กกร.ชี้ ศก.ไทยฟื้นตัวแต่อ่อนแอจากภาคผลิตหดตัว คงจีดีพีปี 67 โต 2.8-3.3% จับตาเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการเป็นตัวแทนประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยว่า กกร.ยังคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 เมื่อเทียบกับปี 2566 คงเดิมที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) จะเติบโต 2.8-3.3% (ยังไม่รวมผลของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต) ส่งออกโต 2-3.3% ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 0.7-2%

สำหรับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้แต่ยังอ่อนแอ แม้ภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจ แต่ภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่อง ทำให้การฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบต่อเนื่องเป็นสัญญาณความอ่อนแอของเศรษฐกิจในประเทศ ถือเป็นสัญญาณที่ควรติดตาม นอกจากนี้ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่สินค้าไทยหลายรายการเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาด แม้ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะเติบโตได้ราว 3% แต่ก็ดีกว่าประมาณการเดิมเล็กน้อย ขณะที่ส่งออกไทยยังคงมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีปัจจัยติดตามทั้งการเลือกตั้งหลายประเทศ สงครามที่เสี่ยงจะขยายวง ความไม่สงบเพื่อนบ้าน

โดย กกร.มีความกังวลกับปัญหาสินค้าราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทย และในตลาดอาเซียน ทั้งจากสินค้าออนไลน์ (E-commerce) และการเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone รวมถึงการลักลอบผ่านด่านศุลกากรโดยสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ทำให้สินค้าราคาถูกรวมถึงสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานเข้ามาในประเทศกระทบต่อยอดขายโดยเฉพาะ SMEs ดังนั้น กกร. จึงขอให้รัฐเร่งทบทวนยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับผู้ประกอบการไทย มีการทบทวนนโยบายและเงื่อนไขในการใช้สิทธิประโยชน์ใน Free Trade Zone รวมทั้ง การออกมาตรการปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ เช่น การนำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนตลาด (Anti-Circumvention: AC) มาบังคับใช้ เป็นต้น

ทั้งนี้ กกร.ยังมองในเรื่องของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่สร้างมูลค่าเพิ่ม 2.6% ของ GDP และจ้างงานมากกว่า 2 ล้านคนที่ขณะนี้การจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างภาครัฐทำให้เอกชนไทยไม่สามารถแข่งขันได้เต็มศักยภาพ การคัดเลือกยังเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน การเบิกจ่ายเงินมีความล่าช้า จึงเห็นว่ารัฐควร ปรับแนวคิดในกฏหมาย จากการเน้นประโยชน์หน่วยงานของรัฐ ไปสู่ประโยชน์สาธารณะ ปรับการคำนวณราคาให้สะท้อนต้นทุนจริง แก้ไขกฏหมาย และ แก้แบบสัญญา และรวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างรัฐ การใช้ Local Content ภายในประเทศ หรือวัสดุที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Made in Thailand และเครื่องหมายรับรอง Green Product โดยจะมีการรวบรวมรายละเอียดและนำเสนอรัฐบาลให้พิจารณาต่อไป

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากเป้าหมายของภาครัฐ ที่ต้องการให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศในปี 2567 ที่จำนวน 35 ล้านคน ซึ่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศกว่า 3 ล้านคน สร้างเม็ดเงินกว่า 1.7 แสนล้านบาท ทำให้เกิดแรงหนุนทางเศรษฐกิจผ่านการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตาม กกร. มีความกังวลต่อความหนาแน่นของจำนวนนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวบางพื้นที่ เช่น ภูเก็ต จึงขอเสนอให้ภาครัฐช่วยจัดระเบียบ ช่วยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้เกิดการท่องเที่ยวตามเมืองรองต่างๆ เพื่อลดความหนาแน่นและช่วยกระจายรายได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งควรกระตุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เกิดการใช้จ่ายต่อหัวให้มากขึ้น

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กกร.สนับสนุนการดำเนินมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะเล็งเห็นว่าเป็นแนวทางที่สามารถช่วยแก้หนี้ให้กับประชาชนได้จริง แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และยั่งยืน ซึ่งจะได้มีความต่อเนื่องในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 โดยภายใต้แนวทางมาตรการ Responsible Lending จะช่วยเหลือลูกหนี้ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้เสีย ระหว่างเป็นหนี้เสีย มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง และรายได้ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีพ โดยขอให้ ธปท. ติดตามประเมินผลกระทบของมาตรการต่อการเข้าถึงสินเชื่อด้วย เนื่องจากบางส่วนมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพและการประกอบอาชีพ