วันที่ 6 ก.พ.2567 เมื่อเวลา 09.34 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ส่วนหนึ่งสาเหตุมาจากนโยบายของรัฐบาลใช่หรือไม่ ว่า เมื่อวาน(5 ก.พ.)กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่ตนอยากทำความเข้าใจว่ามาตรการที่รัฐบาลออกมาเป็นมาตรการในการควบคุมดูแลไม่ให้ร้านค้า หรือผู้ประกอบการไม่ให้เอากำไรมากเกินไป เพื่อให้หาจุดสมดุลร่วมกันได้ ซึ่งเหตุที่ทำประชาชนประสบวิกฤติภาวะเดือดร้อนมีปัญหาเรื่องค่าครองชีพ ก็เป็นเรื่องที่ทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ร่วมกัน โดยมีกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ทั้งหมดเกิดขึ้น เพราะเราทำงานเราดูแลประชาชนเป็นหลัก ขณะเดียวกัน เราทำงานในการเสริมให้ราคาสินค้าถูกควบคุมดูแล และสนับสนุนให้ผู้ผลิตต่างๆมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าเรามีการจัดการสินค้าเกษตรหลายรายการ โดยในวันที่ 8 ก.พ.นี้ เราจะมีการแถลงชี้แจงให้มีความชัดเจน ทั้งเรื่องยางพารา ข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพด ที่มีการขึ้นราคา จะเห็นว่าเราจะใช้มาตรการเพื่อให้มีความสมดุลในหลายฝ่าย เพื่อดูแลทั้งผู้ประกอบการ และเอกชน 

นายภูมิธรรม กล่าวว่า การที่บอกว่าการดำเนินการมาตรการของรัฐทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ตนว่าต้องมาทบทวนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โดยการดำเนินการของรัฐในการเข้าไปดูแล ถ้าเกิดปัญหาจากเราจะเกิดไม่นาน และไม่ต่อเนื่อง แต่การเกิดปัญหาต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่ามันมีปัญหาที่ดำรงอยู่ ตนคิดว่าในทางปฏิบัติรัฐบาลใช้มาตรการการคลังเกือบทุกเรื่อง และทุกกระทรวงได้ดำเนินการแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มันคือปัญหามาตรการทางการเงิน หากจะให้ปัญหาได้รับการแก้ไขเป็นอย่างดี ในประเทศอื่นมาตรการการเงินการคลังต้องควบคู่กัน จึงต้องถามว่าผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลมาตรการทางการเงิน ได้ดำเนินการอะไรบ้าง มีการลดดอกเบี้ยหรือไม่ 

"ผมว่าตอนนี้ภาระหน้าที่อยู่ที่แบงค์ชาติ และผู้ที่รับผิดชอบดูแลมาตรการทางการเงิน ซึ่งมันจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆได้ มันต้องทำทั้งสองเรื่องควบคู่กันถึงจะแก้ปัญหาต่างๆได้ ถ้าดูเรื่องเดียว ดูไม่หมด จะต้องดูทั้งสองเรื่อง เป็นสองขาประกอบกัน มันถึงจะแก้ปัญหาได้ กระทรวงพาณิช์ เพียงสะท้อนตัวเลข แต่การวิเคราะห์ตัวเลขต้องมาพูดคุยกัน " นายภูมิธรรม กล่าว

เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า อาจจะเป็นขั้นตอนต่อไป ถ้า ธปท.รู้สึกว่ามันมีประเด็นที่เราควรหารือกัน เรายินดีคุยได้อยู่แล้ว แต่ความคิดเห็นของเราในตอนนี้ กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ปฏิบัติการ เรารู้ว่าถ้าไม่มีมาตรการการเงินช่วย ทุกเรื่อง เช่นราคาสินค้า กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการลำบาก หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างธปท.ควรตระหนักในเรื่องนี้

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขณะนี้วิกฤติการณ์ไม่ใช่วิธีการทั่วไปธรรมดา แต่มีวิกฤติการการเงินเข้ามาแทรก เพราะเรื่องมาตรการการเงิน เราเห็นหน่อที่จะเกิด และเห็นแนวที่จะมีปัญหา ฉะนั้นตรงนี้ธปท.ต้องดูให้ละเอียด อย่าดูหรือเพ่งเล็ง เอาใจใส่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องดูทั้งระบบถึงจะช่วยแก้ปัญหาได้ วันนี้จะแก้ไขวิกฤติการณ์ของประเทศได้ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ถ้าฝ่ายหนึ่งจะทำ แต่อีกฝ่ายจะยืนค้านอยู่ ตนว่ามันไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมที่จะเกิดขึ้น และถ้ามันเป็นปัญหาอย่างที่เรากังวล และคาดหวังไว้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นมันคือความล้มเหลวในวิกฤติที่จะเกิดขึ้น ถ้าดูก็จะเหมือนปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 วิกฤติการณ์ตอนนั้นธปท.ไม่เห็นอะไรเลย ทั้งที่ถ้าท่านดูรายละอียดท่านก็จะเห็น ซึ่งอันนี้ก็เหมือนกัน มีนักเศรษฐศาสตร์มองว่าถ้ารัฐบาลไม่ขยับทำอะไรที่แข็งแรง และมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ วิกฤติต่างๆจะเกิดขึ้น 

"ซึ่งวันนี้รัฐบาลมองว่า หนึ่งคือดิจิทัลวอลเล็ต เป็นประเด็นสำคัญที่จะกระตุ้นกำลังซื้อทั้งหมดให้เกิดขึ้น และอีกหลายมาตรการของเรา ที่รออยู่  แต่หากมาตรการหลักไม่ขยับมันทำให้อีกหลายเรื่องเราทำไม่ได้ วันนี้รัฐบาลมาบริหารประเทศเกือบ 5 เดือนแล้ว อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีเงินดำเนินการ ไม่มีเงินลงทุน เพราะงบประมาณปี 67จะสามารถใช้ได้ในเดือนพฤษภาคม แต่สิ่งที่เราไม่ไดนิ่งนอนใจ คือเราทำงานเต็มที่

อยากวิงวอนขอร้องผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้ดูทั้งระบบ อย่าให้เป็นเรื่องติดใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะการมองแยกส่วน ไม่มองทั้งระบบมันก่อให้เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 มาแล้ว วันนี้อยากฝากสิ่งที่สำคัญ ต้องไปถามผู้ดูแลการเงินของประเทศ ว่าคิดอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนี้ เห็นด้วยหรือมีปัญหามั้ย ถ้าคิดว่าไม่มีปัญหา เราก็ต้องดูอนาคตว่าใครประเมินได้ถูกทาง เพราะถ้าหากเกิดวิกฤติการเงินอย่างที่รัฐบาลบอก ผู้บริหารการเงินทั้งหลายทีไม่อะเลิร์ท และไม่สามารถเข้ามาดูแล และยังไม่จัดการจะต้องรับผิดชอบ" นายภูมิธรรม กล่าว