วันที่ 7 ก.พ.2567 นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีนปี 2567 ที่ใกล้จะมาถึง ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวไทยเชื้อสายจีน เพราะเป็นเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ มีการไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ เพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตและคนในครอบครัว จึงมีการยึดถือปฏิบัติกันมาอยู่ 3 วัน คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีน จึงขอให้คนไทยเชื้อสายจีนที่ต้องออกไปจับจ่าย ซื้อของกิน เครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ยึดหลัก 4 ล. ดังนี้ 1) ล.เลือก เลือกซื้อของไหว้ตรุษจีนให้สะอาด ปลอดภัย ควรเลือกซื้อจากสถานที่ผลิตจำหน่ายน่าเชื่อถือหรือมีเครื่องหมายรับรองจากทางราชการ พิจารณาการเลือกซื้ออาหาร เช่น อาหารสด จำพวกเนื้อสัตว์ต้องเลือกซื้อชิ้นที่มีความสดใหม่ เนื้อแน่น ไม่ยุ่ย สะอาด ไม่มีสีคล้ำ และต้องไม่มีกลิ่นเหม็น เป็ด ไก่ ควรมีเนื้อแน่นสะอาด ไม่มีการทาสีตามตัว ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน เลือกซื้อผักสดผลไม้ที่แน่น สีสดตามธรรมชาติอยู่ในสภาพไม่สะอาดไม่เหี่ยวเฉา ไม่มีร่องรอยเน่าช้ำ หรือขึ้นรา ไม่มีเศษดินหรือคราบสกปรก รวมทั้งคราบสีขาวของวัตถุมีพิษฆ่าแมลงติดอยู่ เลือกขนมที่ไม่มีสีสันฉูดฉาด บรรจุอยู่ในภาชนะห่อบรรจุที่สะอาด ไม่มีจุดดำด่างของเชื้อราและต้องไม่มีร่องรอยการแกะมาก่อน ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมดูวันหมดอายุก่อนตัดสินใจซื้อ 

2) ล.ล้าง ใช้วิธีล้างผักผลไม้ให้สะอาดปลอดภัยด้วย 3 วิธี ดังนี้ วิธีที่ 1 เหมาะสำหรับการล้างผักจำนวนน้อยให้ล้างด้วยน้ำไหล โดยแช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาทีวิธีที่ 2 แช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด และวิธีที่ 3 ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งจะช่วยลดสารพิษตกค้างในผักผลไม้ได้

3) ล.เลี่ยง เลี่ยงอาหารเสี่ยง การกินดื่ม กินอาหารอย่างหลากหลายในช่วงนี้ จะต้องคำนึงถึงความสะอาดปลอดภัยของอาหาร มีการปรุงประกอบอาหารให้ได้คุณค่าตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด กินอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และปรุงสุกใหม่ๆ ไม่กินอาหารสุกๆ ดิบๆ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ และ 

4) ล.ลด ลดระยะเวลาในการเก็บอาหาร ไม่วางอาหารทิ้งนานเกินไปโดยเฉพาะอาหารที่บูดเสียง่าย มีกะทิ ครีม ไม่ผ่านความร้อน อาหารที่ปรุงสุกแล้วไว้ ณ อุณหภูมิห้องเกินกว่า 2 ชั่วโมง และต้องนำไปอุ่นที่อุณหภูมิ 60 °C ขึ้นไป ก่อนนำมารับประทาน การเก็บอาหารที่ปรุงสุกแล้ว หรืออาหารที่มีความเสี่ยงที่จะเน่าเสียควรเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 °C หรือเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท แยกประเภทอาหาร สุกดิบไม่ปนกัน รวมไปถึงไม่เก็บอาหารไว้นานจนเกินไป ถึงแม้ว่าจะเก็บในตู้เย็นเพราะอาจจะทำให้คุณค่าทางอาหารเสียไป 

นพ.อรรถพล กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จากผลสำรวจอนามัยโพล พบว่า กิจกรรมที่ประชาชนทำในเทศกาลตรุษจีน อันดับแรก คือ การไปซื้อของไหว้ในวันจ่าย ที่ตลาดห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 37 เมื่อถึงวันไหว้ มีการจัดการของเซ่นไหว้ประเภทเนื้อสัตว์ หลังจากเสร็จพิธีไหว้เจ้า คือ อุ่นร้อนก่อนแล้วค่อยนำมาบริโภค ร้อยละ 58 แจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน ร้อยละ 21 และบริโภคทันทีโดยไม่ได้อุ่น ร้อยละ 7 ตามลำดับ ทั้งนี้ กรมอนามัยจึงขอให้ประชาชนใส่ใจความปลอดภัยด้านอาหารเป็นพิเศษ การเลือกซื้ออาหารของไหว้ที่สะอาด ปลอดภัยดีต่อสุขภาพ เลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยงต่างๆ การล้างผักผลไม้ที่ถูกวิธี และเก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับแต่ละประเภทจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนจะมีสุขภาพที่ดี ไม่เป็นโรคในช่วงเทศกาลตรุษจีน