การบริหารจัดการยาภายในโรงพยาบาล นอกจากประชาชนเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงแล้ว การบริหารจัดการยาที่ดี ยังช่วยลดงบประมาณให้กับภาครัฐและให้การเข้าถึงยาได้สะดวก รวดเร็วมีคุณภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร การเข้าถึงยาและเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุบัติภัยต่างๆ  ต้องใช้ระยะเวลานาน และเป็นไปด้วยความยากลำบาก โรงพยาบาลในอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือ รพ.สต. และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย จึงเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนที่อยุ่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ยามเจ็บป่วยได้เป็นอย่างดี  


     
องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นองค์กรหลักเพื่อความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ ได้ร่วมกับ สื่อมวลชน หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จ.แม่ฮ่องสอน และโรงพยาบาลสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดโครงการ “GPO เพื่อผู้ประสบภัย ร่วมใจต้านภัยหนาว”   
​    
พญ.มิ่งขวัญ  สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า พื้นที่อำเภอสบเมย เป็นพื้นที่สูง ห่างไกลและทุรกันดาร ประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นชนเผ่าปะกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ประสบปัญหาภัยหนาว และขาดแคลนยา เครื่องนุ่งห่ม ช่วงเดือน พฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี บ้านแม่หาด ม.7 แม่สวด มีครัวเรือนทั้งหมด 170 ครัวเรือน ชาย 325 คน หญิง 318 คน รวม 643 คน แม่แฮด ม.6 แม่สวด มีครัวเรือนทั้งหมด 249 ครัวเรือน ชาย 319 คน หญิง 298 คน รวม 617 คน ลักษณะพื้นที่ทั่วไปของอําเภอสบเมย เป็นป่าเขาสูงสลับซับซ้อน จึงทำให้อากาศค่อนข้างหนาวเย็น จากความเดือดร้อนดังกล่าว องค์การฯ จึงจัดทำโครงการ “GPO เพื่อผู้ประสบภัยร่วมใจต้านภัยหนาว” ขึ้น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่กำลังประสบภัยหนาว ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส เด็ก และผู้ประสบภัย     ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย องค์การเภสัชกรรมได้มีการประสานไปยังโรงพยาบาลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย จ.แม่ฮ่องสอน ในการกำหนดจุดพื้นที่


​    
 ทั้งนี้ได้มอบยาชุดผู้ประสบภัย จำนวน 100 ชุด / ผ้าห่ม 100 ผืน หน้ากากอนามัย จำนวน 500 กล่อง  ให้โรงพยาบาลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อนำไปกระจายต่อให้กับประชาชน และมอบยาชุดผู้ประสบภัย จำนวน 100 ชุด / ผ้าห่ม 100 ผืน ให้กับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชากองทัพไทย จ.แม่ฮ่องสอน พร้อมประชุมรับฟังแนวทางการบริหารจัดการยา เพื่อการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ 


จากนั้น มอบเครื่องวัดความดัน 2 เครื่อง / เครื่องชั่งน้ำหนัก 2 เครื่อง /  ยาชุดผู้ประสบภัย 120 ชุด / ผ้าห่ม  120  ผืน มอบให้กับประชาชนที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านอุมโล๊ะ  ต.แม่สวด อ.สบเมย และมอบยาชุดผู้ประสบภัย จำนวน 148 ชุด / ผ้าห่ม จำนวน 148 ผืน ที่หมู่บ้านนาดอย ต.แม่สวด  อ.สบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน  และมอบยาชุดผู้ประสบภัย จำนวน 332 ชุด และผ้าห่ม จำนวน 332 ผืน ให้กับประชาชนหมู่บ้านคอบิคี และหมู่บ้านแม่หาด ต.แม่สวด อ.สบเมย  จ.แม่ฮ่องสอน มอบยาชุดผู้ประสบภัย จำนวน 100 ชุด / ผ้าห่ม 100 ผืน / ยาสามัญประจำโรงเรียน และเครื่องกรองน้ำ ให้กับโรงเรียนบ้านแม่หาด มอบยาชุดผู้ประสบภัย จำนวน 100 ชุด / ผ้าห่ม 100 ผืน / ยาสามัญประจำโรงเรียน / ของเล่นสนามเด็กเล่น ให้กับโรงเรียนบ้านอุมโล๊ะเหนือ ที่โรงเรียนบ้านแม่หาด ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน            

             
​     
“องค์การเภสัชกรรมมีความมุ่งมั่น ที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุบัติภัยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และเต็มกำลังความสามารถของบุคลากร และทรัพยากรที่องค์การเภสัชกรรมจะจัดสรรให้ได้อย่างรวดเร็ว และออกหน่วยให้บริการถึงพื้นที่โดยตรง เพื่อให้ประชาชนได้รับการบรรเทาทุกข์ในเบื้องต้นอย่างทันต่อเหตุการณ์”  

พญ.มิ่งขวัญ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมอาจจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยบริหารจัดการคลังยา ของ โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งต้องซื้อยาเอง ทั้งจากองค์การเภสัชกรรม และผู้ผลิตรายอื่น มีประมาณ 40-50 บริษัท ซึ่งปริมาณยา ของ โรงพยาบาลชุมชน อยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาทต่อปี  แต่ว่าต้องดิวกับบริษัทยา 40-50 บริษัท  องค์การเภสัชกรรมอาจจะมาช่วยดิวกับบริษัทยา และช่วยบริหารจัดการในการพัฒนาระบบ เพื่อให้การบริหารจัดการห้องยา ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น และสุดท้ายประสิทธิภาพก็จะตามมา ค่าใช้จ่ายก็จะลดลง   


