วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีปลดประจำการเครื่องบินฝึกแบบที่ 19 (บ.ฝ.19) หรือ PC-9 MUSTANG โดยมี นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพอากาศ และส่วนราชการใกล้เคียง ร่วมพิธีฯ ณ ลานจอดเฉลิมอากาศ โรงเรียนการบิน (กำแพงแสน)
ในการนี้ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้กล่าวให้โอวาทเกี่ยวกับภารกิจของเครื่องบินฝึกแบบที่ 19 (PC-9 MUSTANG) ที่ได้ประจำการในกองทัพอากาศ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2534 จนถึงปัจจุบัน โดยประจำการมาเป็นเวลากว่า 32 ปี นั้น เกิดจากวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของอดีตผู้บังคับบัญชา ที่ได้เล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ที่จะเกิดกับประเทศชาติ จึงได้เลือกเครื่องบินฝึกแบบที่ 19 (PC-9 MUSTANG) เข้าประจำการในกองทัพอากาศไทย ซึ่งใช้สำหรับภารกิจหลักในการฝึกศิษย์การบิน และการบินปฏิบัติการทางอากาศยุทธวิธี
โดยตอบโจทย์การสร้างพื้นฐาน ในการผลิตนักรบทางอากาศได้อย่างดียิ่ง อีกทั้ง ยังสามารถดำรงขีดความสามารถ ในการบินจนครบอายุปลดประจำการ ตามโครงสร้างอากาศยาน นับเป็นการใช้เงินงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน ได้คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง สมเป็นดั่งผู้สร้างนักรบและสร้างฝันให้แก่กองทัพอากาศตลอดมา และในวาระที่เครื่องบินฝึกแบบที่ 19 จะปลดประจำการประจำการ กองทัพอากาศจึงได้มอบโล่เกียรติยศ สำหรับเครื่องบินฝึกแบบที่ 19 (PC-9 MUSTANG) เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงการปฏิบัติภารกิจจนบรรลุผลสำเร็จด้วยดีมาอย่างยาวนาน
เครื่องบินฝึกแบบที่ 19 (PC-9 MUSTANG) เป็นเครื่องบินฝึกเครื่องยนต์เทอร์โบพรอพเครื่องยนต์เดี่ยว สองที่นั่งเรียงกัน ผลิตโดยบริษัท พิลาตุส แอร์คราฟท์ (Pilatus Aircraft) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเริ่มโครงการพัฒนามาจากเครื่องบินฝึกรุ่น PC-7 ของบริษัท ยังคงโครงสร้างเดิมของเครื่องบิน PC-7 ไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น กองทัพอากาศได้จัดซื้อเครื่องบินแบบที่ 19 (PC-9 MUSTANG) ครั้งแรก จำนวน 20 เครื่อง เพื่อนำมาใช้ฝึกศิษย์การบินชั้นมัธยมที่โรงเรียนการบิน เพื่อทดแทน บ.ฝ.18/ก (Fantrainer 600) และกำหนดแบบเป็น “เครื่องบินฝึกแบบที่ 19 (บ.ฝ.19) โดยเครื่องบินฝึกแบบที่ 19 (PC-9 MUSTANG) ได้เข้าประจำการในกองทัพอากาศ รวมทั้งหมด 26 เครื่อง