบกในโผนี้ จะยังไม่มีนัยยะสำคัญที่จะสะท้อนว่าใครจะขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนต่อไป  หลังจาก พล.อ.เจริญชัย จะเกษียณราชการตุลาคม 2567 นี้  

แต่ที่ต้องจับตาคือ การขยับในกองทัพภาค 1 โดยเฉพาะในระดับรองแม่ทัพภาค 1 ที่จะส่งผลกับการแต่งตั้งแม่ทัพภาค 1 คนต่อไปต่อจาก “บิ๊กรุ่ง”  พล.ท.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ  ที่คาดว่าจะต้องขยับขึ้นห้าเสือกองทัพบก ในเวลานี้มีชื่อของ แม่ทัพใหญ่ พล.ท.อมฤต บุญสุยา แม่ทัพน้อย 1  จาก ตท.27 เป็นเต็งหนึ่ง  แต่ต้องรอดู พลังของ ตท.28 จะแผ่วลงอีกหรือไม่ เพราะ มีทั้ง รองไก่ พล.ต.วรยส เหลืองสุวรรณ  รองกอล์ฟ พล.ต.สราวุธ ไชยสิทธิ์  และ “รองมด” พล.ต.อาจิณ ปัทมจิตร เป็นรองแม่ทัพภาค 1 จ่ออยู่  ที่นอกจากจะเป็นการชิงชัยกันระหว่างเตรียมทหาร 27 กับเตรียมทหาร 28 แล้ว  ในเตรียมทหาร 28 เพื่อนกันเอง ที่ก็ล้วนเป็นนายทหารคอแดง  เช่นกัน ก็ต้องชิงกันเองด้วย เพราะจะหมายถึงโอกาสที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ในอนาคตด้วย

ที่สำคัญเป็นเรื่องของ นายทหารคอแดง ล้วนๆ ที่ฝ่ายการเมืองจะไม่มีส่วนเข้าไปร่วมพิจารณาแม้ว่าแม่ทัพภาค 1 จะเป็นเก้าอี้สำคัญที่คุมกำลังในกรุงเทพฯ และภาคกลาง และมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติรัฐประหาร ที่ผ่านมาทุกครั้ง ก็ตาม

แต่เชื่อได้ว่าโผโยกย้ายทหารครั้งนี้ ทั้ง สุทิน และ เศรษฐา คงจะต้องจ้องตาเขม็ง และเป็นการเตรียมตัวที่จะรับการแต่งตั้งโยกย้ายใหญ่ในปลายปี ที่จะพิจารณากันในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายนนี้ ที่จะวุ่นของจริง  เพราะจะมีการแต่งตั้งทั้ง ผบ.ทบ. และ ผบ.ทร. และในเวลานั้นความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลอาจจะถูกจับตามองอีกครั้ง นอกเหนือจากความขัดแย้งแย่งชิงเก้าอี้ในแต่ละเหล่าทัพ