เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 6 ก.พ. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ถึงการเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตว่า ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ ประชาชนขาดความมั่นใจในการใช้จ่าย เอกชนไม่กล้าลงทุน ถึงแม้รัฐบาลจะประสบความสำเน็จในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ แต่กว่าจะมีผลในเรื่องเม็ดเงินลงทุนต้องใช้เวลา ขณะที่ภาคการบริโภคก็ชะลอตัวอย่างเห็ได้ชัด อัตราเงินเฟ้อติดลบ 4 เดือนต่อเนื่อง สาเหตุอาจจะอ้างว่าเป็นผลมาจากการลดราคาพลังงาน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ขึ้นสูง 2.5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบพอสมควร

 

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า สถานการณ์ประเทศไทยในขณะนี้เหมือนปลาในบ่อ ประชาชนคือปลา พอน้ำในบ่อน้อย ปลาก็ดิ้นก็อยู่ไม่ได้ เพราะน้ำไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญที่เรามองคือการเติมน้ำลงไปในบ่อให้เพียงพอกับจำนวนปลาและขนาดของบ่อ ซึ่งต้องการเม็ดเงินใหม่คือการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลมองว่ากลไกที่จะสร้างเม็ดเงินใหม่ คือการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน แต่เมื่อมีข้อทวงติง หากต้องรอความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เคยมีเอกสารหลุดออกมาจะโดยจงใจหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่เมื่อเราเห็นแล้วก็ต้องรับฟังและรอ แต่เมื่อรอมาถึงขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจน ได้ทราบแต่ข่าวว่า จะเอาความเห็นของอนุกรรมการ ป.ป.ช.  เข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่สัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ ป.ป.ช.จะส่งมา คือความเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงใยไม่สามารถจะมากำหนดทิศทางนโยบายของรัฐบาลได้ สิ่งที่จะทำคือทำคู่ขนานไปเลย

 

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตนได้หารือกับนายกฯ ซึ่งเห็นตรงกันว่าควรจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตภายในต้นสัปดาห์หน้า ส่ิงที่เราจะนำเข้าหารือมี 2-3 ประเด็น ข้อห่วงใยเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น เรายืนยันว่ายังไม่มีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น เรายังไม่ได้เดินหน้าโครงการอย่างเป็นทางการจึงไม่มีเหตุใดๆ ที่จะบอกว่ามีเหตุการณ์เช่น การทุจริต คอรัปชั่น แต่เมื่อมีข้อห่วงใยจะมีการตั้งอนุกรรมการติดตามการใช้เงินอย่างผิดประเภท มอบหมายให้วางแผนกำหนดกฎเกณฑ์ รวมถึงรูปแบบในการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่ากลไกของดิจิทัลวอลเล็ตจะไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น จะไม่มีการใช้เงินผิดประเภท จะไม่มีการนำไปแลกซื้อหรือส่วนลดอะไรต่างๆ ตามที่เป็นห่วงกัน

 

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ข้อห่วงใยในสถานการณ์เศรษฐกิจถึงรูปแบบการกระตุ้นจะเกิดผลมากน้อยเพียงใด โดยโมเดลเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน ไม่มีโมเดลไหนที่จะชี้ชัดได้ถึงขั้นที่ว่ารูปแบบโครงการที่เรามี สุดท้ายจะมีผลกระตุ้นทางเศรษฐกิจได้ในระดับใดก็แค่การคาดเดา สิ่งที่เราอยากให้เกิดความชัดเจนขึ้นคือความต้องการของประชาชน เอกชน และความคิดเห็นของส่วนงานอื่นๆ เราจะตั้งอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆให้เป็นที่ประจักษ์ แม้ที่ผ่านมาเราจะได้รับฟังเสียงจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคส่วนของธนาคารที่เป็นประโยชน์ในการเดินหน้าโครงการนี้และอยากเข้ามามีส่วนร่วม เราต้องการจะสร้างแอปพลิเคชั่นมารองรับ มีระบบแลกเปลี่ยนกลางของภาครัฐ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับภาคเอกชน ทั้งธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งจะมีการมอบหมายให้ไปหารือกับธนาคารพาณิชย์​ต่าง ๆ เพื่อสร้างการเชื่อมต่อกับดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อให้ใช้งานได้อย่างครอบคลุม เป็นประโยชน์กับประชาชนและจะเชื่อมโยงการชำระเงินของประเทศให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ตรงนี้ก็เป็นแนวทางที่จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลชุดใหญ่ในสัปดาห์หน้า

