วันที่ 3 ก.พ.2567 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีที่สภาผู้แทนได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมว่า พรรคเห็นด้วยในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางให้เกิดความชัดเจน ทั้งเรื่องเจตนารมณ์ในการนิรโทษกรรมว่า ฐานความผิดใดบ้างที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับนิรโทษกรรม การพิจารณาวินิจฉัยว่า มีบุคคลใดบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรม  ซึ่งมีความจำเป็นต้องแยกให้ชัดว่า คดีประเภทใดที่เกิดขึ้นจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เหตุเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งความคิดทางการเมือง ต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์มี นายชัยชนะ เดชเดโช สส. นครศรีธรรมราช ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าว ซึ่งพรรคก็มีความเห็นผ่านไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

 

นายราเมศ กล่าวว่า ทั้งนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับพรรคก้าวไกล ซึ่งบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระหนึ่ง ซึ่งฉบับดังกล่าวพรรคไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น ทั้งเรื่องการกำหนดความผิด อำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด บุคคลที่จะได้รับการนิรโทษกรรมที่รวมคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ด้วย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย 

 

นายราเมศ กล่าวว่า รวมถึงการยอมรับจาก นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ระบุว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับพรรคก้าวไกล จะนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วย ซึ่งการกระทำความผิดมาตรา 112 หลักความเป็นจริงแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับแนวความคิดทางการเมือง ไม่ได้มีมูลเหตุจูงใจในทางการเมือง ที่จะนำมาเป็นประเด็นไปสู่การนิรโทษกรรม เป็นการตั้งใจกระทำความผิด โดยมีมูลเหตุจูงใจมาจากวาระที่ซ่อนเร้น ซึ่งในมาตรา 4 ของร่างกฏหมายฉบับดังกล่าว จะเป็นประเด็นปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด รวมถึงการกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดในมาตรา 5 ที่มีนักการเมือง ผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้ขัดต่อกระบวนการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

 

“ถ้าไปดูอำนาจของคณะกรรมการชุดนี้จะเห็นได้ว่ามีการกำหนดอำนาจไว้มากกว่าอำนาจตุลาการ ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยฐานความผิด การวินิจฉัยในข้อสงสัยว่าคดีใดจะอยู่ภายใต้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้หรือไม่ การกำหนดให้มีอำนาจสั่งให้ศาลระงับการพิจารณาคดี การสั่งให้มีการปล่อยตัวจำเลย ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบ และเมื่อไปสอบถามความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ปรากฏว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกว่า 70% และยืนยันได้จากผลจากการวิเคราะห์ผลกระทบอันเกิดจากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบ“ นายราเมศ กล่าว