วันที่ 3 ก.พ.2567 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และสภาร่างรัฐธรรมนูญว่า พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นภายใต้ระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในฐานะสถาบันทางการเมืองเห็นมาตลอดว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังไม่สมบูรณ์ตามระบบประชาธิปไตย ทั้งเรื่องการลิดรอนสิทธิ์ประชาชน กระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน สิทธิคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิที่ดินทำกิน กระบวนการถ่วงดุลเรื่องป้องกันและปราบปรามการทุจริต การกระจายอำนาจ และที่สำคัญคือโครงสร้าง การเข้าสู่อำนาจทั้งของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ 

 

นายราเมศ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคแรกที่เสนอแนวคิด ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ง่ายขึ้น

ซึ่งกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงจะต้องมีขึ้น โดยผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในหมวดหนึ่งและหมวดสอง 

 

นายราเมศ กล่าวว่า สำหรับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คน จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในแต่ละจังหวัดจำนวน 150 คน ส่วนอีก 50 คน จะผสมผสานจากผู้มีประสบการณ์ เช่น จากการเลือกของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ สาขากฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 10 คน ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 คน สมาชิกซึ่งรัฐสภาคัดเลือก จำนวน 20 คน นิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ที่จะมีกระบวนการสมัคร เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คัดเลือกจำนวน 10 คน 

 

นายราเมศ กล่าวว่า ในส่วนของความเห็นคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนสภาผู้แทนราษฎรได้รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่องระบบเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องยอมรับว่าเป็นผลการศึกษาที่อาจมีความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภา การถกเถียง เพื่อให้เป็นข้อตกลงที่ตกผลึกนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ก็เชื่อเช่นกันว่า หากทุกพรรคการเมืองเล็งเห็นถึง การแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็ไม่เป็นการยากที่จะพูดคุยกัน ในส่วนของการดำเนินการของรัฐบาล ประชาชนคงสิ้นหวัง เพราะผ่านระยะเวลายาวนานแต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด จึงต้องเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะต้องมีแนวคิดและจุดยืนที่ชัดเจน ถ้าจะตั้งขึ้นเพื่อถ่วงเวลากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบในฐานะที่เคยให้สัญญากับประชาชนไว้