ปลัดมหาดไทย เผยยอดลงทะเบียนวันที่ 68 มีมูลหนี้นอกระบบรวมกว่า 9,633 ล้านบาท 1.39 แสนราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 11,624 ราย มูลหนี้ลดลง 642 ล้านบาท เน้นย้ำ ทุกจังหวัดเร่งดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่องและเป็นธรรม พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเปิดรับลงทะเบียน ถึง 29 ก.พ. 67 นี้

วันนี้ (6 ก.พ. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบวันที่ 67 โดยเมื่อเวลา 15.00 น. สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ได้รายงานผลการลงทะเบียน พบว่า มีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 139,332 ราย มูลหนี้รวม 9,633.903 ล้านบาท เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 117,366 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 21,966 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 108,078 ราย มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้ 1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 11,100 ราย เจ้าหนี้ 7,822 ราย มูลหนี้ 844.751 ล้านบาท 2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 5,658 ราย เจ้าหนี้ 5,208 ราย มูลหนี้ 383.850 ล้านบาท 3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 5,152 ราย เจ้าหนี้ 4,096 ราย มูลหนี้ 337.784 ล้านบาท 4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,869 ราย เจ้าหนี้ 3,801 ราย มูลหนี้ 409.183 ล้านบาท 5. จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน 3,662 ราย เจ้าหนี้ 2,548 ราย มูลหนี้ 316.065 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 225 ราย เจ้าหนี้ 233 ราย มูลหนี้ 14.069 ล้านบาท 2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 321 ราย เจ้าหนี้ 236 ราย มูลหนี้ 21.979 ล้านบาท 3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 367 ราย เจ้าหนี้ 288 ราย มูลหนี้ 13.301 ล้านบาท 4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 445 ราย เจ้าหนี้ 330 ราย มูลหนี้ 20.118 ล้านบาท และ 5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 466 ราย เจ้าหนี้ 349 ราย มูลหนี้ 24.170 ล้านบาท

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้กล่าวถึงข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศซึ่งพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 19,389 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 11,624 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย 1,813.733 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 1,171.479 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 642.253 ล้านบาท และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,172 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 316 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 258.625 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 30.914 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 227.711 ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่ได้ส่งสำนวนแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ดำเนินคดีไปแล้ว 258 คดี ใน 33 จังหวัด

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ ฝ่ายปกครองจะได้เชิญทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยประนีประนอม แต่หากการไกล่เกลี่ยไม่เป็นผล ก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าไปแก้ปัญหา นอกจากนี้ กลไกกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ได้บูรณาการร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และธนาคารของรัฐในพื้นที่ เข้าร่วมให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ได้อย่างครบวงจร พร้อมทั้งจัดหาแหล่งทุน แหล่งงาน แหล่งอาชีพ เพื่ออำนวยความสะดวกในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างเป็นรูปธรรม

"ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้ใช้กลไกระดับพื้นที่ทำการประชาสัมพันธ์ในเรื่องการลงทะเบียนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้เข้ามาลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐอย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งให้ทุกพื้นที่ดำเนินกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินทันทีที่ได้รับการลงทะเบียน เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนไว้ได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้รวดเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำทุกอำเภอได้ดำเนินการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” อย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง หนุนเสริมเพิ่มเติมจากตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัดที่มีการจัดเดือนละ 1 ครั้ง โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน เพื่อนำเข้าสู่หนี้ในระบบควบคู่กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขณะนี้ยังเหลือเวลาอีก 23 วันที่พี่น้องประชาชนยังคงสามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเราจะรับลงทะเบียนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ ทั้งการเดินทางไปขอคำปรึกษาและลงทะเบียน ณ ที่ตั้ง คือ ที่ศาลากลางจังหวัด (ห้องศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด) ที่ว่าการอำเภอ (ห้องศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ) สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนถึงพื้นที่การจัดมหกรรมตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัด และตลาดนัดแก้หนี้อำเภอ หรือสามารถลงทะเบียนทางระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th ทั้งนี้ หากต้องการขอรับคำปรึกษาหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถโทรสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง