เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 67 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุม พร้อมลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการสำคญของกระทรวงคมนาคม โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุม ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และประชาชน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า ได้เดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมประชุมมอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดเร่งพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมขนส่งให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดในการขนส่งสินค้า การเดินทาง และการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล โดยได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ มุ่งเน้นการดูแลบริการประชาชนด้านการคมนาคมเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงเส้นทางคมนาคมจากเมืองสู่ชุมชนให้สะดวกปลอดภัย และมีความมั่นใจว่าในวาระรัฐบาลชุดนี้ กระทรวงคมนาคมจะพัฒนาการคมนาคมขนส่งกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวได้มากที่สุด จึงได้เร่งผลักดันการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโครงการพัฒนาโครงข่ายสำคัญในพื้นที่กลุ่มจังหวัดอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ดังนี้ โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร ทล. 202 สาย อ.สุวรรณภูมิ - ยโสธร ทล. 2083 สาย อ.มหาชนะชัย - อ.คำเขื่อนแก้ว โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำชี โครงการก่อสร้าง ทล. 2040 ตอน มหาสารคาม - วาปีปทุม ทล. 215 ร้อยเอ็ด – อ.ท่าตูม – บ้านหนองเม็ก - บ้านหนองสาหร่าย ทล.213 ตอน มหาสารคาม - หนองขอน

สำหรับแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวง จ.มหาสารคามเร่งด่วน ได้แก่ โครงการก่อสร้าง ทล. 2040 มหาสารคาม - พยัคฆภูมิพิสัย ตอน อ.วาปีปทุม – อ.พยัคฆภูมิพิสัย ทล. 219 อ.สตึก – อ.พยัคฆภูมิพิสัย ทล. 2322 ตอน โกสุมพิสัย - เชียงยืน และ ทล. 2063 ตอนบรบือ - โคกสี ขยายจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร โครงการทางเลี่ยงเมืองมหาสารคามด้านตะวันออกและทางเลี่ยงเมือง อ.โกสุมพิสัย และโครงการก่อสร้าง ทล. 213 มหาสารคาม - ห้วยปลาหลด ขยายจาก 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ภาพรวมกระทรวงคมนาคมมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายถนนให้ครอบคลุมความต้องการของประชาชนทั่วประเทศ โดย "ถนน" ต้องช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางจากต้นทางถึงปลายทาง ลดต้นทุนการขนส่ง และมีโครงข่ายที่ส่งเสริมต่อภาคการเกษตร การท่องเที่ยว การค้าการลงทุน และแหล่งอุตสาหกรรม สามารถบูรณาการร่วมกับระบบขนส่งได้ในทุกมิติ เป็นการอำนวยความสะดวกปลอดภัยให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ได้ใช้งานอย่างสมบูรณ์และเข้าถึงได้ และเชื่อว่าความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงคมนาคมและยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและนโยบาย "คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน" จะทำให้ประชาชนมีความสุขมากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงายว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาตลิ่งริมแม่น้ำชีทรุดตัว บริเวณ ทล. 213 (ตู้ยามบ้านดินดำ) เนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัย โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ก่อสร้างโครงสร้างป้องกันตลิ่งส่วนล่างด้วยคันหินยาแนว ก่อสร้างกำแพงกันดินคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 6 เมตร ฐานรากชนิดเข็มต่อตามแบบมาตรฐานกรมทางหลวง พร้อมกับขยายช่องจราจรมีทางเดินเท้าด้านบนและระบบระบายน้ำไปด้วย ที่ผ่านมาในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2566 มีท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ของการประปาส่วนภูมิภาคในแนวเขตก่อสร้าง และในช่วงเดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2566 ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์  จ.ขอนแก่น ทำให้มีปริมาณน้ำในแม่น้ำชีมีระดับสูงขึ้นกว่าระดับตอกเสาเข็ม จึงไม่สามารถนำเครื่องจักรเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ แต่ขณะนี้สามารถดำเนินการได้ตามปกติแล้ว จึงได้เร่งดำเนินการและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน เพิ่มความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างทางหลวง แก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนเส้นนี้ให้ประชาชนเดินทางได้อย่างปลอดภัยสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

นางมนพร เจริญศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากได้ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาบริเวณ ทล. 213 บริเวณตู้ยามตำรวจบ้านดินดำ ตำบลเกิ้ง อ.เมืองมหาสารคาม ที่ได้รับผลกระทบจากลำน้ำชีเอ่อล้น เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากอยู่ติดตลิ่งริมแม่น้ำชีจนเกิดน้ำกัดเซาะตลิ่งทำให้ถนนทรุด ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงและกรมเจ้าท่าประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งพังแก้ปัญหาอย่างถาวรในระยะยาว คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2568 นอกจากนี้ภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ยังได้เสนอโครงการพัฒนาก่อสร้างสนามบินจังหวัดมหาสารคาม เรียกว่า สนามบินสารสินธุ์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าการท่องเที่ยวเชื่อมกับอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ ยืนยันว่าปัญหาของพี่น้องประชาชนที่เสนอมายังกระทรวงคมนาคม ได้รับไว้พิจารณาเร่งด่วนตามลำดับความสำคัญทั้งหมด เช่น โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ติดลำน้ำชีที่เชื่อมระหว่างจังหวัดร้อยเอ็ดกับมหาสารคาม โครงการขุดลอกต่างตอบแทน "ขุดดินแลกน้ำ" ของกรมเจ้าท่า เพื่อจะไม่ให้ลำน้ำชีตื้นเขิน และการกำจัดวัชพืชในช่วงที่มีน้ำหลากที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว