เมื่อวันที่ 2 ก.พ.67 นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นเจ้าหน้าที่ตำรวจใน จ.ร้อยเอ็ด เมาแล้วขับรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้เด็กอายุ 12 ขวบ ได้รับบาดเจ็บสาหัส เนื่องจากถูกรถยนต์คันดังกล่าวลากไปไกลกว่า 300 เมตร ว่า สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์แล้ว ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 321 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่หากจะให้เทียบว่าดื่มมากแค่ไหนถึงมีปริมาณแอลกอฮอล์มากขนาดนั้น เป็นเรื่องที่พูดได้ยาก เนื่องจากต้องดูพฤติกรรมการดื่มด้วย เช่น หากดื่มครั้งเดียวทีละมากๆ ก็ทำให้แอลกอฮอล์สูงได้ หรืออาจจะค่อยๆ ดื่ม แต่ดื่มเป็นเวลานาน ก็ทำให้แอลกอฮอล์สะสมได้ แต่สิ่งที่สามารถวัดได้ชัดเจนคือ การที่มีระดับแอลกอฮอล์สูงถึง 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้สูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อร่างกาย ต้องการความช่วยเหลือเมื่อต้องการจะเคลื่อนไหว จิตใจสับสนอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นเมื่อปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึง 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์นั้น ส่งผลต่อร่างกายทำให้อาการมึนงง ไม่รู้ตัว มีสติสัมปชัญญะน้อยมาก แทบไม่รู้เรื่องแล้ว แต่ถ้าสูงถึง 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ อาจทำให้หมดสติได้
"การควบคุมร่างกายและจิตใจไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นการเมาถึง 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แล้วไปขับรถนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคนไม่รู้เรื่องแล้ว ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แม้ว่าขับชนคนแล้วก็ไม่รู้เรื่อง ขับไปอย่างอัตโนมัติแบบออโต้ไพลอต (Auto pilot) ขับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเกิดเหตุ ซึ่งอันตรายมาก ยิ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องรักษากฎหมายแต่มาทำผิดซะเอง ผมคิดว่ากรณีแบบนี้ควรใช้การตัดสินใจที่สูงสุดมากกว่าคนทั่วไป ต้องเป็นการลงโทษทางวินัยสูงสุด เพราะเคยมีมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบว่าหากข้าราชการกระทำผิดกฎจราจรก็ให้ลงโทษทางวินัย เพื่อให้หลาบจำ และเป็นตัวอย่างให้ประชาชน โดยเฉพาะข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ" นพ.แท้จริงกล่าว
นพ.แท้จริงกล่าวต่อว่า สำหรับเหตุที่เกิดขึ้นทำให้เราต้องตระหนักถึงกฎหมายในประเทศไทยที่อ่อนแอ ไม่สามารถทำให้คนกลัวได้ สะท้อนให้เห็นว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาแม้เราจะรณรงค์กันมากก็ไม่เป็นผล เราไม่สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้เลย ฉะนั้นสิ่งที่ตนอยากเสนอ มีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.ประเทศไทยต้องมีกฎหมายสำหรับเรื่องเมาแล้วออกไปขับรถ ไม่ใช่เพียงการกระทำจากความประมาท แต่ต้องเป็นกฎหมายที่กำหนดถึงขั้นว่าเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลว่าจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ เพราะว่าคนที่เมาแล้วยังขับรถนั้น ไม่ใช่เพราะความประมาทแน่นอน แต่ก็ไม่ใช่ว่าตั้งใจขับรถไปชนคนอื่น แต่เป็นการกระทำที่รู้ผลลัพธ์อยู่แล้ว
นพ.แท้จริงกล่าวต่อว่า 2.รัฐบาลต้องจริงจังในการออกกฎหมายในการเอาผิดผู้ที่เป็นส่วนสนับสนุนทำให้เกิดความเมาแล้วปล่อยให้ไปขับรถ ซึ่งต้องเอาผิดด้วย เช่น ร้านที่ให้นั่งดื่ม ร้านที่เปิดขายแอลกอฮอล์ให้ ต้องเอาผิดทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหา และ 3.ต้องผลักดันกฎหมายในการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในกรณีที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนทุกกรณี เพราะทุกวันนี้เราใช้เพียงดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฉะนั้น เราควรจะต้องตรวจทุกกรณีเพื่อให้รู้แน่ชัดว่ามีความเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์เพื่อนำไปสู่การความผิดอย่างจริงจัง ให้คนกลัวกฎหมาย ไม่กล้ากระทำในความเสี่ยงนี้