วันที่ 2 ก.พ.67 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเปิดงาน "วันนักประดิษฐ์" ประจำปี 2567 และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เข้าเฝ้ารับพระราชทานเกียรติบัตรรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานขึ้นภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม นำประเทศ” จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 25 เพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เครื่องกลเติมอาการที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย แด่พระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ นักประดิษฐ์-นักวิจัยสาขาต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศเฝ้าฯ รับเสด็จ ณ Event Hall 100 - 102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยการจัดงานจะจัดไปจนถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ศกนี้
ในการนี้ได้พระราชทานรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 ให้กับนักประดิษฐ์ นักวิจัยไทย ทั้งในส่วนรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น และรางวัลวิทยานิพนธ์ จำนวนกว่า 170 คน ในปีนี้มีนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2567 เข้ารับพระราชทานรางวัล 9 คน จาก 7 สาขาวิชาการ ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ มีผู้ได้รับรางวัล 2 ท่าน คือ ศาสตราจารย์ ดร.อุบลลักษณ์ รัตนศักดิ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ดร.ธิติ บวรรัตนารักษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศ.พญ.ธันวีร์ ภูธนกิจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา มีผู้รับรางวัล 2 ท่าน คือ รศ.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ศ.ดร.เบญจมาส เชียรศิลป์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สาขานิติศาสตร์ รศ.ดร.นาถนิรันดร์ จันทร์งาม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาสังคมวิทยา ศ. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ สาขาการศึกษา ศ. ดร.ใจทิพย์ ณ สงขลา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากนั้น เสด็จฯ ทอดพระเนตร นิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์ งานวิจัย และนวัตกรรม ด้านการเกษตร การแพทย์ คุณภาพชีวิต สังคมสูงวัย มากกว่า 1000 ผลงาน ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มาจากนักประดิษฐ์ไทย นักประดิษฐ์นานาชาติมากกว่า 500 ผลงานจาก 30 องค์กรนานาชาติ รวมถึงโซนของการจัดแสดงผลงานระดับเยาวชน ในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวะศึกษา กว่า 700 ผลงาน ที่ผ่านการคัดเลือกในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ Thailand New Gen Invertors Award 2024 : I-New Gen Award 2024 ด้วยความสนพระทัยยิ่ง
ด้านนักประดิษฐ์ที่ได้เข้าเฝ้า ฯ นำผลงานจัดแสดงให้ทอดพระเนตร ได้ร่วมเผยความรู้สึกเริ่มจาก นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล จาก สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เจ้าของผลงาน “โดรนอัจฉริยะ (Smart Drone)” กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสนพระทัยในผลงานชิ้นนี้ ทรงรับสั่งว่าดีใจที่คนไทยสามารถประดิษฐ์โดรนใช้งานได้เอง และยังสามารถพัฒนาซอท์ฟแวร์ให้โดรนทำงานได้หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดรนเดลิเวอรี่ โดรนกู้ภัย ที่จะช่วยให้เข้าถึงพื้นที่ห่างไกลที่เดินทางลำบากโดยเฉพาะพื้นที่บนภูเขาสูง หรือในยามประสบภัยโดรนสามารถเข้าถึงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
“ผมได้กราบบังคมทูลว่า สมาคมฯ โดยการสนับสนุนของ วช. ได้นำผลงานโดรนอัจฉริยะนี้ไปร่วมประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ในระดับนานาชาติในหลายประเทศ และได้รับรางวัลมากมาย และสนับสนุนส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้การประดิษฐ์โดรน การพัฒนาฮาร์ดแวร์ – ซอท์ฟแวร์ เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและสร้างบุคคลากรที่จะสามารถต่อยอดในการพัฒนา โดรนให้มีประสิทธิภาพ ทำงานได้หลากหลายตามความต้องการของประเทศ จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าได้เป็นอย่างดี”
ดร.รัชพล เต๋จ๊ะยา โรงเรียนสตรีวิทยา เจ้าของผลงาน “แก้วอังวะ : การผสมผสานทางวัฒนธรรมของกระจกแก้วกลมสู่การผลิตอย่างโบราณเพื่อการบูรณะและต่อยอดงานศิลปกรรม” กล่าวว่า แก้วอังวะนี้เป็นวัสดุเชิงวัฒนธรรมเกิดจากการที่ต่อยอยองค์ความรู้การหุงกระจกเกรียบโบราณของไทย ตามที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแนะนำเรื่องการต่อยอด องค์ความรู้การหุงกระจก ที่ปรากฏในสมุดไทยดำ หอสมุดแห่งชาติ จึงก่อเกิดเป็นวัสดุศาสตร์นวัตกรรมเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญ
“ทรงมีรับสั่งว่าดีใจที่ได้เห็นวัสดุเชิงวัฒนธรรมที่นำมาใช้ในการบูรณะอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการอนุรักษ์งานศิลปกรรมประดับกระจกเกรียบตามอย่างงานช่างโบราณ ในสถานที่สำคัญซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ อันเป็นการบูรณะ อนุรักษ์อย่างยั่งยืน ที่สำคัญคือการธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ แห่งรัตนโกสินทร์ให้คงอยู่อย่างงดงาม ดังชื่อบ้านนามเมือง สิ่งประดิษฐ์แก้วอังวะนี้ ได้นำไปใช้ในการบูรณะ ปฎิสังขรสถาปัตยกรรมภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ และยังได้รับสั่งถึง พระศรีรัตนเจดีย์ ที่อยู่ภายในวัดพระแก้ว ซึ่งประดับตกแต่งด้วยแก้วผสานกับทองคำแท้ ที่นำเข้ามาจากเวนิช ประเทศอิตาลี ในครั้งรัชกาลที่ 5 ซึ่งผมก็จะได้น้อมนำไปค้นคว้าวิจัยและศึกษาต่อไปให้สำเร็จ เพื่อให้เราสามารถผลิตโมเสกแก้วดังกล่าว เพื่อนำมาใช้เป็นวัสดุเชิงวัฒนธรรมในการบูรณะอนุรักษ์งานศิลปกรรมของชาติให้งดงามต่อไป”
วันนักประดิษฐ์" ประจำปี 2567 ผู้ร่วมงานจะได้พบนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมมากกว่า 1,000 ผลงานอาทิ นิทรรศการ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ, นิทรรศการ รางวัลการวิจัยแห่งชาติ, นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากหน่วยงานเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศ, มหกรรมประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ IPITEx 2024, นิทรรศการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน Thailand New Gen Inventors Award 2024 : I-New Gen Award 2024, กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนานักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ โซนตลาดสินค้าและนวัตกรรมจำหน่ายในราคาพิเศษ นิทรรศการ Highlight Zone อาทิ นิทรรศการ The Survival game ตะลุยแดนภัยพิบัติ ที่นำเสนอแกมส์หนีภัยสึนามิในโลกเสมือนจริง นิทรรศการ Fruit Fun Fair ผลไม้หรรษา ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ส้มโอฉายรังสี ทุเรียน Fresh cut ฯลฯ และ การเสวนาและฝึกอบรม มากกว่า 100 หัวข้อ อาทิ การเสวนาในหัวข้อการส่งเสริมการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการประดิษฐ์คิดค้น การฝึกอบรมอาชีพ ลงทะเบียนและดูรายละเอียดเพิ่มเติม https://inventorsday.nrct.go.th
ผู้สนใจสามารถแวะชมงานได้ตั้งแต่วันที่ 2-6 กุมภาพันธ์นี้ ที่ ณ Event Hall 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา