วันที่ 4 ก.พ.2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ต่อสายถึงพล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการกองทัพบก(ผบ.ทบ.) เพื่อขอให้ยังคงกวาดล้างยางพาราเถื่อน และเฝ้าระวังตามแนวชายแดนป้องกันการลักลอบนำเข้าอย่างเข้มงวดเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ล่าสุด ผบ.ทบ.ได้รายงานผลการดำเนินการ ดังนี้ 1. กองทัพบกได้ประสานความร่วมมือกับฝ่ายเมียนมาในการช่วยสกัดกั้นการลักลอบนำเข้ายางพาราเข้ามายังฝั่งไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี 2. ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบพื้นที่ปลูกยาง และปรับปรุงฐานข้อมูล ให้ทันสมัยและถูกต้อง พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรและผู้ประกอบการรับซื้อยาง รวมทั้งการบูรณาการกำลังกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ป้องปรามไม่ให้มีการรับซื้อยางที่ไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้
3. หน่วยงานด้านความมั่นคงตั้งจุดตรวจร่วมแบบประจำที่ โดยบูรณาการร่วมกับภาคประชาชนในพื้นที่ และจัดตั้งจุดตรวจร่วมความมั่งคงเพิ่มเติม ณ บ้านห้วยมาลัย อ.สังขละบุรี พร้อมจัดตั้งจุดสกัดแบบไม่ประจำที่ ไม่เป็นห้วงเวลาตามเส้นทางหลบเลี่ยง 4. ลาดตระเวนพื้นที่เป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ เสริมด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิดในจุดล่อแหลม รวมทั้งการใช้โดรนตรวจการณ์มุมสูง
5. ดำเนินการตามมาตรการควบคุมยางพาราอย่างเคร่งครัด เช่น เมื่อเกษตรกรจะนำผลผลิตไปจำหน่ายยังโรงรับซื้อยางพารา จะต้องแสดงหลักฐานการทำสวนยางและปริมาณผลผลิตรายปีที่ กยท. คำนวณไว้แล้วต่อเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ และเมื่อนำผลผลิตไปจำหน่ายแล้ว ให้แสดงหลักฐานการจำหน่ายต่อเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจอีกครั้ง เพื่อตัดยอดผลผลิตออกจากบัญชีคุม ในส่วนของผู้ประกอบการรับซื้อยาง จะต้องเก็บใบเสร็จจากการรับซื้อไว้เป็นหลักฐาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ตรวจสอบ เมื่อมีการเคลื่อนย้ายยางพาราออกนอกพื้นที่เพื่อนำไปจำหน่ายในพื้นที่อื่นต่อไป
สำหรับมาตรการป้องกันและสกัดกั้นการลักลอบนําเข้ายาเสพติด กองทัพได้พัฒนาระบบการแจ้งเตือนโดยเมื่อตรวจพบสิ่งบอกเหตุหรือการกระทําผิด ให้สามารถแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที ไม่เกิดการรั่วไหลของ ข่าวสาร เพื่อให้สามารถยับยั้ง สกัดกั้น และจับกุมผู้กระทําผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการจัดระเบียบหมู่บ้านชายแดน เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และประสานกับฝ่ายเมียนมา ในการร่วมกันเฝ้าระวังแจ้งเตือน สกัดกั้นและปราบปราม การลักลอบ ลําเลียงยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายข้ามประเทศตามช่องทางต่างๆ ตามแนวชายแดน
ไปจนถึงการปรับปรุงพัฒนาเทคนิค วิธีการ และเครื่องมือในการป้องกันและสกัดกั้นการกระทําผิด กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เช่น การนําเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ณ จุดตรวจ เพื่อช่วยในการตรวจสอบการลักลอบลําเลียงยา เสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย เช่น เครื่อง X-Ray, อุปกรณ์ตรวจจับรถเป้าหมายจากป้ายทะเบียนรถ (License Plate) แบบมีระบบแจ้งเตือนทันที เมื่อรถเป้าหมายผ่านจุดตรวจ, รวมทั้งเครื่องอ่านบัตรประจําตัว ประชาชน (Smart Card Reader) ที่มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลบุคคลต้องสงสัยหรือผู้ที่มีหมายจับเข้ากับ เครื่องอ่านบัตรฯ เป็นต้น