ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ฝันหนึ่งของมนุษย์คือ “อำนาจ” บ้างก็ได้มาโดยง่าย บ้างก็ได้มาอย่างยากลำบาก
วิทยาเป็นสื่อมวลชนยุคเก่า แต่พฤติกรรมและความคิดหลายอย่างก็ยังปรากฎอยู่ในปัจจุบัน ดังที่มีข่าวว่าสื่อบางคนได้ใช้วิชาชีพแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ต่าง ๆ อันเป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้กับวงการสื่อสารมวลชน ที่ในทางวิชาการของคนที่ร่ำเรียนมา ก็คงจะเคยได้ยินว่าสื่อมวลชนนี้ก็คือ “ฐานันดร 4” หรือกลุ่มคนที่มีอำนาจอย่างยิ่งกลุ่มหนึ่งในสังคม โดยทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ให้ประชาชน ถึงขั้นที่เรียกอย่างใกล้ชิดอีกฉายาหนึ่งว่า “หมาเฝ้าบ้าน” แต่ถ้าเป็นลักษณะที่ทำตรงกันข้าม ก็น่าจะเรียกใหม่เป็นว่า “เลี้ยงเสียข้าวสุก”
ผมรู้จักกับวิทยาเมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว ตอนนั้นผมเพิ่งจบปริญญาตรีมาใหม่ ๆ และได้ทำงานเป็นเลขานุการของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ส่วนวิทยาก็เป็นนักข่าวมาได้สัก 4 - 5 ปี ประจำอยู่ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ที่พวกผู้สื่อข่าวมักจะมารอสัมภาษณ์ “หาข่าว” เพื่อนำไปลงหนังสือพิมพ์ฉบับวันจันทร์ โดยเป็นที่รู้กันว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์คือ “ปรอทวัดอุณหภูมิการเมือง” ที่โดดเด่นในยุคนั้น ในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม พรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นแกนนำของรัฐบาล ที่มีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี อีกฐานะหนึ่งท่านก็ยังเป็นเจ้าของสื่อ คือก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และเป็นคอลัมนิสต์ประจำ ท่านจึงมีความเข้าใจและรู้ใจสื่อเป็นอย่างดี โดยที่วันอาทิตย์ก็คือ “วันปลอดข่าว” ที่ไม่ค่อยมีนักการเมืองให้สัมภาษณ์หรือมีกิจกรรมใด ๆ แต่ผู้สื่อข่าวก็จะรู้กันว่า ถ้าไปที่บ้านสวนพลูของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็มักจะได้ข่าวหรือ “ความเห็นดี ๆ” มาทำข่าวได้เสมอ ซึ่งวิทยาก็เป็นผู้สื่อข่าวที่ชอบมาที่บ้านสวนพลูในวันอาทิตย์นั้นเช่นกัน
ไม่นานต่อมา วิทยาก็โทรศัพท์มาขอนัดหมายเข้าสัมภาษณ์แบบ “ซีฟ” (ย่อมาจาก “เอ็กซ์คลูซีฟ” หรือข่าวเจาะพิเศษ) เกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย อันเป็นประเด็นที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กำลังให้ความสนใจและร่วมวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในคอลัมน์ของท่าน ซึ่งพอผมนำไปเรียนท่าน ๆ ก็อนุญาต โดยในตอนที่สัมภาษณ์ผมไม่ได้อยู่ในห้องด้วย เพราะมีงานอย่างอื่นต้องทำ แต่ก็ทราบว่าคงมีเรื่องที่ยังต้องพูดคุยกันอีกมาก เพราะวิทยายังขอนัดหมายเข้ามาสัมภาษณ์อีก 2 - 3 ครั้ง