วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม พร้อมด้วย ส.ส.เดือน มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ส.ส. เขต 2 นครพนม พรรคเพื่อไทย ผู้บริหาร นำข้าราชการ เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ อีสาน มี จ.ร้อยเอ็ด จ.กาฬสินธุ์ และ จ.มหาสารคาม ในระหว่างวันที่ 2 -3 กุมภาพันธ์ 2567 ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม และเป็นตัวแทนรัฐบาลรับฟังปัญหาความต้องการของประชาชน เพื่อติดตามความก้าวหน้า รับทราบปัญหาในพื้นที่ เกี่ยวกับ โครงการพัฒนาของหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้มีประเด็นที่สำคัญคือ การรับฟังปัญหาการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่ อ.โพนทอง อ.เมยวดี อ.หนองพอก อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด รวมถึง อ.กุฉินารายณ์ อ.เขาวง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ รวมถึงการพัฒนาเส้นทางคมนาคม ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม เป็นการลงพื้นที่เชิงรุก เพื่อยกระดับโครงข่ายเส้นทางคมนาคม ให้สอดคล้องกับ การพัฒนาเศรษฐกิจการ ท่องเที่ยว ตามนโยบายรัฐบาล
ด้าน นายสุริยะ เปิดเผยในการลงพื้นที่ว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายการคมนาคมให้ครอบคลุมทุกมิติของการเดินทาง ทั้งทางถนน ทางราง และทางอากาศ เพิ่มศักยภาพการเดินทางการสัญจรของประชาชน รวมถึงการขนส่งสินค้าทางด้านการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม สำหรับการตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม ครั้งนี้ ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของโครงการสำคัญต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมในพื้นที่ พร้อมรับฟังปัญหา ความต้องการพัฒนาการขนส่งทางถนน และเป็นตัวแทนของรัฐบาลรับฟังปัญหาความต้องการของประชาชนเชิงลึก เพื่อให้เกิดการบูรณาการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบพร้อมกับการผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็วต่อไป
จากการลงพื้นที่พบข้อมูลที่จะต้องมีการวางแผนพัฒนาเร่งด่วน คือ เส้นทางการจราจรที่ควรขยายเป็น 4 ช่องจราจร ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 2044 สายร้อยเอ็ด – อำเภอโพนทอง ช่วงบ้านหนองดง หมู่ที่ 2 ตำบลโคกสูง อำเภอโพนทอง และทางหลวงหมายเลข 2046 อำเภอโพนทอง - อำเภอกุฉินารายณ์ ช่วงอำเภอโพนทองบรรจบทางหลวงหมายเลข 12 เป็นเส้นทางสำคัญในการเชื่อมต่อท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ผ่านทางหลวงหมายเลข 2046 เชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 12 ตามแนว East – West Corridor
ซึ่งปัจจุบันถนนช่วงดังกล่าวมีลักษณะเป็นคอขวด เมื่อขยายเป็นขนาด 4 ช่องจราจร จะเกิดความรวดเร็วในการเดินทาง การคมนาคมขนส่งเชื่อมต่อทางถนนไปสู่ทางอากาศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง สะพานลอยข้ามถนน จุดกลับรถ ให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ที่สำคัญทุกโครงการจะต้องเน้นความปลอดภัยในการเดินทาง ลดการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพิ่มศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืน และช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม สร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวให้กับประชาชนในพื้นที่