"ด้วยเหตุที่เป็นเหรียญที่ได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็น 1 ใน 4 เหรียญรูปจำลองพระบรมธาตุของไทยที่มีความโดดเด่น และเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่อง"
เกริ่นถึง วัดพระปฐมเจดีย์ ที่ตั้งของ ‘องค์พระปฐมเจดีย์’ กันก่อน อันว่า วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร นับเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาแต่โบร่ำโบราณ ซึ่งชาวบ้านมักเรียกขานกันว่า "วัดใหญ่" มีตำนานการสร้างหรือนิทานพื้นบ้านที่เล่าขานสืบกันมาว่า ...
พระยาพาน บุตรพระยากงได้หลงมาทำสงครามชนช้างกับพระบิดา และฟันพระบิดาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง อีกทั้งยังเกือบยึดพระมเหสีของพระยากง ซึ่งก็คือพระมารดาของพระองค์มาเป็นภรรยา ภายหลังสืบทราบว่า พระยากงเป็นพระบิดาก็ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก จึงได้สั่งฆ่ายายหอมที่เลี้ยงดูมาด้วยความโกรธที่ปกปิดเรื่องราว จนพระองค์ต้องทำบาปฉกรรจ์ฆ่าพ่อของตนเอง.ด้วยความเกรงกลัวบาปกรรม จึงได้ตั้งธรรมศาลาที่ตำบลบ้านธรรมศาลา แล้วชุมนุมสงฆ์และนักปราชญ์เพื่อปรึกษาหารือถึงการล้างบาป ก็ได้รับคำแนะนำให้สร้างเจดีย์สูงเท่านกเขาเหินขึ้น พระยาพานจึงได้ก่อเจดีย์ขึ้นเป็นรูปทรงคล้ายกับลอมฟางสูงเท่านกเขาบินเหินขึ้น แล้วบรรจุ ‘พระทันตธาตุ’ คือ พระเขี้ยวแก้ว ไว้ด้วยพระองค์หนึ่ง เมื่อสร้างสำเร็จแล้วทำการฉลองเจ็ดวันเจ็ดคืน ...
ตามประวัติศาสตร์บันทึกความว่า …
พระปฐมเจดีย์ นี้ เดิมเรียกว่า พระธมเจดีย์ มีฐานะเป็น ‘มหาธาตุหลวง’ ของแผ่นดินสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยว่า พระธมเจดีย์องค์นี้ อาจเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อคราวที่พระสมณทูตในพระเจ้าอโศกมหาราช เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังสุวรรณภูมิ ก็เป็นได้ เพราะพระเจดีย์เดิม มีลักษณะทรงโอคว่ำ หรือทรงมะนาวผ่าซีก แบบเดียวกับพระสถูปสาญจี แต่ปรากฏว่ามียอดเป็นแบบปรางค์ ซึ่งพระองค์ฯ มีพระราชวินิจฉัยว่า อาจมีเจ้านายพระองค์ใดมาบูรณะไว้ก็เป็นได้ ซึ่งตรงกับความในศิลาจารึกหลักที่ 2 (ศิลาจารึกวัดศรีชุม) ของพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ อันได้กล่าวไว้ว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ท่านทรงได้แวะมาบูรณะพระธมเจดีย์องค์นี้ก่อนที่ท่านจะเดินทางกลับเมืองราด เมื่อคราวที่ท่านเสด็จกลับจากศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกา ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานนามใหม่ว่า พระปฐมเจดีย์ ด้วยทรงเชื่อว่านี่คือ ‘เจดีย์แห่งแรกของสุวรรณภูมิ’ ...
ทั้งตำนานเล่าขานหรือบันทึกประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงมูลเหตุแห่งการจัดสร้างองค์พระปฐมเจดีย์ กอรปกับพระบารมีแห่งพระบรมสารีกริกธาตุที่ประดิษฐาน ณ พระปฐมเจดีย์ ได้เคยแสดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏต่อพระพักตร์ รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ดังมีหลักฐานปรากฏในพระราชหัตถเลขา ทำให้นาม “พระปฐมเจดีย์” พระเจดีย์ใหญ่ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าในวัดพระปฐมเจดีย์ เป็นที่รู้จักและเคารพเลื่อมใสศรัทธาของของชาวนครปฐมและใกล้เคียง รวมทั้งพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
การจัดสร้าง “วัตถุมงคล” อันเกี่ยวเนื่องกับพระปฐมเจดีย์จึงมีมากมายมาโดยตลอด เพื่อจัดหาทุนทรัพย์ไว้บำรุงรักษาและบูรณะปฏิสังขรณ์ให้วัดพระปฐมเจดีย์ยังคงสภาพสมบูรณ์สืบไป แต่วัตถุมงคลที่จะต้องหยิบยกมากล่าวถึง คือ "เหรียญปั๊มพระปฐมเจดีย์ ปี 2465" ด้วยเหตุที่เป็นเหรียญที่ได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็น 1 ใน 4 เหรียญรูปจำลองพระบรมธาตุของไทยที่มีความโดดเด่นและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่อง
เหรียญปั๊มพระปฐมเจดีย์ ปี 2465 สร้างขึ้นโดย เจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) อดีตเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และเจ้าของ "โรงละครดึกดำบรรพ์" โรงละครชื่อดังในยุคนั้น ท่านเป็นบุตรของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสิงหนาทดุรงคฤทธิ์ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น 2 กรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร์ (พระองค์เจ้ากุญชร) ต้นสกุล ‘กุญชร ณ อยุธยา’ และหม่อมสุด ธิดาชุนพิพัฒน์ (ทอง) เนื่องในโอกาสทำบุญฉลองอายุครบ 70 ปี ในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2465 อันนับเป็นการบำเพ็ญกุศลครั้งยิ่งใหญ่ โดยนิมนต์พระสงฆ์ 200 รูป มารับบิณฑบาต ถวายภัตตาหารเพลพระสงฆ์ 10 รูป ต่อด้วยเทศน์อีก 1 กัณฑ์ เป็นเวลา 3 วัน และในการนี้ได้จัดสร้าง "พระพุทธรูป" สูง 2 ศอกคืบ 4 นิ้ว จำนวน 1 องค์, สูง 1 คืบ 6 นิ้ว ฐานกว้าง 11 นิ้ว อีก 18 องค์ เป็นแบบจำลองพระปฐมเจดีย์นครปฐม และสร้าง "เหรียญปั๊มพระปฐมเจดีย์" จำนวน 10,000 เหรียญ เพื่อแจกเป็นที่ระลึก เป็นแบบ ทองแดงเปียกเงิน ทองแดงเปียกทอง และเนื้อทองแดงธรรมดา
พิธีพุทธาภิเษกจัดอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2465 ซึ่งถึงแม้จะไม่ระบุนามพระเกจิที่ร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสก แต่ก็สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นซึ่งมีมากมาย อาทิ หลวงพ่อโชติ เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์สมัยนั้น, หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว, หลวงพ่อปาน วัดบางนามโค, หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน, หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ, หลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด, หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง, หลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม, หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง, หลวงพ่อชา วัดสามความเผือก และ หลวงพ่อทอง วัดละมุด เป็นต้น
หลังจากการทำบุญฉลองอายุครบ 70 ปี และจัดสร้าง เหรียญปั๊มพระปฐมเจดีย์ เพียงไม่นาน เจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์ ก็ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2466 เหรียญปั๊มพระปฐมเจดีย์ ปี 2466 นี้ ถือเป็นเหรียญรุ่นแรกแห่งองค์พระปฐมเจดีย์ ที่งดงามทั้งรูปแบบ ความทรงคุณค่าของเหรียญ เกียรติคุณของผู้สร้าง ปาฏิหาริย์แห่งองค์พระปฐมเจดีย์ และความเข้มขลังของพุทธคุณด้วยการปลุกเสกจากพระเกจิชื่อดังมากมาย สร้างให้เหรียญได้รับความนิยมสูงเป็นที่แสวงหากันอย่างกว้างขวาง ทำให้สนนราคาพุ่งขึ้นสูงลิ่ว ดังนั้น การเช่าหาต้องพิจารณาให้ดี เบื้องต้นให้ดูที่ด้านหน้าของเหรียญ ตรงยอดพระเจดีย์จะมีเส้นแฉกสี่แฉก หลายเส้นของเส้นด้านล่างและด้านบนจะโน้มเข้าหากัน จุดสังเกตอีกจุดคือ ด้านล่างช่วงซุ้มวิหารพระร่วงโรจนฤทธิ์ จะมีความลึกและคมชัดเจน ครับผม
โดย ราม วัชรประดิษฐ์