กรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization : WIPO) ประจำประเทศสิงคโปร์ และสำนักงานสิทธิบัตรของญี่ปุ่น (Japan Patent Office : JPO) จัดการประชุมเชิงยุทธศาสตร์ WIPO-ASEAN IT ภายใต้หัวข้อ "Harnessing the Potential of the ASEAN IP Register for a Stronger Regional IP Ecosystem" เพื่อพัฒนาการใช้เทคโนโลยีในการยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาคอาเซียนให้ก้าวทันความซับซ้อนของยุคดิจิทัล ระหว่างวันที่ 31 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2567 ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมกว่า 50 คน
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ในยุคแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งนวัตกรรมไม่มีขอบเขตจำกัด การประชุมเชิงยุทธศาสตร์นี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของภูมิภาคอาเซียนในการปรับตัว สร้างสรรค์ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงบริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน และตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ใช้บริการของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะความต้องการของภาคประชาชนในการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการเจาะลึกการใช้ประโยชน์ทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน (IP Register) ในฐานะแพลตฟอร์มนวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาคอาเซียนอย่างครบวงจร โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก WIPO JPO ผู้แทนจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศจีน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย รวมไปถึงภาคเอกชนอย่างบริษัท Clarivate PLC Amazon และ WIPs ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในการนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการข้อมูลต่างๆ มาร่วมเป็นวิทยากรในครั้งนี้อีกด้วย
สำหรับประเทศไทย กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้นำเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ Artificial Intelligence และ Blockchain มายกระดับการบริการและปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียน ทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างง่ายดาย สะดวก รวดเร็ว และเป็นมาตรฐานสากล ภายใต้แนวทาง "Smart DIP" ซึ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของระบบนิเวศดิจิทัล อาทิ ระบบตรวจสอบเครื่องหมายการค้าด้วยภาพ (Image Search) ระบบสืบค้นข้อมูลด้วย AI ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการ นักวิจัย และนักประดิษฐ์สามารถค้นหาข้อมูลจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ระบบการให้คำปรึกษาทางไกลยังอำนวยความสะดวกแก่ผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรซึ่งสามารถขอคำปรึกษาได้โดยไม่ต้องเดินทางมาที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา อันจะเป็นการช่วยภาคเอกชนลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงบริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา
“กรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมเดินหน้าผลักดันความร่วมมือการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอาเซียน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับการบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน” นายวุฒิไกรฯ กล่าวยืนยันทิ้งท้าย
#กรมทรัพย์สินทางปัญญา #เทคโนโลยี #คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา