‘ธรรม Trip’ ที่นางเลิ้ง ทริปเดินเท้าหาแก่นธรรม สำรวจความฝันและแรงบันดาลใจของคนนางเลิ้ง 1 ในกิจกรรมโครงการผลิตสื่อธรรมะ “ทำอะไรก็ธรรม”

ภาพจำของ ‘ชุมชนนางเลิ้ง’ คือตลาดเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยของกินอร่อย และอาหารโบราณมากมาย แต่ใครจะรู้บ้างว่า ที่นี่มีปัญหาหลายอย่างซึ่งคนภายนอกอาจมองไม่เห็น ที่ผ่านมา ชาวนางเลิ้งต้องเผชิญกับการอยู่อาศัยที่แออัด การไล่รื้อ โดนความเป็นเมืองกลืนวัฒนธรรมชุมชน ปัญหาสุขอนามัย จนส่งผลต่อการดำรงชีวิต และทำให้วิถีดั้งเดิมค่อยๆ สูญหาย ทว่าโชคดีที่มีชาวชุมชนกลุ่มหนึ่ง ลุกขึ้นมาทำงานเพื่อฟื้นฟูบ้านเกิดที่พวกเขารักให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป

รายการ ‘ทำอะไรก็ธรรม’ สารคดีที่มุ่งสื่อสารธรรมะให้กับคนรุ่นใหม่ ผ่านการนำเสนอเรื่องราวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ ผลิตโดย มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ร่วมกับ บริษัท ภาคภูมิใจเสมอ จำกัด ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องถึงซีซันที่ 3 แล้ว จึงอยากเปิดเรื่องราวในซีซันนี้ด้วยตอน ‘ความฝันของนางเลิ้ง’ บอกเล่าความตั้งใจของ ‘แม่แดง-สุวัน แววพลอยงาม’ ผู้นำชุมชนที่ต่อสู้เพื่อย่านเก่านางเลิ้งมากว่า 10 ปี และกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ นามว่า ‘อีเลิ้ง’ ที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน  

นอกจากที่จะเตรียมนำเสนอสารคดีผ่านทาง ThaiPBS และช่องทางออนไลน์ ทีมงาน ‘ทำอะไรก็ธรรม’ ยังใช้โอกาสที่ชุมชนนางเลิ้งเข้าร่วมกับเทศกาล ‘งานออกแบบกรุงเทพฯ 2567’ หรือ ‘Bangkok Design Week 2024' จัดกิจกรรม ‘ธรรม Trip’ รับสมัครผู้สนใจ รวมทั้งพระสงฆ์ สื่อมวลชน และแขกรับเชิญตอนอื่นๆ กว่า 30 คน เพื่อลงพื้นที่ไปสัมผัสชุมชนนางเลิ้งในแง่มุมต่างๆ โดยมี ‘แม่แดง’ และ น้ำมนต์-นวรัตน์ แววพลอยงาม สองแขกรับเชิญในตอน ‘ความฝันของนางเลิ้ง’ รับอาสาเป็นเจ้าภาพพาชม

กิจกรรมเริ่มต้นจากการเยี่ยมชมวัดสระเกศ สถานที่ตั้งของภูเขาทอง ทริปนี้ได้รับโอกาสพิเศษให้เยี่ยมชมหอพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 1 อย่างใกล้ชิด ซึ่งปกติแล้วไม่ได้เข้าชมได้ง่ายๆ จากนั้นนมัสการพระอัฏฐารส พระพุทธรูปทองคำปางห้ามญาติ สูง 10 เมตร ที่มีพุทธลักษณะอันงดงาม อายุกว่า 700 ปี ตามมาด้วยการฟังตำนาน ‘แร้งวัดสระเกศ’ ที่เล่าถึงในช่วงรัชกาลที่ 2 เคยมีโรคระบาดทั่วกรุงทำให้คนตายหลายหมื่นในเวลาไม่กี่วัน จำนวนศพมีมากมายจนเผาไม่ไหว จึงนำมากองรวมที่วัดสระเกศ ซึ่งอยู่บริเวณประตูผี และปล่อยให้นกแร้งมารุมจัดการกินซากศพ 

เดินไม่กี่ก้าวจากวัดก็มาถึงชุมชนตรอกโรงผี ซึ่งคนที่นี่ตั้งบ้านเรือนบนพื้นที่เก็บศพในอดีต และมีอาชีพทำโลงศพรูปแบบต่างๆ ร้านโดดเด่นประจำชุมชนคือ โลงผีหมี่เกี๊ยว ที่หยิบจับเอาลูกเล่นเรื่องผีมาตกแต่งร้าน เช่น ขึ้นป้ายว่า นรกภูมิ ยินดีต้อนรับ และใช้กล่องใส่ตะเกียบกล่องใส่เครื่องปรุงเป็นรูปโลงศพ  เรียกว่ามาชุมชนนี้แล้วได้ทั้งความรู้ และมรณานุสติไปพร้อมกัน ปิดท้ายช่วงเช้าด้วยการแวะชุมชนบ้านบาตร ซึ่งยังคงรักษาเอกลักษณ์การตีบาตรด้วยมือแห่งท้ายๆ ในประเทศไทย ทุกขั้นตอนล้วนประณีตและมีการแบ่งงานกันทำในชุมชน นับเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่นับวันมีแต่จะเลือนหายไปตามเวลา

 แม่แดง

หลังรับประทานอาหารเที่ยงก็เข้าสู่ไฮไลต์ของ ธรรม Trip นั่นคือการเยี่ยมเยียนชุมชนนางเลิ้ง โดย  ได้เปิดบ้านของตนเองเป็นเหมือนศูนย์รวมของชุมชน คอยให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ มาหลายสิบปีแล้ว รวมถึงต่อสู้กับสิ่งคุกคามจากภายนอกด้วยแนวคิดพลิกฟื้นนางเลิ้งให้เป็นย่านวัฒนธรรมที่มีชีวิต เช่น ปรับเรือนไม้เก่าในชุมชนเป็น บ้านนางเลิ้ง แหล่งเรียนรู้ละครชาตรีที่เคยเฟื่องฟูในย่านนี้ เปลี่ยนพื้นที่ทิ้งขยะให้เป็น ‘สวนจักรพรรศดิ์’ สวนสาธารณะชุมชนที่ผู้คนเข้ามาพักผ่อนและใช้ประโยชน์ได้จริง

น้ำมนต์

ในฐานะลูกสาวของแม่แดง  ที่เติบโตขึ้นโดยเห็นการทำงานชุมชนมาตลอด จึงนำมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่ในนางเลิ้ง มาผนวกกับความสนใจด้านศิลปะของตนเอง โดยขับเคลื่อนร่วมกับเพื่อนศิลปินกลุ่ม อีเลิ้ง เกิดเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ อาทิ การทัวร์ชุมชน การจัดเวิร์คชอปแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม หวังให้ย่านเก่าแก่ยังคงมีลมหายใจยืนยาวต่อไป ก่อนจบกิจกรรม ผู้เข้าร่วมทริปทุกคนยังได้มีโอกาสรับชมกิจกรรมดูหนังหาแก่นธรรมตอนพิเศษ “ ความฝันของนางเลิ้ง” และล้อมวงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหาแก่นธรรมพร้อมจากการมาเดินชุมชนในครั้งนี้

ภาคภูมิ ประทุมเจริญ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า นอกจากเป้าหมายในการผลิตสื่อธรรมเพื่อสื่อสารกับคนรุ่นใหม่แล้ว กิจกรรม “ธรรม Trip” ในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมและแขกรับเชิญได้มีโอกาสพบปะกัน นอกจากส่งต่อแรงบันดาลใจ ยังนับเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายกันและกันอีกด้วย

ทำอะไรก็ธรรมตอน ‘ความฝันของนางเลิ้ง’ และการขับเคลื่อนของชุมชนนางเลิ้ง นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึง การใช้ธรรมะในการแก้ปัญหาและสร้างความสุขให้กับชุมชน ดังคำกล่าวของ พระไพศาล วิสาโล ที่ปรึกษารายการที่เคยสรุปไว้ว่า ‘ทำอะไรก็ตาม ถ้าเราเอาธรรมะใส่ลงไป มันก็เป็นธรรม’