จากนั้นก็มาขอสัมภาษณ์พิเศษเกือบทุกเดือน จนดูเหมือนว่าวิทยาจะเป็นสื่อมวลชนที่มีความสนิทชิดเชื้อกับเจ้าของบ้านสวนพลูเป็นพิเศษ โดยที่ผมก็ไม่ได้เอะใจว่าจะมีเรื่องไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น เพราะหลาย ๆ คนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้ความสนิทสนม ส่วนใหญ่ก็เป็นด้วยความเมตตาของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นหลัก ซึ่งความเมตตาของท่านนี้ก็เป็นบารมีที่คุ้มครองตัวท่านเสมอมา จึงไม่ค่อยเห็นว่าจะมีภัยอันตรายใด ๆ เกิดขึ้นกับท่าน
วิทยายังพยายามสร้างความสนิทสนมกับผมอยู่เสมอ เช่น เคยขอให้ผมมาช่วยเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ที่เขาทำงานอยู่ โดยเสนอค่าตอบแทนที่น่าสนใจ แต่ผมก็ตอบไปด้วยความเจียมตัวว่า ยังไม่พร้อม และยังไม่มีความสามารถพอที่จะเขียนหากินได้ ซึ่งความจริงเป็นเพราะผมมีความตะขิดตะขวงใจที่จะเขียนอะไรเกี่ยวกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ อย่างที่วิทยาแนะนำหรือขอให้เขียนนั้นมากกว่า แม้ว่าผมจะปฏิเสธ วิทยาก็ไม่ละความพยายาม บางครั้งขอให้ผมไปเยี่ยมชมที่ทำงานของเขา บ่อยครั้งเข้าผมก็ยอมไป ก็ได้เห็นว่ายังเป็นสำนักงานเล็ก ๆ มีผู้สื่อข่าวไม่ถึง 10 คน เมื่อรวมพวกประจำสำนักงานและบรรณาธิการแล้วก็ยังมีไม่ถึง 20 คน แต่ตัวโรงพิมพ์นั้นมีขนาดพอสมควร เพราะรับพิมพ์หนังสือรายปักษ์และรายเดือนอื่น ๆ ด้วย
ผมเองเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีมาแต่ไหนแต่ไร จึงมองวิทยาในแง่ดีด้วยอีกคนหนึ่ง อีกทั้งหลังจากที่ได้สนิทสนมกับวิทยามาหลายเดือน ก็ได้รับรู้ “เรื่องดี ๆ” ของตัวเขาอยู่เป็นระยะ ทั้งจากคำบอกเล่าของวิทยาเอง และจากคำพูดของคนอื่น ๆ โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานของวิทยา ที่บอกว่าวิทยาเป็นคนขยัน มาทำงานแต่เช้า และกลับค่ำ ๆ เสมอ ๆ รวมถึงขยันออกสัมภาษณ์ หาข่าว ทำสกู๊ฟ และเขียนคอลัมน์ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และไม่เที่ยวกลางคืน หรือไปปาร์ตี้ที่ใด ๆ รวมทั้งยังไม่มีครอบครัว แม้กระทั่งมีแฟน หรือไปยุ่งเกี่ยวกับสาว ๆ
วิทยาไม่ค่อยชอบพูดถึงชีวิตส่วนตัวมากนัก แต่เท่าที่ผมพอปะติดปะต่อจากที่เขาเคยพูดถึง และที่เพื่อน ๆ สื่อมวลชนที่มาทำข่าวกับเขาเล่าให้ฟัง บอกว่าเขาเป็นคนพิษณุโลก พ่อกับแม่แยกทางกัน เขามาอาศัยอยู่กับป้าที่กรุงเทพฯตั้งแต่เด็ก บ้านของป้าอยู่ในสลัมแถวสำเหร่ ฝั่งธนบุรี ตอนเด็ก ๆ เขาต้องช่วยป้าขายของจำพวกผักและผลไม้ จนจบชั้นมัธยม เขาออกมาขายเสื้อผ้าแถวสำเพ็ง ระหว่างนั้นก็เรียนมหาวิทยาลัยแถวหัวหมากไปด้วย ใช้เวลาเรียนอยู่หลายปี พอจบมาแรก ๆ ก็ไปหาสมัครงานหลายที่ โดยอยากทำงานเกี่ยวกับการบริหารอย่างที่เรียนมา ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องไปเป็นเซลล์ขายหนังสือเร่ตามต่างจังหวัดอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งได้มาเจอเจ้าของโรงพิมพ์ที่เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับที่เขาทำงาน ที่พอดีต้องการคนทำงานในโรงพิมพ์ ก่อนที่จะก็ได้ทำงานเป็นคนตรวจปรู๊ฟอยู่หลายเดือน ก่อนที่เขาจะเสนอตัวเองออกทำข่าว และได้เป็นนักข่าวหรือ “ผู้สื่อข่าว” ในที่สุด
เริ่มแรกเขาเป็นผู้สื่อข่าวด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ต้องไปทำข่าวเกี่ยวกับโรงเรียน ครู นักเรียน พระ และกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ แต่ก็ชอบที่จะไปช่วยเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ในสำนักงานทำข่าวด้านอื่น ๆ ด้วย อย่างที่ได้มาช่วยทำข่าวด้านการเมืองในระยะหลัง แต่เขาก็ไม่ได้ทิ้งการทำข่าวทางด้านสังคมนั้นไปเสียทีเดียว อย่างที่ได้มาขอสัมภาษณ์ทำสกู๊ฟเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายจากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้น
วันหนึ่ง หลังจากที่วิทยาได้เข้าสัมภาษณ์ “ซีฟ” กับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์แล้ว เขาก็ขอคุยกับผมเป็นการส่วนตัว โดยบอกว่ามีเรื่องสำคัญอยากให้ผมช่วย ผมก็ออกไปพบกับเขาที่ออฟฟิตในตอนบ่ายวันนั้น เมื่อไปถึง เขาก็เอาแฟ้มเอกสารเล่มหนึ่งขึ้นมาพลิกให้ดู บอกว่าเป็นโครงการทำนิตยสารเล่มใหม่ ชื่อ “ช่อฟ้า” เป็นนิตยสารรายปักษ์ ออกทุกวันพระขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ เนื้อหาเกี่ยวกับวงการพระสงฆ์และวัดทั่วประเทศ โดยเล่าให้ผมฟังว่า ตั้งแต่ที่เขาเริ่มทำข่าวเกี่ยวกับพระสงฆ์เมื่อ 5 ปีก่อน เขาก็ได้ไปคุยกับเจ้าอาวาสและพระผู้ใหญ่หลายรูป ได้ทราบว่าพระท่านก็มีข่าวต่าง ๆ ที่อยากจะเผยแพร่และสื่อสารถึงกันมากมาย โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในแวดวงพระสงฆ์ด้วยกัน ว่าพระรูปไหน วัดไหน ทำอะไร ได้เลื่อนขั้น เลื่อนสมณศักดิ์ อยากออกสื่อ ให้พระด้วยกันได้รับรู้ รวมถึงที่พระสงฆ์เหล่านี้ก็มีญาติโยมที่เคารพศรัทธาเป็นจำนวนมาก ก็ย่อมอยากจะทราบข่าวเกี่ยวกับพระคุณเจ้าที่พวกเขาเคารพศรัทธาอยู่เป็นระยะนั้นด้วย
ก่อนที่ผมจะซักรายละเอียดของเนื้อหาต่าง ๆ ที่ผมยังสงสัยว่า “จะขายได้หรือไม่” วิทยาก็ชิงให้รายละเอียดด้านรายได้ เพื่อจุดประกายความโลภในตัวผมขึ้นเสียก่อนว่า “คุณก๊วยเจ๋งรู้ไหมว่า วัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยมีกว่า 30,000 วัด มีพระสงฆ์หลายแสนรูป และญาติโยมเป็นสิบ ๆ ล้าน มีสมาชิกประจำสัก 10 เปอร์เซ็นต์ คือ 3,000 วัด กับพระญาติโยมอีก 2 - 3 หมื่น ก็อยู่ได้สบาย ๆ หนังสือพิมพ์เล็ก ๆ ที่ผมทำอยู่นี้ ยอกขายแค่หมื่นกว่า ๆ ก็ยังอยู่ได้เลย”
ความโลภนั้นไม่เข้าใครออกใคร จนมาปิดตามองไม่เห็นว่า บางคนกำลังอาศัยความโลภนั้นแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์