AOT เตรียมลงทุน 4.4 หมื่นล้าน รุกขยายสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมืองเฟส 3 พร้อมขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านการบินเพิ่ม
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า ในปี 2567 AOT จะบริหารจัดการท่าอากาศยาน เพื่อเตรียมความพร้อมการกลับมาของนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดการณ์จะมีนักท่องเที่ยวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 65 ล้านคน ซึ่งเป็นยอดที่ใกล้เคียงในปี 62 ในช่วงก่อนการระบาดโควิด -19 โดยทาง AOT เตรียมความพร้อมทั้งบุคลากร อุปกรณ์ และการประสานร้านค้าเชิงพาณิชย์ให้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของผู้โดยสาร
“ถ้าดูตอนนี้ปริมาณนักท่องเที่ยวที่มาเยอะ เกิดความแออัด ตอนนี้เราก็ร่วมกับ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาที่จะเอาระบบ ออโต้ เกต เข้ามาใช้ เพื่อที่จะใช้ลดความแออัดที่เทอมินอล และจริงๆ อาคารเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรือ (SAT -1 แซทวัน) SAT 1 เป็นอีกเรื่องหนึ่งของการลดความแออัด เพราะก่อนหน้านี้แออัดทุกอย่าง ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญของการบินคือการไม่มีเกต เกตไม่พอ พอเกต ไม่พอทำให้ผู้โดยสารต้องไป Bus gate หรือช่วงระหว่างรอ ทำให้ 2 gate เข้าไปนั่งอัด ไม่พอ ก็นั่งกับพื้นบางอะไรบ้าง ตรงนี้คือปัญหา ดังนั้นพอเรามี SAT -1 ปัญหาเหล่านั้นก็จะคลี่คลายลง”
อย่างไรก็ตาม SAT-1 เป็นตัวเพิ่มรายได้ให้กับ AOT ที่มีพื้นที่สำหรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เป็นที่มาของรายได้ ดังนั้นทุกครั้งที่ AOT เปิดเทอมินอลใหม่ ถ้าเทียบกันจะอยู่ที่ 20% ของเมนเทอมินอล พื้นที่ของ SAT- 1 2.5 แสนตารางเมตร ปัจจุบันรายได้ยังไม่เยอะมาก เพราะมีเที่ยวบินที่ใช้บริการ 50 เที่ยวบิน/วัน เมนเทอมินอล 800 เที่ยวบิน/วัน เที่ยวบินเต็มทั้งหมดรองรับได้ 1,200 เที่ยวบิน/วัน ดังนั้นเราคิดว่าเมนเทอมินอลยังรับได้ 800 เที่ยวบิน/วัน และอีก 400 เที่ยวบิน มาใช้ที่ SAT-1โดยสายบินหลัก ที่ใช้บริการ สายการบินแอร์เอเชีย X
ทั้งนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เปิดใช้ SAT-1 มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 ปัจจุบันมีเที่ยวบินใช้บริการราว 50 ไฟล์ท/วัน ซึ่งภายใน 2 เดือนนี้ จะผลักดันให้เพิ่มเป็น 120 เที่ยวบิน /วัน และภายในปีนี้จะเพิ่มให้ได้ 400 เที่ยวบิน/วัน โดยขณะนี้มีประมาณ 18 สายการบินที่เลือกใช้ SAT 1 ซึ่งจะเต็มศักยภาพของอาคาร SAT-1 เป้าหมายเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวก สายการบินไม่ต้องใช้ Bus gate ที่ใช้ขนส่งผู้โดยสารไปขึ้นเครื่องบิน และสามารถเพิ่มพื้นที่ร้านค้าเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น เมื่อมีผู้โดยสารเพิ่มผู้ประกอบการร้านค้าก็พร้อมเข้ามาลงทุน พร้อมเดินหน้าขยายพัฒนาโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่าลงทุน 8,000 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน/ปี โดยตอนนี้อยู่ในช่วงการปรับแบบคาดเปิดประมูลในเดือน พฤษภาคมปีนี้
นอกจากนี้ ในปี 2567 AOT ยังมีแผนการพัฒนาโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 มูลค่าการลงทุน 36,000 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารอาคาร 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแบบโครงการคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม และเปิดประมูลปลายปี 2567 และจากนั้นจะเริ่มประมูล จังชั่นเทอร์มินอลต่อไป อย่างไรก็ตามจังชั่นเทอร์มินอล เป็นอาคารเชิงพาณิชย์อยู่ตรงกลางอาคารผู้โดยสารในประเทศ กับอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อให้ท่าอากาศดอนเมืองมุ่งสู่การให้บริการแบบ point to point เป็นจุดให้บริการเส้นทางบินที่ไม่ได้เชื่อมต่อ เน้นการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว
สำหรับการลงทุนของ AOT ทั้งหมดจะใช้เงินลงทุนของ AOT เอง โดยบริหารจัดการจากกระแสเงินสดที่มีอยู่ ไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากแหล่งอื่นพร้อมกันนี้ AOT ได้บริหารจัดการธุรกิจการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องโดยใช้บริษัทลูก เพื่อยกระดับการให้บริการ โดย AOT เข้าไปถือหุ้นใหญ่ และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมทำธุรกิจ ซึ่งตอนนี้ได้เปิดบริษัทลูกไปแล้ว 12 บริษัท โดยล่าสุดเพิ่งเปิดตัวไป เป็นธุรกิจการบริหารจัดการพลังงานในท่าอากาศยาน และกำลังเตรียมพิจารณาขยายธุรกิจใหม่ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการสนามบิน เช่น บริการขนส่งกระเป๋าสัมภาระจากที่พักมายังสนามบิน การบริการพรีเมี่ยมเซอร์วิสให้บริการลูกค้า VIP มีจุดรับผู้โดยสารและทางออกพิเศษ เป็นต้น
#AOT #ขยายสนามบินสุวรรณภูมิ #ดอนเมือง