ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณบวก ที่บ่งชี้ว่า อนาคตเศรษฐกิจโลกจะไปได้ดี มีแนวโน้มที่สดใส
สำหรับ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าของประชาคมโลกที่จะมีขึ้นในอนาคต
ตามรายงานของ “องค์การพลังงานระหว่างประเทศ” หรือที่หลายคนเรียกว่า “ทบวงพลังงานสากล” หรือไออีเอ (IEA : International Energy Agency) ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส ที่ทางนายฟาทีห์ บิรอล ผอ.ไออีเอ ออกมาเปิดเผย โดยได้ระบุถึงสถานการณ์แนวโน้มการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในอนาคตอันใกล้ หรือประมาณอีก 3 ปี นับจากนี้
โดยไออีเอ ประมาณการว่า อัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าในอีก 3 ปีข้างหน้าทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกต่างหากด้วย
แม้ว่าในช่วงรอบปี 2023 (พ.ศ. 2566) ที่เพิ่งผ่านพ้นมา ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วโลกจะมีอัตราขยายตัวแบบลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ ก็ตาม โดยมีตัวเลขการเติบโตของการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.2 ซึ่งเป็นผลจากการที่โลกเราเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤติปัญหาสารพัด ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 ที่คลี่คลายลง รวมถึงปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ที่เริ่มปะทุเป็นไฟสงครามขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว เป็นต้น
ทว่า นับจากนี้ในอนาคตอันใกล้ ปริมาณความต้องการใช้พลังงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะทวีพุ่งสูงขึ้นอย่างแน่นอนตามการคาดการณ์ของไออีเอ ตามเหตุปัจจัยของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น จนต้องใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการใช้ยานยนตร์ไฟฟ้าชนิดต่างๆ ที่มีทิศทางแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นกระแสฮิตฮอตอย่างที่เป็นอยู่นี้ด้วยนั่นเอง
พร้อมกันนี้ ทางไออีเอ ระบุถึงตัวเลขของปริมาณความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของประชาคมโลกเราตลอดช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ด้วยว่า มีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.4 อันเป็นตัวเลขที่มีไปจนถึงปี 2026 (พ.ศ. 2569) เลยทีเดียว ซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น และเป็นสัญญาณบวกของการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกเรา นั่นเอง
รายงานของไออีเอ ระบุแบบจำเพาะเจาะจงถึงประเทศและภูมิภาคโลก ที่จะมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตลอดช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ด้วยว่าจีน และอินเดีย จะเป็นสองประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีปริมาณความต้องการการใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุด ตามมาด้วยกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์เรา โดยคาดว่า บรรดาประเทศและภูมิภาคที่เอ่ยชื่อมา มีแนวโน้มที่จะใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85
โดยปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 3 – 4 ปีต่อจากนี้ ก็จะมีมาพร้อมกับการติดตั้งสถานีจ่ายกระแสไฟฟ้า และสายไฟฟ้า ที่จะมีการพาดผ่านไปตามเสาไฟฟ้าต่างๆ เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับสายไฟฟ้าที่จะมีการติดตั้งพาดผ่านตามเสาไฟฟ้าที่จะมีขึ้นนั้น ทางไออีเอ ยังได้ประมาณการทิศทางแนวโน้มเอาไว้ด้วยว่า เมื่อถึงสิ้นปี 2040 (พ.ศ. 2583) หรืออีก 16 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีการติดตั้งสายไฟฟ้าพาดผ่านเสาไฟฟ้าต่างๆ เพิ่มขึ้นคิดเป็นระยะทางรวมแล้วก็มากถึง 100,000 ไมล์ด้วยกัน คิดเป็นกิโลเมตรตามที่คนไทยเราคุ้นกัน ก็คิดเป็นระยะทางมากกว่า 160,934 กิโลเมตร
โดยตัวเลขดังกล่าว ก็ยังถือเป็นการปรับประมาณการเพิ่มขึ้นของไออีเออีกด้วย ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทางไออีเอ คาดการณ์ว่า ในอีก 16 ปีข้างหน้า หรือปี 2040 (พ.ศ. 2583) นั้น โลกเราจะติดตั้งสายไฟฟ้าคิดเป็นระยะทางรวมแล้วราว 50,000 ไมล์ หรือคิดเป็นกิโลเมตรก็ราวๆ กว่า 80,467 กิโลเมตร
เรียกว่า ทางไออีเอ ได้ปรับประมาณการเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เลยทีเดียว สำหรับ สายไฟฟ้าที่จะได้รับการติดตั้งตามพาดผ่านเสาไฟฟ้าต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการของประชาคมโลกเราที่จะใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ทางไออีเอ ยังได้ประมาณการในด้านการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สำหรับการผลิตและการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชนที่จะเพิ่มมากขึ้นด้วยว่า ในปี 2030 (พ.ศ. 2573) หรืออีก 6 ปีข้างหน้า จะมีเม็ดเงินเพื่อการลงทุนเกี่ยวกับการผลิตและการจ่ายกระแสไฟฟ้าดังกล่าว มากถึง 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยกัน คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กับสกุลเงินบาทของไทยในเวลานี้ที่ดอลลาร์ฯ ละ 35.20 บาท ก็จะอยู่ที่ราวๆ 21.12 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี ทิศทางแนวโน้มการใช้กระแสไฟฟ้าของประชาคมโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ได้ส่งผลทำให้บรรดานักนิเวศวิทยา นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แสดงความวิตกกังวลต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการที่ต้องผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวด้วยเช่นกัน
โดยเหล่านักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประเมินว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน หรือพลังงานสะอาด เช่น กังหันลมปั่นไฟ การใช้แผงเซลล์สุริยะ หรือโซลาร์เซลล์ ตลอดจนพลังงานน้ำ ก็ยังไม่น่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล อย่างถ่านหิน เป็นต้น ก็จะยังคงเป็นขุมพลังงานเชื้อเพลิงเพื่อกระแสไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ ซึ่งการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิลอย่างถ่านหิน เฉกเช่นที่โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าต่างๆ หลายแห่งทั่วโลกยังใช้กันอยู่นั้น แน่นอนว่าได้ก่อผลกระทบ สร้างปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเช่น ภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามมา จากการที่พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิลเหล่านี้ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอย่างมหาศาล เช่นเดียวกับการเลี่ยงไปใช้พลังงานนิวเคลียร์มาผลิตกระแสไฟฟ้าแทน ก็ยังเป็นเหตุปัจจัยสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์และสัตว์ต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับสารกัมมันตภาพรังสี สร้างความน่าสะพรึงถึงขนาดเป็นวิวาทะสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศกันมาแล้ว