ปตท.สผ.พร้อมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หวังไทย-กัมพูชา เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลลงตัว 

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ (7 ก.พ.67) พล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเดินทางมาไทย เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง หนึ่งในประเด็นหารือคือ พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas –OCA) โดยเรื่องนี้เจรจากันมา 7 รัฐบาล รวมเป็นระยะเวลากว่า 22 ปี ยังไม่จบ นับตั้งแต่ที่มีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันที่ลงนามกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 โดยพื้นที่ทับซ้อนมีเนื้อที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ประเด็นที่ต้องมีการเจรจา 2 พื้นที่ด้วยกัน ได้แก่ 1.พื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ต้องหาข้อสรุปเขตแดนทางทะเล 10,000 ตารางกิโลเมตร ให้ชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ 2.พื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีเป้าหมายทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน (Joint Development Area : JDA) ในลักษณะที่คล้ายกับที่ไทยทำ JDA ร่วมกับมาเลเซีย

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.เปิดเผยว่า การเจรจา OCA รอบใหม่เป็นเรื่องที่ดี เพื่อพัฒนาและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องหาวิธีตกลงกันให้ได้ โดยไม่ต้องแบ่งเส้นเขตแดน แต่หวังว่าจะมีการพัฒนาร่วมกัน หากตกลงกันได้ก็ขึ้นกับภาครัฐว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศทั้งด้านนำปิโตรเลียมมาผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

“ปตท.สผ. พร้อมดำเนินการสำรวจและผลิต เนื่องจากมีแหล่งผลิตที่อยู่ใกล้พื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้วคือ แหล่งเอราวัณ แหล่งบงกช แต่ทั้งนี้พื้นที่ทับซ้อนฯ ยังไม่มีการสำรวจ ที่ผ่านมาเป็นการคาดเดา ว่าจะมีศักยภาพ เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับแหล่งเอราวัณ แหล่งบงกช หากตกลงกันได้และเปิดให้สำรวจ หลังจากนั้นคาดว่าจะมี First GAS ได้ภายใน 5 ปี จากเดิมต้องใช้เวลานานถึง 9 ปี เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนามากขึ้นจึงสามารถดำเนินการสำรวจและผลิตได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับทั้ง 2 ประเทศ” นายมนตรีกล่าว

ส่วนโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ปัจจุบันมีกำลังผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 450 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะเร่งผลิตเพิ่มเป็น 550 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนมีนาคมนี้ และจะเร่งเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ให้ได้ภายในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม

ขณะที่แปลง G2/61 (แหล่งบงกช) ปัจจุบันนี้มีกำลังผลิตอยู่ที่ 840 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สูงกว่าปริมาณ ที่จะต้องส่งมอบตามสัญญาให้แก่ผู้ซื้อในแต่ละวัน (DCQ) ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนแหล่งอาทิตย์ยังรักษาการผลิตอยู่ที่ 340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สูงกว่าสัญญา DCQ ที่ 290 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่ง ปตท.สผ.อยู่ระหว่างเจรจากับ ปตท. และรัฐเพื่อขอปรับเพิ่มปริมาณซื้อขายเป็น 340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ และยังจะช่วยให้ราคา Pool GAS ถูกลงด้วย

โดยสิ่งที่ยังเป็นห่วงคือแหล่งผลิตปิโตรเลียมไพลินที่บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทานลงในปี พ.ศ.2571 (ค.ศ.2028) หากยังไม่ชัดเจนเรื่องไม่ได้ขยายอายุสัมปานออกไปอีก 10 ปี ถึงปี พ.ศ.2581 (ค.ศ.2038) หรือมีความล่าช้าในการพิจาณาก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตก๊าซฯที่จะลดลงจากปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็อาจจะเกิดปัญหาซ้ำรอยแหล่งเอราวัณ ที่เข้าพื้นที่ผลิตล่าช้าและทำให้ก๊าซฯขาดแคลน กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้า

ส่วนความคืบหน้าโครงการ CCS Hub ทางตอนเหนือของอ่าวไทย เป็นพื้นที่เปิดไม่ได้เป็นพื้นที่ผลิตปิโตรเลียม นับเป็นความร่วมมือระดับประเทศของหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ Japan Organization for Metals and Energy Security (JOGMEC) ประเทศญี่ปุ่น และ ปตท.สผ.เพื่อช่วยสนับสนุนการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) นั้น เบื้องต้นพบว่ามีโครงสร้างทางธรณีวิทยา ที่น่าจะสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเป็น CO2 ได้ โดยกรมเชื้อเพลิงก็ได้ร่วมกับหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่น และมอบหมายให้ ปตท.สผ. และบริษัทจากทางญี่ปุ่นร่วมศึกษา และวางแผนสำรวจว่าพื้นที่ดังกล่าวมีโครงสร้างชั้นหินใต้ทะเลเหมาะสมสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้หรือไม่ ส่วนโครงการนำร่อง ที่จะเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเก็บในหลุมขุดเจาะเก่าของแหล่งอาทิตย์ ปริมาณ 1ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ก็ยังติดปัญหาเรื่องภาระผูกพันและเรื่องของผลตอบแทนที่ทาง ปตท.สผ.จะได้รับ โดยทั้ง 2 เรื่องนี้ภาครัฐต้องเร่งสร้างความชัดเจนในหลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมการลงทุนต่อไป

 

#ปตทสผ #กัมพูชา #พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล