บทความพิเศษ / : ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
กิจกรรมตามไทม์ไลน์โครงการธนาคารขยะ
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เริ่มขับเคลื่อนโครงการฯ นับตั้งแต่วันที่ 1-2 มกราคม 2567 (แต่ประชุมซักซ้อมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567) มีกิจกรรมตามเป้าหมายระยะที่ 1 (20 วัน) ภายในวันที่ 22 มกราคม 2567 ดังนี้ 1. มีการสํารวจข้อมูลขยะมูลฝอยระดับครัวเรือน การจัดการขยะมูลฝอย การคัดแยกขยะมูลฝอย การรีไซเคิลขยะ และผู้ประกอบการับซื้อขยะรีไซเคิลในพื้นที่ 2. มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น 3. มีการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารธนาคารขยะ และจัดตั้งคณะทำงานชุมชน/หมู่บ้าน เป้าหมายระยะที่ 2 (40 วัน) ภายใน 9 กุมภาพันธ์ 2567 ดังนี้ 1. ประชุมและแต่งตั้งคณะทำงานฝ่ายต่างๆ 2. มีการจัดทำระเบียบ/ข้อบังคับธนาคารขยะ 3. มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน เป้าหมายระยะที่ 3 (60 วัน) ภายใน 29 กุมภาพันธ์ 2567 ดังนี้ 1. มีการเปิดรับสมาชิกธนาคารขยะชุมชน/หมู่บ้าน 2. มีการประชุมทำความเข้าใจ สร้างองค์ความรู้ในการคัดแยกขยะรีไซเคิล
สถ.ประชุมแจ้งเพียงว่าซักซ้อมแนวทาง ไม่ได้มีการสั่งหรือขอความร่วมมือเหมือนว่ากั๊กไว้ และให้อำเภอจังหวัดจี้ อปท.แทน ฝ่ายผู้บริหารท้องถิ่นและฝ่ายประจำท้องถิ่นก็คงลำบากใจบ้าง แต่ด้วยภารกิจหน้าที่ก็ต้องดำเนินการ แม้จะไม่ปฏิเสธแต่ก็ทำตามสไตล์ของนักการเมืองท้องถิ่นที่ต้องคำนึงถึงฐานเสียงตัวเองบ้าง และข้าราชการส่วนท้องถิ่นก็ต้องทำงานตามกรอบโครงสร้างของ อปท.ที่กำหนดไว้ หากมีภารกิจเนื้องานมาเพิ่ม โดยไม่สัมพันธ์กับกรอบโครงสร้าง และงบประมาณที่มีหรือได้รับการจัดสรร แต่หากพิจารณาว่า “โครงการคัดแยกขยะ โครงการธนาคารขยะ” เป็นช่องทางเลือกหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ แต่กาลเวลานี้เป็นว่า อปท.ถูกบังคับให้ทำ “ไม่ใช่ทางเลือก” ย่อมเกิดปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน ที่จะส่งผลต่อระบบการรายงานผลที่ขาดความรับผิดชอบ ขาดความถูกต้อง ข้อมูลจากรายงานขาดความน่าเชื่อถือ ไม่เที่ยงตรง เพราะ เป็นการกรอกข้อมูลส่งเดชไปในระบบที่ไม่ถูกต้อง ในการดำเนินการก็เพียงแค่การยกระดับความรับผิดชอบและความใส่ใจจากงานรูทีนที่ทำไปเรื่อยๆ ปรับตัวปรับใจมาทำเป็นงานนโยบายที่สูงขึ้น เอาใส่ใจและใช้พลังงานที่มากขึ้น ที่อาจไม่สอดคล้องกับทรัพยากรการบริหารงานบุคคลที่ท้องถิ่นอยู่ ณ ปัจจุบันก็ได้ เพราะหากเป็น อปท.ขนาดเล็กจะขาดบุคลากร แต่หากเป็น อปท.จะขาดความร่วมมือเพราะความเป็นชุมชนเมือง (Urban) ก็จะขาดความร่วมมือจากชุมชน หลายแห่งมีองค์กรเอกชนต่างๆ เขาดำเนินการเองแล้ว โดยที่ อปท.ไม่ต้องเข้าไปบริหารจัดการเลย เช่น อาจดำเนินการใน รร. ในวัด หรือมีร้านค้าเอกชนดำเนินการ โดยเฉพาะซาเล้ง และหลายแห่ง อปท.มีโมเดลการบริหารจัดการขยะที่ดีอยู่แล้ว จากที่ได้ดำเนินการโครงการคัดแยกขยะมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะดำเนินการด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม การรณรงค์ครั้งนี้เสมือนว่ามาทวนสอบ มาดูว่าในแต่ละชุมชนสามารถดำเนินการได้เพียงใดหรือไม่ นอกจากการเคลื่อนไหวของข้อมูลในระบบที่ อปท.จะต้องลงข้อมูลแล้ว การประชาสัมพันธ์รณรงค์พร้อมๆ กันทั่วประเทศในคราวเดียวกัน จึงเป็นการปลุกกระแสโครงการ เป็นอีเวนต์เสียมากกว่า ควรมาเคร่งครัดในระบบฐานข้อมูลการรายงาน และข้อมูลเชิงระบบน่าจะดีกว่าการรณรงค์แบบ “เสื้อโหล” ที่ให้ท้องถิ่นทุกแห่งทั่วประเทศทำแบบเดียวกัน ทำเหมือนๆ กัน นี่เป็นข้อจำกัดที่สำคัญ
อย่างไรก็ตามนโยบาย ลดขยะ แยกขยะ ที่ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ทุกหน่วยราชการต้องทำ เพราะเป็นนโยบายรัฐ และปัจจุบัน งานกำจัดขยะเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยตามแผนการมอบอำนาจของคสช. ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ กรมควบคุมมลพิษ (พ.ศ.2559-2564) ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560 ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 34/1 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคเจ็ด แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 แก้ไข(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560
การ Re X-ray และการสั่งการจากเบื้องบนโดยส่วนกลาง
เมื่อพูดสอบถามถึงการ Re X-ray ถังขยะเปียก ช่วงที่ผ่านมามีการดำเนินการในรอบที่สามแล้ว ตรวจสอบกันทุกจังหวัดเหมือนกัน เพราะมีหนังสือมาจากส่วนกลาง ทำเอาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่สาละวนกับโครงการธนาคารขยะต้องแยกร่างทำรายงาน เพราะเป็นครงการที่มาอยู่ในห้วงเวลาเดียวกัน ที่แม้จะต่างกิจกรรมกัน แต่อย่าลืมว่ามันเป็นโครงการที่มีเป้าหมาย “การลดปริมาณขยะจากต้นทาง" เหมือนกัน
เมื่อก่อนนี้ช่วงที่มีการเปลี่ยนเทคโนโลยีมือถือ จาก 2G 3G 4G จะมีมือถือเก่าเป็นจำนวนมาก ท้องถิ่นก็เป็นต้นทางในการกำจัดขยะอันตรายเหล่านี้ เช่น การส่งมือถือเก่าใช้แล้วไปกำจัด ใครได้มาก ก็ได้รางวัลเป็นสื่อการสอนและประกาศชมเชย เพราะโทรศัพท์มือถือเก่าถ้าแกะจะมีทองคำขาว เอกชนจึงทำแลกเปลี่ยนของใช้เพื่อเอาไปแกะทองคำขาว หรือในเขตอุตสาหกรรม หรือเขตโรงงานที่มีปริมาณขยะมาก การคัดแยกขยะ เพื่อขายก่อนเป็นสิ่งจำเป็น เช่นให้เอกชนเข้าไปรับซื้อขยะเสียก่อน เพื่อลดปริมาณขยะที่เหลือทิ้งจริงๆ บางพื้นที่ก็เป็นแหล่งให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะได้เข้าไปจัดการกับขยะที่รีไซเคิลได้เสียก่อนก็ได้ ซึ่งเป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของเอกชน คือโรงงานเหล่านี้ก็ต้องอาศัย อปท.ในการช่วยกำจัดขยะนั่นเอง
จะสั่งการให้ท้องถิ่นทำหรือขอความร่วมมือให้ท้องถิ่นทำก็ได้ เพราะเป็นงานของ เทศบาล อบต. หรืองานของจังหวัด อำเภอ ที่ต้องบบูรณาการร่วมกันตามนโยบาย “วาระขยะแห่งชาติ” ที่กระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานให้ อปท.เป็นผู้ดำเนินการในภาคสนามในระดับชุมชน ประมาณว่าหนังสือสั่งให้ทำต้องทำหรือแม้จะบอกว่าขอความร่วมมือก็ต้องทำ งานรักษาความสะอาดและการกำจัดขยะถือเป็นภารกิจหน้าที่เป็นนโยบายของท้องถิ่นในฐานะนิติบุคคลและเป็นทบวงการเมืองตามกฎหมาย มีอำนาจบริหารได้เอง อำเภอ จังหวัด กรม กระทรวง ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาที่จะสั่งการโดยตรง แต่เมืองไทยกระทรวงกรมก็จะแฝงอำนาจอ้างหน้าที่มาสั่งการให้ท้องถิ่นทำงานแทน มาในรูปการณ์ขอความร่วมมือบ้าง การบูรณาการบ้าง การขอรับการสนับสนุนงบประมาณทรัพยากรหรือกำลังคนบ้าง หรือในระยะหลังๆ ก็จะมาในรูปของบันทึกข้อตกลงร่วมกันหรือที่เรียกกันว่า “MOU” มีมากมายไปหมด แล้วบางเรื่องเป็นงานในหน้าที่ของ อปท. ก็ยังมี MOU งานไม่ใช่หน้าที่ก็มี MOU มันมากงานก็ล้นมือ และนอกจากนี้ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ผู้บริหารท้องถิ่นก็ต้องเข้าใจในบริบท และจะบริหารงานอย่างไรให้เป้าหมายเกิดผล เพราะข้อจำกัดเรื่องงบประมาณทรัพยากรและบุคคลกรของ อปท.ย่อมมีจำกัด บางครั้งส่วนกลางอาจไม่กล้าสั่งการตรงๆ เพราะอาจฝ่าฝืนอำนาจกฎหมาย หากผิดพลาดก็ต้องถูกโดนฟ้อง โดยเฉพาะคดีปกครองหรือคดีอาญาได้ ต้องดูเป็นรายกรณีไป แต่ปกติเมื่อกฎหมายกำหนดให้ท้องถิ่น มีหน้าที่ท้องถิ่นก็ต้องทำ โดยหลักวิธีการก็ต้องท้องถิ่นเป็นผู้คิด ถ้าดีก็โอเค ถ้าไม่ดี อปท.เขาก็คิดปรับเปลี่ยนกลยุทธเอง อาจไม่ทำตามแนวทางที่บอกมาก็ได้ เพราะ อปท.เขาก็จะหาวิธีอื่นทำให้ดีตามบริบทของเขา ดังนั้น หน่วยงานอื่นจะให้ อปท.ทำตามที่เขาคิดทุกขั้นนตอนตามรายละเอียด ก็ต้องตอบโจทย์ได้ว่ามีกฎหมายกำหนดอำนาจไว้อย่างนั้นหรือไม่ อย่างไร ทำแล้วเกิดประโยชน์อย่างต่อสาธารณะบ้าง ที่สำคัญควรดูศักยภาพและบริบทของ อปท.นั้นๆ ด้วย เช่น บาง อปท.ขนาดเล็ก อยู่บนเขา อยู่ในทะเล หรืออยู่ห่างไกล ปริมาณขยะ หรือเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ (Facilities) ก็ขาด หรือไม่มี หรือไม่จำเป็นต้องมี เขาก็ใช้วิธีการบริหารจัดการขยะของเขาเอง แม้ว่า “วาระขยะแห่งชาติ” และ “วาระการลดโลกร้อน” จะเป็นวาระแห่งโลก ที่เชื่อมโยงกัน เช่น การเผาหญ้า เผาขยะในที่ห้าม โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชนบทบ้านนอกถือเป็นสิ่งต้องห้าม ฉะนั้นการบริหารจัดการขยะ หรือการกำจัดขยะในพื้นที่ชนบทบ้านนอกหรือชนบทพิเศษ (เช่นเกาะ หรือ มีเขตอุตสาหกรรม) หรือที่อยู่ห่างไกล จึงต้องมีรูปแบบพิเศษของตนเอง จะทำเหมือน อปท.อื่นทั่วไปคงไม่ได้ ยิ่งหากเป็นขยะพิเศษ เช่น ขยะพิษ ขยะอันตราย ขยะอุตสาหกรรมยิ่งกำจัดได้ยุ่งยากขึ้น แม้ว่าขยะในเขตบ่อขยะที่มีปริมาณขยะมาก จะเป็นที่หมายปองเป็นแหล่งพลังงานในรูป RDF (Refuse Derived Fuel) หรือขยะที่นำไปทำเป็นเชื้อเพลิงใช้ในอุตสาหกรรม เช่น บริษัท TPI ก็จะมีการรับซื้อขยะที่มีตัดแยกและการย่อยสับขยะแล้วเป็นจำนวนมาก ที่บางพื้นที่อาจราคานี้สูงถึงตันละ 1,800 บาทก็ได้ หรือขยะที่นำไปผลิตไฟฟ้า จากพลังงานชีวมวล (Biomass Energy) จากใบไม้ใบหญ้าเศษไม้ ก็มีมูลค่ามากเช่นกัน
ภารกิจงานหลายเรื่อง หน่วยงานกำกับดูแล เพราะการคิดสั่งมาจากข้างบน ไม่รู้บริบทแต่ละพื้นที่ เช่น เรื่องอาชีพคนรายได้น้อยที่เกี่ยวข้องกับขยะมันจะสัมพันธ์กันหมด การเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการขยะไปเรื่อยๆ แต่การไม่ให้มีระบบผูกขาดที่คุมครบวงจรของนายทุน ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้โอกาสชาวบ้านตาสีตาสาในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท และ ชาวบ้านรายได้น้อยในเขตเมือง ซาเล้ง เป็นต้น
สำนึกรับผิดชอบในความเสื่อมของระบบ
การที่มีผู้ลักลอบทิ้งขยะมีพิษหรือกากของเสีย ปลัดท้องถิ่นย่อมมีอำนาจดำเนินการตามที่อธิบดีฯได้มอบหมาย แต่ในข้อเท็จจริงนั้น เจ้าหน้าที่จะไม่มีสิทธิได้กระทำจริงเลย จะบอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่รับผิดชอบ ไม่มีสำนึก ก็ว่าได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นข้าราชการท้องถิ่นต่างล้วนตกอยู่ในสภาวะ “อยู่ให้เป็น” เสียมากกว่า การจะคิดทำงานใดโดยนอิสรเสรีเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง เพราะระบบมันผิดฝามาแต่แรกในหลายเรื่องแล้ว เรื่องขวัญกำลังใจ เรื่องงานบริหารงานบุคคลของข้าราชการส่วนท้องถิ่นแทบไม่ได้มีการให้คะแนนให้รางวัลกันเลย มาพักหลังความเสื่อมเหล่านี้ได้สะสมมากขึ้นๆ
วกมาพูดการเมืองเรื่อง “ความเสื่อมของการบริหาร อปท.” คือ ความเสื่อมของนักการเมืองระดับชาติ จากการหาคะแนนนิยม แต่ไปก้าวล่วง ระเบียบ วัฒนธรรมอันดี และ การไปแก้ไข กฎหมาย ระเบียบ ให้ผิดเพี้ยนจากการอำนวยความยุติธรรมของส่วนรวม กลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ตนเอง หรือกลุ่มตนเอง อันเป็นที่มาของการฮั้วกันตามกฎหมาย ป.ป.ช.ในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง หากมีความผิด ก็จะทำให้นักการเมืองท้องถิ่นและข้าราชการท้องถิ่นถูกชี้มูลความทางอาญา และทางวินัย ทำให้เสียอนาคตเป็นจำนวนมาก เพราะถูกปลดออก ไล่ออกจากราชการ แม้ว่าการบริหารงาน อปท.นั้นก็ต้องยึดตาม กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ “การงบประมาณตามแผนงาน” การวางแผนมีการประชุมประชาคมชุมชนมาแล้ว มีการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน ในการกำหนด พันธกิจ เป้าหมาย จุดหมาย โครงการร่วมกัน แต่ดูๆ ที่ผ่านมา สิ่งที่กำหนดไว้หลายโครงการ ก็ต้องมาปรับเปลี่ยน ไปตามการจัดสรรงบประมาณ การต้องทำตามนโยบายจากส่วนกลาง รวมถึงการจี้ การติดตามงานโดยคน สถ. รวมทั้งกลุ่มผลประโยชน์ของผู้บริหารท้องถิ่น ที่แตกต่างออกไปจากเจตนาของประชาคมท้องถิ่น เรียกได้ว่า หาช่องแก้ไขโครงการตามแผนพัฒนาจนแผนอาจไม่เป็นแผนก็ได้ คนคิดกิจกรรมให้ท้องถิ่นทำเขาคิดได้ทุกอย่าง นโยบายแบบนี้ คนทำไม่ได้คิด คนคิดไม่ได้ทำ หากผิดพลาดมาส่วนกลางคนคิดไม่มีอะไรที่ผิดเลย ป.ป.ช.เขาไม่ได้ชี้มูลผู้กำกับดูแลที่สั่งการมาทั้งสั่งในแบบและนอกแบบเลย นโยบายผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม พ.ศ.2504 นี่ยังหลงยุคมาถึงยุค 5G ที่ไม่น่าจะเหลือแล้ว
การบริหารจัดการโครงการธนาคารขยะชุมชนรีไซเคิล มองมุมเดียวใช้นโยบายเดี่ยว
ภาคราชการส่วนกลางทำงานแบบอิงข้อมูล ทำผลงานสถิติออกเป็นตัวเลข กระบวนการที่ได้มาซึ่งตัวเลขโดย 1.ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน 2.คน อปท. 3.สำรวจเองโดยเจ้าหน้าที่หรืออาจจ้างสำรวจ ดังนั้น ความเชื่อถือในข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นมาก ว่าข้อมูลนั้นถูกต้องเที่ยงตรงนำไปใช้ได้หรือไม่ การถนัดตกแต่งตัวเลขสถิติให้ดูดี มันคงใช้ไม่ได้ในโลกปัจจุบันที่ข่าวสารไร้พรมแดน ต่างคนต่างเห็นต่างรู้ เพราะสถิติตัวเลขเหล่านี้ก็จะไปเขียนเป็นแผนพัฒนา, โครงการ, นโยบาย หรืออาจเป็นถึงยุทธศาสตร์ชาติ วาระแห่งชาติ ต่อไป เทคนิคการกำจัดขยะจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ล้วนมีการนำงบประมาณออกมาใช้กันทั้งนั้น ยิ่งทั้งในอดีตและปัจจุบันโครงการใหญ่ๆ ล้วนถูกกำกับควบคุมโดยภาคราชการส่วนกลาง ทั้งสิ้น เช่น เตาเผาขยะ บ่อบำบัดน้ำเสีย การระบายน้ำเสีย ควบคุมโดยหน่วยงานกระทรวงมหาดไทย โครงการคัดแยกขยะ ฝังกลบขยะ จะควบคุมโดยหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) การจัดสรรงบประมาณโครงการขนาดใหญ่ๆ ล้วนต้องผ่านความเห็นชอบและควบคุมโดยหน่วยงานเหล่านี้ กระบวนการล็อคสเปค กระบวนการสร้างกรอบกติกา อนุมัติ อนุญาต ล้วนมาจากหน่วยงานเหล่านี้ แต่สำหรับปลายทาง หรือ คนที่ต้องทำงานจริงก็คือ คน อปท. หาก อปท.ใด มีความสัมพันธ์อันดี (Connection) หรือมีกลุ่มนักการเมืองเชื่อมโยงในศูนย์กลางการตัดสินใจ มักจะได้รับการอนุมัติงบประมาณเหล่านี้มาดำเนินการได้ ตรงกันข้ามหาก อปท.ใด ไม่มีส่วนสัมพันธ์ ก็จะไม่ได้รับการอนุมัติ แม้ว่าจะมีองค์กรที่จัดตั้งบริหารแบบเอกชน ตั้งโดยหน่วยงานราชการ เช่น สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มาสำรวจข้อมูล เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจอนุมัติก็ตาม ล้วนต่างก็อยู่ในการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดล้วนอยู่ในกำกับของส่วนราชการที่กำกับดูแลที่จะจัดสรรงบประมาณมาให้ แม้ว่าสำนักงบประมาณจะใช้ระบบให้ อปท.ของบประมาณตรงก็ตาม มันเป็นธรรมเนียมในสายเลือดที่ต้องแก้ กฎหมายวินัยการเงินการคลังไม่ต้องพูดถึง หลังจากใกล้หรือเสร็จสิ้นการก่อสร้างแล้ว ก็จะส่งมอบความรับผิดชอบโครงการนั้นๆ ให้ อปท.บริหาร โดย อปท.ไม่มีโอกาสแก้ไข ปรับแต่งงานได้เลย แถมการบังคับตามสัญญา รับประกันผลงาน ยังเป็นของหน่วยงานกำกับควบคุมนั้น หากมีการชำรุดก็ต้องแก้ไข อปท.ก็ไม่มีอำนาจบังคับสัญญาประกันผลงานเลย นี่แหละคือปัญหาที่ อปท.ต้องเผชิญอยู่ การกำกับ ชี้นำ บังคับว่า อปท.ต้องทำอย่างนี้ อย่างนั้น ห้ามทำอย่างนี้ อย่างนั้น หาก อปท.ใดปฏิบัติไม่เป็นไปตามนั้น ก็มีเครือข่ายนักร้องทั้งตัวจริงตัวปลอมเฝ้าติดตามร้องเรียน “ชี้เบาะแส”
งานอาสาสมัครจิตอาสาซ้ำซ้อนกัน ใครเป็น Watch dog/Whistleblower กันแน่
“อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” (อถล. Local Environment Volunteer : LEV) คือ บุคคลที่มีความสนใจ มีความสมัครใจ มีความเสียสละและอุทิศตน ในการทำงานด้านการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย การปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง โดย มท. “อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน” (ทสม. Natural Resources and Environmental Protection Volunteer : NEV) คือ บุคคลที่มีความสนใจมีความเสียสละ และอุทิศตนในการทำงานด้านการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง โดย "กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม" หรือ "กรมโลกร้อน" ที่เปลี่ยนชื่อเดิม "กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม" ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป มีข้อสังเกตว่าอาสาสมัครทั้งสองชุดเหมือนกัน น่าจะมีภารกิจที่ซ้ำซ้อนกัน หรือ เป็นภารกิจเดียวกัน แต่จัดตั้งคนละห้วงเวลา มท.จัดตั้งราษฎรจิตอาสา "อถล." ในปี 2561 แต่ ทส.จัดตั้ง "ทสม." ในปี 2562 จากการวิเคราะห์เห็นว่า “ทสม.” จะเป็น “หมาเฝ้าบ้านให้แก่ ทส.” ได้ดีกว่าคนอื่น เพราะหากมีการบริหารงานที่ “ไม่ชอบไม่ถูกต้องฯ” ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในพื้นที่ใด ทส.ก็จะรับทราบเหตุนั้นก่อน และอีกอย่างเป็นภารกิจงานในหน้าที่โดยตรงของ ทส.มิใช่ มท. ดูไปมามันน่าจะซับซ้อนเกินไปสำหรับท้องถิ่นในเรื่องง่ายพื้นๆ
มีคำถามว่าโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอน มีเทน ก๊าซไข่เน่า จากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยพบข้อมูลว่างานการก่อสร้างปลดปล่อยคาร์บอนถึง 40% ดังนั้นโลกร้อนจากกิจกรรมอื่นเช่นขยะ จึงน้อยกว่าการมาให้น้ำหนักลดโลกร้อนไม่ตรงจุด แถมลงทุนมากจะบอกว่า อปท.มีหน้าที่ก็ทำไปตามที่สั่งก็ใช่ที่ เพราะท้องถิ่นคงมิใช่หนูทดลอง