"อนุทิน" โต้กระแสเขย่าเก้าอี้รมต. ตอกย้ำ "ปรับครม." ให้ฟังนายกฯ ยัน "ภท." ไม่เปลี่ยนตัวรมต. ดิเรกฤทธิ์ โวยรัฐบาลให้สว.ซักฟอกเดือนมี.ค. หวั่นยื้อจนปิดสมัยประชุม ภูมิธรรมบอกแค่วาทกรรมยิ่งยุบยิ่งโต ย้ำจุดยืนเพื่อไทย ไม่แตะต้อง ม.112 ด้าน "ก้าวไกล" ชี้นิรโทษกรรมควรรวมความผิด ม.112 ยันพูดนอกสภาฯ แค่อธิบายไม่ใช่ล้มล้าง
ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ หลักสี่ เมื่อวันที่ 5 ก.พ.67 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยเฉพาะเขย่าเก้าอี้รมต.มหาดไทย ที่เริ่มมีข่าวออกมาอีกครั้ง โดย นายอนุทิน ย้อนถามกลับว่า เขย่าให้แน่นขึ้นหรือ บางทีของบางอย่างไม่เข้าที่เข้าทาง ก็ต้องเขย่าให้แน่นขึ้น ตนคิดว่าฟังนายกรัฐมนตรีก็ชัดเจนแล้ว ในวันรับประทานอาหารค่ำพรรคร่วมรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันชัดเจนว่าไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี และการปรับคณะรัฐมนตรีขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีคนเดียวก็ชัดเจนไม่ต้องไปแปลงคำอื่นแล้ว
แน่นอนว่าทุกอย่างเวลาเราจัดอะไรไว้ เวลาล่วงเลยไประยะหนึ่งก็ต้องเขย่าให้เข้าที่ แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเปลี่ยนเอาของเก่าออก เอาของใหม่เข้ามาแทน ซึ่งนี่ ผมเพียงแต่พูดตามที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ไว้ คนทำงานจะได้สบายใจ ทำงานไปไม่ต้องกังวล นายอนุทิน กล่าว เมื่อถามว่า จะไม่มีการสลับกระทรวงกันใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ภูมิใจไทยไม่มี
ที่รัฐสภา นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข่าวว่ารัฐบาลให้สว.อภิปรายในญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 153 ในวันที่ 18 มี.ค. ว่า เรื่องนี้เป็นการใช้สิทธิของวุฒิสภาเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไป ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและประชาชน และเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐบาลจะปฏิเสธการทำหน้าที่ของสว.ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะการทำหน้าที่ฝ่ายบริหารจะทำตามนโยบายและไปต่างประเทศสำคัญกว่าไม่น่าจะถูกต้อง เป็นการละเลยต่อหน้าที่ เพราะทั้ง 7 ประเด็นนานวันเข้าข้อเรียกร้องของประชาชน และข้อสงสัยถ้าปล่อยให้มีการดำเนินการในบางเรื่องอาจจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างแก้ไขไม่ได้
การที่วุฒิสภาเห็นว่ามีเรื่องที่สำคัญเพียงพอที่จะเปิดอภิปรายนี่คือมีความสุกงอมมากพอ และจำเป็นจะต้องให้เท่าทันกับช่วงเวลาที่จะเกิดปัญหา ซึ่งสว.ทำตามเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ดังนั้นการที่รัฐบาลจะให้อภิปรายในเดือนมี.ค.หรือจะไปเดือนเม.ย.หรือปล่อยให้หมดวาระการดำรงตำแหน่งของสว.แล้วไม่ต้องอภิปรายเลย ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ควรกระทำ ถือเป็นการละเลยการทำหน้าที่ที่ของรัฐบาลนายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าเป็นการดึงเวลาเพื่อให้สถานการณ์ต่างแผ่วลงไปหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า เป็นเหตุผลที่ประชาชนคลางแคลงสงสัยเหมือนกัน ฉะนั้นการดึงเวลาไว้ไม่มีประโยชน์อะไรกับรัฐบาลเลย มีแต่เสีย รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับระบบรัฐสภา และตัวแทนของพี่น้องประชาชน ฉะนั้นเมื่อวุฒิสภาทำหน้าที่เหล่านี้ และมาแถลงข้อเท็จจริงปัญหาและข้อจำกัด เพื่อหาวิธีการจัดการกับเรื่องวิธีการที่รัฐบาลขับเคลื่อนเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชน
เมื่อถามว่า กรอบเวลาการอภิปรายที่รัฐบาลแจ้งมากี่วัน นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า วุฒิสภาทำเป็นหนังสือขอไป 2 วัน คือวันจันทร์และวันอังคารในเดือนก.พ. ดังนั้นรัฐบาลต้องยินยอมพร้อมใจหาวันให้เรา เพื่อบรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่รัฐบาลละเลยและเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยไปหน่อย น่าตำหนิ ที่เห็นเรื่องอื่นสำคัญกว่า และให้เวลาเราเดือนมี.ค. ซึ่งยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำเพราะเป็นเพียงข่าวของแกนนำรัฐบาลบางคนเท่านั้น หากท่านติดภารกิจอีกก็จะต้องไปอภิปรายในเดือนเม.ย.ใช่หรือไม่ และหากเดือนเม.ย.ไม่ได้เพราะปิดสมัยประชุมก่อน ก็ไม่ต้องมาอธิบายเลยใช่หรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรที่ประธานวุฒิสภายังไม่บรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องเร่งด่วนตามรัฐธรรมนูญ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ตนจะถาม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เหมือนกันว่าทำไมถึงยอมรัฐบาลให้เขาต่อรองได้ เพราะเรากำหนดไปแล้ว หากเขาไม่มาเราก็อภิปรายข้างเดียวไปเลย เพราะฉะนั้นระบบรัฐสภาเดินไปไม่ได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องมาแถลงข้อเท็จจริง ชี้แจงข้อขัดข้อง
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการวิเคราะห์กันว่าหากยุบพรรคก้าวไกล จะทำให้ยิ่งยุบยิ่งโต ว่า ยิ่งยุบยิ่งโตเป็นเพียงวาทกรรม จะยุบแล้วจะโต จะยุบแล้วจะเล็ก หรือจะอะไรต่างๆ ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ตนว่าอย่าไปคาดการณ์อะไร เพราะตอนนี้จะยุบหรือไม่ ยังไม่รู้ หากจะยุบ จะยุบแบบไหน ทุกอย่างมีปัจจัย ย้ำว่ายิ่งยุบยิ่งโตเป็นแค่วาทกรรม อย่าให้ความสำคัญมาก เราให้ความสำคัญกับความเป็นจริงดีกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม จะพิจารณาเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักในเรื่องนี้ไว้ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาดู หากชัดเจนว่าการพูดถึงหรือดำเนินการเรื่องนี้เป็นเรื่องการล้มล้างการปกครอง ก็ชัดเจนว่ามติศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร เราคงต้องดูรายละเอียด
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนต่อประเด็นความผิดตามมาตรา 112 อย่างไร นายภูมิธรรม กล่าวว่า จุดยืนเรื่องมาตรา 112 ของพรรคเพื่อไทยชัดเจน เราพูดมาตั้งแต่ต้นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สามารถก่อให้เกิดความขัดแย้งใหม่ได้ เพราะมีประชาชนหลายส่วนเห็นต่างกัน จุดยืนของเราคือ เรื่องอะไรที่มีความอ่อนไหวที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่และยังมีความเห็นต่างกัน ต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อน ถ้ายังหาข้อสรุปไม่ได้ไม่ควรหยิบยกขึ้นมา พรรคเพื่อไทยชัดเจน จะเห็นว่าในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเราจึงไม่แตะเรื่องมาตรา 112 จนกว่าทุกอย่างจะชัด และเชื่อว่าถ้ายังคงเป็นเช่นนี้ ไม่ควรไปแตะต้อง เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่นอกเหนือการเมือง เมื่อสภาพสังคมเป็นเช่นนี้ ไม่ควรหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาและไปกระทบกระเทือนสถาบัน และหน้าที่ของรัฐบาลขณะนี้คือ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ปัญหาวิกฤติประเทศ วิกฤติเศรษฐกิจ ที่ต้องสนใจและแก้ปัญหา ตนเคยตอบกระทู้ของนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ถามในเรื่องนี้ว่าทำไมต้องไปหมกมุ่นเรื่องนี้ ทำไมไม่มาสนใจเรื่องที่จะแก้ปัญหาให้ประชาชน
เมื่อถามถึงกรณี นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เสนอให้แก้ไข พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อลดขอบเขตการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ นายภูมิธรรม กล่าวว่า นายปิยบุตรเป็นนักกฎหมาย ต้องไปถามรายละเอียดกับนายปิยบุตร ตนเป็นนักรัฐศาสตร์ไม่เข้าใจรายละเอียดที่นายปิยบุตรพูด และยังไม่ได้เห็นรายละเอียดดังกล่าว แต่ส่วนตัวคิดว่าทุกอย่างต้องมีเหตุผลรองรับ กลไกทางการเมืองทั้งหมดเป็นเรื่องของหลักการอยู่แล้ว คือ การกระจายอำนาจและรับผิดชอบซึ่งกันและกัน ตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นเรื่องของสภา ไม่ใช่ความเห็นของคนใดคนหนึ่ง และความเห็นคนใดคนหนึ่งไม่ใช่สาระที่จะต้องเอามาเป็นเรื่องที่สังคมต้องเอามาดำเนินการ หากมีความเห็นอะไรก็เสนอเข้าสภา ถ้าสภาพิจารณาอย่างไรถือเป็นความเห็นของตัวแทนประชาชน
เมื่อถามย้ำว่า ส่วนตัวเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากไปหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนยังไม่ได้ดูรายละเอียด แต่คิดว่าท่านก็ทำหน้าที่ของท่าน ทุกองค์กรมีหน้าที่ตามสถานการณ์ ตามเงื่อนไข หากเหมาะสมก็ดำเนินการไป เป็นที่ยอมรับ แต่หากมีปัญหาก็จะหยิบยกขึ้นมา และต้องไปพิจารณาต่อว่าจะจัดการอย่างไรให้เหมาะสม แต่ส่วนตัวมองว่าโดยพลวัตของการเปลี่ยนแปลง ทุกองค์กรทุกหน่วยงานสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คงต้องไปรอดูตรงนั้น
ด้าน นายกรุณพล เทียนสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่หลายฝ่ายออกมาไม่เห็นด้วยเนื่องจากมีการรวมคดีเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีทุจริตและคดีอาญาต่างๆ ว่า เราต้องมีการถกเถียงหาข้อยุติในข้อสงสัยของแต่ละพรรค ซึ่งความเห็นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่หากไม่เปลี่ยนเราก็ยังยืนยันในหลักการว่าการนิรโทษกรรมควรรวมความผิดมาตรา 112 ไปด้วย แต่ไม่รวมผู้ก่อการทั้งหลายที่เป็นแกนนำ เพราะเห็นว่ามีหลายกรณีที่ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 สุดท้ายในบั้นปลายศาลก็ยกฟ้องให้กับผู้ถูกกล่าวหา
ทั้งนี้ ในกรณีที่หลายคนไม่ได้รับการประกันตัวและถูกขังคุกในช่วงที่สืบพยานนั้น ตนมองว่าไม่มีความเป็นธรรมเพราะหลักการทางเสรีภาพของประชาชน ทางกฎหมายก็บอกอยู่แล้วว่าหากศาลยังไม่มีคำตัดสินเป็นที่สิ้นสุด ให้ถือว่าบุคคลนั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์ เมื่อเป็นผู้บริสุทธิ์ก็สามารถประกันตัวมาต่อสู้ทางกฎหมายได้ ดังนั้น มาตรา 112 จึงไม่ได้แตกต่างจากกฎหมายแบบอื่น ที่จะมีโอกาสในการต่อสู้คดี
นายกรุณพล กล่าวว่า หากเราจะนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทั้งหมด เราจะเห็นว่าคดี 112 ในช่วงสองปีที่ผ่านมาก็เป็นการเรียกร้องที่มีการลงถนน หรือบางคนมีการพูดบางคำที่ทำให้ผู้ใหญ่บ้านเมืองนี้มีความไม่สบายใจ เราจำเป็นที่จะต้องยืนยันในหลักการนี้ เมื่อถามว่า มองว่าการตั้งกมธ.ขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้เป็นการถ่วงเวลาให้กับทางพรรคหรือไม่ นายกรุณพล กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการถ่วงเวลา แต่ย้ำว่าคดีทางการเมืองควรต้องรวมมาตรา 112 ด้วย หากสุดท้ายต้องลงมติและเราไม่สามารถโน้มน้าวให้มีความเห็นแบบเดียวกับเราได้ ก็ถือว่าเรายังยืนอยู่ในจุดยืนที่ต้องการชี้ให้สังคมเห็นว่า ทำไมต้องการให้มาตรา 112 รวมอยู่ในกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อเป็นความเข้าใจในอนาคต กฎหมายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยเราก็ได้ปลูกฝังความเชื่อ ความคิด เหตุผล ให้คนได้ฟังว่ากฎหมายมาตรา 112 คือการกลั่นแกล้งทางการเมือง
เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลจะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นหรือไม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าขอให้ยุติการกระทำที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 นายการุณพล กล่าวว่า จริงๆ ไม่ต้องระมัดระวัง เพราะศาลเองก็ได้บอกว่ามาตรา 112 สามารถแก้ให้เพิ่มหรือลดโทษได้ในสภาฯ ซึ่งพรรค ก.ก.เป็นพรรคการเมืองเรามีหน้าที่ ฝ่ายนิติบัญญัติที่สามารถแก้ไขกฎหมายล้าหลังให้ทันสมัย ที่ไม่เป็นธรรมเกิดความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันได้
มาตรา 112 ก็เป็นกฎหมายที่มีคนเขียนขึ้นไม่ได้ลอยลงมาจากฟ้า ในเมื่อคนเขียนขึ้น คนก็ต้องแก้ไขได้ นายกรุณพล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ทางพรรคได้มีการหารือในการเดินหน้ามาตรา 112 ว่าควรจะมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้นหรือไม่ นายกรุณพล กล่าวว่า จริงๆ ก็ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น และต้องรอคำวินิจฉัยตัวเต็มของศาลรัฐธรรมนูญว่าเหตุใดจึงออกคำวินิจฉัยเช่นนี้ มีข้อกำหนดใดๆ หรือไม่ที่ต้องห้ามทำ ตอนนี้เราก็ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่มีออกมาเบื้องต้นก่อน แต่ยืนยันว่าการพูดนอกสภาฯ คือการอธิบายให้เห็นถึงการแก้ไขกฎหมายทุกมาตราของประเทศนี้ ไม่ใช่เป็นการล้มล้าง