 

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ส่วนความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เราก็ต้องให้คำตอบถึงข้อห่วงใยดังกล่าวรวมถึงข้อเสนอแนะที่ยังมาไม่ถึงของ ป.ป.ช. เราก็ทำงานคู่ขนานแต่ถ้าความเห็นออกมาเมื่อไหร่ก็อาจจะจำเป็นต้องประชุม เพื่อตอบคำถามและข้อห่วงใย

 

เมื่อถามว่า โครงการดังกล่าวจะมีการขยับไทมไลน์หรือไม่ นายจุลพันธ์ หัวเราะก่อนจะกล่าวว่า ขยับไปแล้ว จากเดิมพ.ค.นี้ แต่ถามว่าจะมีไทม์ไลน์ใหม่ให้หรือยัง สถานการณ์เศรษฐกิจที่หนักหน่วงในขณะนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งทำ แม้จะมีอุปสรรคข้อติดขัดใด เราจะเดินหน้าให้เร็วที่สุด

 

เมื่อถามว่า เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน นายจุลพันธ์ กล่าวว่า พ.ร.ก. เป็นหนึ่งในเครื่องมือของรัฐบาลตลอดเวลา เรามีกลไกในการเดินหน้ามากกว่า 1 ตัวเลือกอยู่ตลอดเวลา ถามว่า พ.ร.ก. เราจะใช้หรือไม่ยังไม่ได้คิด และยังไม่ได้หารือ แต่หากสถานการณ์ไปถึงจุดที่มีความจำเป็นก็ต้องอาจจะต้องปรึกษษหารือกัน พ.ร.ก. จะเป็นตัวเลือก ซึ่งเรายังไม่ได้เลือกใช้หรือคิด แต่มีอยู่เสมอ และยืนยันจะไม่มีการลดวงเงินในการดำเนินโครงการ

 

เมื่อถามว่า หาก ป.ป.ช. ยังไม่ส่งความเห็นจะกระทบกับไทม์ไลน์หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า "ไม่ครับ เราจะเดินหน้าแล้ว จะมีการพูดคุยกันสัปดาห์หน้า และเดินหน้าพัฒนาแอปพลิเคชั่น และเตรียมกลไกลต่างๆ ที่มีความจำเป็นให้พร้อมที่เดินหน้าเลย"

 

เมื่อถามว่า ในไตรมาส 3 ปีนี้จะได้เห็นการใช้เงินผ่านโครงการดังกล่าวหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า "อย่าเพิ่งให้คำตอบดีกว่าครับ แต่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินยกร่างไว้แล้ว และข้อเสนอเดิมที่จะให้มีการใช้แอปเป๋าตัง ก็ยังเป็นไปตามนั้น จะได้ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ต้องไปพูดคุยให้มีการเชื่อมต่อ ซึ่งไม่ใช่การทำแอปขึ้นมาใหม่   

 

เมื่อถามว่า กรอบการทำงานของคณะอนุกรรมการ ได้มีการกำหนดเวลาหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เราจะตั้งอนุกรรมการในสัปดาห์หน้า ซึ่งคณะอนุกรรมการติดตามการใช้เงินอย่างผิดประเภท จะไม่มีกรอบระยะเวลา เพราะต้องอยู่ยาวจนเสร็จภารกิจ ส่วนอนุรับฟังความเห็น จะมีการกำหนดระยะ ซึ่งกำหนดไม่ยาวมากนักประมาณ 2-3 สัปดาห์ต้องจบ

 

เมื่อถามว่า การประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ต้องได้ข้อสรุปก่อนเสนอ ครม.เมื่อไหร่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า หวังใจไว้ว่าระยะ 2 เดือนข้างหน้า น่าจะต้องเรียบร้อยพอสมควร ตรงนี้เป็นการกะประมาณ