“พิมพ์ภัทรา” พลิกประวัติศาสตร์ สมอ.ตั้งเป้าปี 67 กำหนดมาตรฐาน 1,000 เรื่อง เร่งสกัดสินค้าด้อยคุณภาพ พร้อมเสริมศักยภาพภาคอุตสาหกรรม
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ขออนุมัติบอร์ด สมอ. กำหนดมาตรฐานในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ขออนุมัติไว้ 603 มาตรฐาน เป็น 744 มาตรฐาน โดยบอร์ดได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้ผลิตสินค้าอย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน สามารถแข่งขันได้ในทุกเวทีการค้า ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ตั้งเป้าหมายในปี 2567 สมอ.จะต้องกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (มอก.) ให้ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 มาตรฐาน เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ทั้ง S-curve และ New S-curve เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ EV อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ AI ฮาลาล และ Soft power รวมทั้งตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และเป็นกลไกสกัดสินค้าด้อยคุณภาพจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า
นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า จากการประชุมบอร์ด สมอ. เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐาน จำนวน 32 มาตรฐาน เช่น ท่อเหล็กกล้า คอนกรีต ปูนซิเมนต์ เตาอบไฟฟ้าแบบตั้งโต๊ะ เตาอบเตาปิ้งย่างเชิงพาณิชย์ เครื่องอุ่นไส้กรอก อ่างน้ำวนและสปาน้ำวน สายสวนภายในหลอดเลือด ยางวัลคาไนซ์ และมาตรฐานวิธีทดสอบต่าง ๆ รวมทั้ง เห็นชอบรายชื่อมาตรฐานที่ สมอ. ขอกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมจากเดิมอีก 141 มาตรฐาน จากที่เคยอนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้ว 603 มาตรฐาน รวมเป็น 744 มาตรฐาน
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานที่ สมอ. จะทำเพิ่มเติม เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 50 มาตรฐาน และมาตรฐานวิธีทดสอบและข้อแนะนำ 91 มาตรฐาน แบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมดังนี้ 1) S-curve 1 มาตรฐาน 2) New S-curve 25 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร 3) มาตรฐานตามนโยบาย 54 มาตรฐานได้แก่ มาตรฐานสมุนไพร และเครื่องกลและภาชนะรับความดัน 4) มาตรฐานส่งเสริมผู้ประกอบการ 23 มาตรฐาน และ 5) มาตรฐานกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ 38 มาตรฐานได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก ยานยนต์ และสิ่งทอ เป็นต้น
ทั้งนี้ในปี 2567 สมอ.ได้รับนโยบายจาก รัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา เร่งรัดกำหนดมาตรฐานให้ได้ 1,000 มาตรฐาน โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกับ SDOs ของ สมอ.ทั้ง 8 สถาบันเครือข่ายได้แก่ สถาบันอาหาร สถาบันพลาสติก สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันยานยนต์ และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ รวมทั้งภาคีเครือข่าย SDOs อื่น ๆ ร่วมกันกำหนดมาตรฐานตามความเชี่ยวชาญและความถนัดของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ด้วยเล็งเห็นว่ามาตรฐานเป็นเครื่องมือสำคัญทางการค้า ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยหลังจากนี้ สมอ.จะเสนอบอร์ดให้ความเห็นชอบรายชื่อมาตรฐานในส่วนที่เหลือต่อไป
#สมอ #สินค้าด้อยคุณภาพ #มาตรฐานสินค้า