นายแพทย์พิทยา  หล้าวงค์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสบเมย กล่าวว่า อำเภอสบเมย มี 6 ตำบล 58 หมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่ เป็นชาวปะกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) และเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ดูแลประชากร 46,000 คน มีบุคลากรทางการแพทย์ 4 คน  ซึ่งไม่เพียงพอกับพื้นที่ ถ้าเทียบกับโรงพยาบาลชุมชนอื่น และถือเป็นความท้าทายของโรงพยาบาลสบเมย จะทำอย่างไรที่จะดูแลประชากรให้มีคุณภาพมากที่สุด  มี รพ.สต.  8 แห่ง รพ.สต. 6 แห่ง มีไฟฟ้าใช้และอีก 2 แห่ง ไม่มีไฟฟ้าใช้ต้องใช้โซล่าเซลล์ บางช่วงหน้าฝน หรือช่วงไม่มีแดด ก็ค่อนข้างมีปัญหา และแก้ปัญหาโดยใช้น้ำมันปั่นไฟ เจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างลำบาก ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์

 

โรงพยาบาลสบเมยรองรับผู้ป่วยนอก 50,000 คนต่อปี ผู้ป่วยใน 2,000 กว่าคนต่อปี โรคที่รักษาจะเป็นโรคไข้หวัด และ NCDs ติดเชื้อทางเดินอาหาร ไม่ซับซ้อน ถ้าซับซ้อนก็จะส่งต่อไปยัง โรงพยาบาลแม่ข่าย เช่น โรงพยาบาลแม่สะเรียง ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ ครึ่งชั่วโมง  ส่วนการบริหารจัดการยา ซึ่งมีมูลค่า 5-6 ล้านบาทต่อปี จะมีการสำรองในคลังมูลค่า 5 แสนบาทต่อปี ยาที่ซื้อจากองค์การเภสัชฯ ประมาณ 20% และบริหารจัดการให้ รพ.สต.ประมาณ 30% อยู่ที่ โรงพยาบาล 70%  


 
ลูกค้ากลุ่มหลักที่จัดยาและเวชภัณฑ์ให้มี  3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มหน่วยงานสาธารณสุข รพ.สต.  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานอื่น ๆ เช่นสนับสนุนยาให้โรงเรียนในห้องพยาบาล และองค์กรศูนย์อพยพที่มาขอรับการสนับสนุน  ในกลุ่มที่มารับยาด้วยตนเอง ก็มารับยาทั่วไป  ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้มารับยาด้วยตนเอง ตอนนี้มีระบบ ให้ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นำยาไปให้ที่บ้าน ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ไม่สามารถมาได้ กับอีกระบบหนึ่งที่กำลังพัฒนาคือ นำเจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้านและให้ อสม.นำยาไปให้ที่บ้าน ส่วน ลูกข่าย 8 รพ.สต. จะบริหารจัดการยา โดยการให้เขียนเบิกมาเดือนละครั้ง กำหนดแต่ละไอเท็มไว้ที่ รพ.สต. พอจ่ายไปเท่าไหร่ สิ้นเดือนมาเบิก ก็รีฟิลไปให้เต็มสต็อก แต่ว่ายังไม่ได้ดับเบิ้ลเช็ค ว่าใช้ไปจริงเท่าไหร่ ในระบบต้องมีอยู่กี่เม็ด เนื่องจากมีปัญหาเรื่องของการเดินทางและโปรแกรมที่ใช้ยังไม่ได้ จึงเป็นโอกาสดีในการพัฒนาการบริหารจัดการในอนาคตต่อไป 


 
สำหรับความภาคภูมิใจ ที่โรงพยาบาลประสบความสำเร็จ เรื่องแรก การจัดการโควิดที่ผ่านมา เป็นเคสแรกของจังหวัดที่ติดเชื้อโควิด และมีบางเคส ที่นำมาจากฝั่งพม่า ติดเชื้อในกลุ่มในหมู่บ้าน ในชาวเขา โดยทำการรวมกำลังพล ในโรงพยาบาลและภาคีต่าง ๆ ไปช่วยกัน จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งแรก ๆ ของจังหวัด และได้ทำด้วยความเต็มที่ ประสบความสำเร็จ ไม่มีใครเสียชีวิต สามารถควบคุมโรคได้ และการส่งต่อผู้ป่วยที่ห่างไกล ด้วยพื้นที่ลำบาก และทรัพยากรที่มีจำนวนจำกัด ถือเป็นความท้าทาย จะทำอย่างไรให้บริการคนไข้ได้ดีที่สุด ให้คนไข้บนดอยเข้าถึงการบริการได้เที่ยบเท่ากับคนไข้ข้างล่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเร็ว ความปลอดภัยต่าง ๆ ที่จะต้องทำกันต่อไป  

พันเอกพัลลภ ผึ้งหลวง ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 สำนักงานพัฒนาภาค3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กล่าวว่า ทางหน่วยมีงบประมาณ ช่วยเหลือประชนที่เดือดร้อนจากภัยหนาวทุกปี ซึ่งโดยปกติ จะมีความร่วมมือจากองค์กร และต้องขอบคุณทีมงานที่เลือกพื้นที่ตรงนี้ อำเภอสบเมย ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรม ขอบคุณองค์การเภสัชกรรม ในการช่วยเหลือดูแลชาวบ้านประชาชน สร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงพยาบาลกับหน่วยงาน