เป็นนโนยบายที่จับตามองว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงจังได้หรือไม่ กับ “นโยบายแก้หนี้ทั้งระบบ” ของรัฐบาลภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยกระทรวงยุติธรรม ได้จัดงาน "มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม" ครั้งที่ 1ที่เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินทั้งระบบให้กับประชาชนทุกกลุ่มทั้งภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ซึ่งปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนานทั้งปัญหาหนี้นอกระบบและในระบบซึ่งได้มีสถาบันการเงิน 23 สถาบัน ทั้งส่วนที่เป็นของรัฐบาลและเอกชน โดยสถาบันการเงินควรที่จะสร้างโอกาสให้ลูกหนี้ได้กลับมายืนในสังคม

ทั้งนี้ “ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร” คณบดีคณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีมุมมองนโยบายแก้หนี้ทั้งระบบของรัฐบาลว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายแก้หนี้ทั้งระบบ ให้ความสำคัญของการจัดการเรื่องหนี้นอกระบบโดยถือเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงรับภาระหนี้ที่เกินกว่าเงินต้นเป็นจำนวนมากมาตรการแก้หนี้ของรัฐบาล แนวทางแก้หนี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ในระยะเร่งด่วนส่วนในระยะยาว ต้องแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง

โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ พักหนี้เกษตรกรทั้งต้นและดอก วงเงินไม่เกิน 300,000 บาท/ราย รวมระยะเวลา 3 ปี ,หนี้นักศึกษา (หนี้ กยศ.) ลดดอกเบี้ย ปรับแผนจ่ายเงิน ปลดผู้ค้ำประกัน และถอนอายัดบัญชี  ,แนวทางแก้หนี้ครู และข้าราชการ หักหนี้ไม่เกิน 70% ของเงินเดือน จัดทำสวัสดิการเงินกู้ข้าราชการ (ดอกเบี้ยต่ำ) แก้หนี้บัตรเครดิตกับรัฐบาล ปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ผ่อนได้นาน 10 ปี ลดดอกเบี้ยเหลือ 3-5% ต่อปี ,หนี้สินเชื่อรถยนต์ และ รถจักรยานยนต์ กำหนดให้สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ และรถมอเตอร์ไซค์ เป็นสัญญาควบคุม  และแก้หนี้กลุ่มธุรกิจ SME (วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม) ยกเลิกสถานะหนี้เสีย สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อนุญาตให้ปรับโครงสร้างหนี้ หนี้นอกระบบ ให้นายอำเภอ และตำรวจในท้องถิ่น ช่วยเจรจาประนอมหนี้ สำหรับผู้ที่จ่ายเงินต้นครบถ้วนแล้ว เปิดให้ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ ทางออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ (ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2566 ถึง หมดเขต 29 ก.พ. 2567)

ซึ่งนับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 การลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ จากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.00 น. มีมูลหนี้รวม 8,790.094 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 133,008 ราย เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 113,423 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 19,585 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 98,445 ราย รวมทั้งให้ทุกพื้นที่ดำเนินกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินทันทีที่ได้รับการลงทะเบียน เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนไว้ได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วที่สุด

นอกจากนี้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบยังได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้กับประชาชนรายย่อยในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม รวมถึงการแก้ไขและจัดให้มีแนวทางป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบในเวลาเดียวกัน โดยได้อนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) และในส่วนของสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ หรือ นาโนไฟแนนซ์  เป็นสินเชื่อที่ภาครัฐต้องการให้การสนับสนุน เนื่องจากเห็นปัญหาของประชาชนรายย่อยที่ต้องการใช้เงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ แต่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้ เพราะไม่มีเอกสารหลักฐานที่ใช้แสดงแหล่งที่มาของรายได้ และไม่มีทรัพย์สินที่จะนำมาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน

“เพราะปัญหาสำคัญของหนี้นอกระบบคือการที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่อยู่ในระบบ การแก้ไขปัญหาในระยะยาวคือการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่อยู่ในระบบ และการให้ความรู้ประชาชนในเรื่องของการวางแผนทางการเงินเพื่อให้มีภูมิคุ้นกันจากการมีหนี้มากกว่ารายได้ ทำให้เกิดปัญหาในการชำระหนี้ในระบบนำไปสู่การไปกู้มาจากหนี้นอกระบบ รวมไปถึงนโยบายของรัฐบาลในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำให้กับผู้ที่รับเงินเดือน ให้อัตราสะท้อนสภาวะทางการเงินในปัจจุบัน”

ขณะที่ “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ”  รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการ แก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าครูเป็นลูกหนี้ชั้นดีรายใหญ่ เพราะสามารถหักเงินจากบัญชีเงินเดือนได้เลย ซึ่งที่ผ่านมา ศธ.ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯร่วมกับ 12 หน่วยงาน มีการจัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย เพื่อช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ให้ครูฯ และจัดอบรมวินัยการเงิน พร้อมนำระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ฯ มาใช้ในการหักเงินเดือนครู โดยครูต้องมีเงินเดือนเหลือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 เพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่ได้

แต่ในทางปฏิบัติพบว่า บางเขตพื้นที่โดยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) กลับหักเงินเดือนครูเกินกว่าที่ระเบียบฯกำหนด ทำให้ครูอยู่อย่างยากลำบาก เพราะมีเงินเดือนเหลือไม่ถึงร้อยละ 30 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องมีการกำกับแก้ไขต่อไป

อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้สินครูยังมีแนวทางให้ต้นสังกัดประสานการจัดการรีไฟแนนซ์ หรือรวมหนี้เป็นก้อนเดียว เพื่อลดภาระการผ่อนชำระ โดยลดดอกเบี้ยให้ถูกลง ระยะเวลาผ่อนส่งยาวขึ้น พักชำระดอกเบี้ยให้แก่ครูที่เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงิน โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้มีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี โดยชำระเพียงเงินต้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ครูทั่วประเทศ

ก็หวังว่าการขับเคลื่อนของรัฐบาลใน “นโยบายแก้หนี้ทั้งระบบ” จะสร้างแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะหากไม่เป็น “หนี้” ความสุขของคนไทยก็จะกลับคืนมา