ป.ป.ช.แนะรัฐบาล 8 ข้อ ผุด "ดิจิทัลวอลเล็ต" ป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย เอื้อประโยชน์ฝ่ายการเมืองและคนบางกลุ่ม เตือนกู้เงินแจกอาจขัด รธน. ขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ด้าน "จุลพันธ์" ยันรัฐบาลฟังทุกเสียง เดินหน้าแจก 1 หมื่น ยึดกฎหมายเป็นหลัก เหน็บประเทศไทยมีแต่ "นักร้อง"

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ก.พ.67 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะส่งความเห็นของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ไม่ว่าความเห็นของ ป.ป.ช.จะมาทันหรือไม่ทัน เราก็เดินหน้าประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่ดี ต้องทำคู่ขนานกันไป เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าความคิดเห็นของคณะกรรมการชุดใหญ่จะมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับคณะอนุกรรมการ ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธาน นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เราคงไปพะวงตรงนั้นไม่ได้ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจชี้ถึงความจำเป็น ที่ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อถามอีกว่า หากความคิดเห็นของ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ออกมาเป็นลบ และรัฐบาลยังยืนยันที่จะเดินหน้าต่อ กังวลหรือไม่ว่าจะถูกร้องเรียนในภายหลัง นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเต็มไปด้วยนักร้อง ไม่ว่ากรณีใดก็คิดว่ามีคนประสงค์ดีให้เราอยู่แล้วหรือไม่ ตนยังไม่คิดถึงกรณีที่ยังไม่มีคนร้อง ต่อให้ทำ ถูกต้องสุจริตทุกประการ ก็ยังมีคนร้องได้ทุกเรื่องต้องรอดูให้เป็นไปตามขั้นตอน เมื่อถามว่า ในส่วนเอกสารที่หลุดมีการระบุว่ากู้เงิน 5 แสนล้านบาท แต่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ 0.6 เปอร์เซ็นต์ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียด

วันเดียวกัน ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นาย นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 ในการเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการในการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ในการยุติธรรม ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และอาจสร้างภาระการคลังในระยะยาว

ในการนี้ ป.ป.ช.จึงแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อศึกษารายละเอียด ผลกระทบ และความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการตามนโยบายดังกล่าว โดยได้มีการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง จากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวมถึงการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตจากส่วนราชการและหน่วยงาน ตลอดจน นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่ามีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณา จำนวน 4 ประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ 1.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต อาทิ ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ความเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการฯ

2.ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ กล่าวคือ การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็น ตลอดจนผลกระทบและภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤติ ควรมีการจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงการพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงอาจเป็นทางเลือกที่จะไม่ส่งผลกระทบทางการคลัง โดยเฉพาะดอกเบี้ยและสัดส่วนของหนี้สาธารณะได้มากกว่า

3.ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายกล่าวคือ การดำเนินโครงการภายใต้แนวนโยบายดังกล่าว รัฐบาลจะต้องตระหนักและใช้ความระมัดระวังอย่างเคร่งครัดและรอบคอบภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โปร่งใส ปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ 4. ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 15/2567 เมื่อวันที่ 5 ก.พ.67 พิจารณาแล้ว มีมติเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี ในการป้องกันมิให้เกิดการทุจริต หรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน โดยมีข้อเสนอแนะฯ จำนวน 8 ข้อ ดังนี้ 1.รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดำเนินโครงการตามนโยบายฯ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจน อย่างเป็นรูปธรรมว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการจะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการของรัฐบาลอย่างแท้จริง

2.การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 และพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.66 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้น มีความแตกต่างกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วย มิฉะนั้นจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้

3.การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มี วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส (Transparency) การถ่วงดุล (Checks and Balances) การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง (Fiscal Integrity) และความคล่องตัว (Flexibility) ซึ่งรัฐบาลพึงต้องใช้ความระมัดระวัง พิจารณาระหว่างผลดี ผลเสียที่จะต้องกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินจึงเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4 - 5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ

4.การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ 5.คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต อย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยง และการป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินโครงการ

6.ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการแจกเงิน เพียงครั้งเดียวโดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน

7.จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤติที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่าในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน การกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น ในกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤติ ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

8.หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ ตามพระราชบัญญัติเงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิตของกลุ่มประชาชนที่ยากจน โดยการกระจายจ่ายเงินเป็นงวด ๆ หลายงวดผ่านระบบแอปเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ และมีฐานข้อมูลครบสามารถทำได้รวดเร็ว การดำเนินการกรณีนี้ หากใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่จากการกู้เงินตามพระราช บัญญัติเงินกู้ จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 และขัดพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 ประการสำคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว