ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
บ่อยครั้ง “ความเชื่อ” มีไว้เพื่อประนีประนอมให้ยินยอม และหลายครั้งมีไว้เพื่อโน้มน้าวให้เชื่อฟัง
ถ้าจะว่าไปแล้ว ลุงคำปันในวัย 50 ต้น ๆ กับนางติ๊บในวัยย่าง 20 ก็ออกจะมีอายุค่อนข้างห่างกัน จนคนทั้งหลายก็ไม่สงสัยว่า ทำไมคนทั้งสองจึงไม่มีลูกด้วยกันสักที หนุ่ม ๆ แถวบ้านท่อและตำบลป่าตันในละแวกบ้านริมปิงของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ชอบที่จะมาเกาะแกะนางติ๊บ ด้วยคิดว่าลุงคำปันคงไม่มีน้ำยา ในขณะที่นางติ๊บก็คงยังมีอารมณ์และความรู้สึกแบบสาวรุ่นทั่วไป ซึ่งหนุ่ม ๆ เหล่านั้นคิดว่าลุงคำปันคง “บ่มีไก๊” หรือ “ไร้น้ำยา” และคิดว่านางติ๊บคงจะมีใจให้กับหนุ่ม ๆ ที่มีอายุไล่เลี่ยกันนั้นบ้าง แต่ก็ผิดคาด เพราะนางติ๊บก็ยังเฉยเมยกับหนุ่ม ๆ ทุกคน จนหนุ่ม ๆ ทั้งหลายท้อถอย และแอบเรียกนางติ๊บว่า “นางชี”
คำที่เรียกนางติ๊บว่านางชีนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล เพราะนางติ๊บชอบที่จะเข้าโบสถ์เป็นประจำ โบสถ์คริสต์ประจำหมู่บ้านนั้นก็ตั้งอยู่เยื้อง ๆ หน้าบ้านของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั่นเอง ตรงกันข้ามกับลุงคำปันที่ไปเฉพาะวันอาทิตย์ที่เป็นวันหยุดงานและมีสวดประจำทุกสัปดาห์นั้น สำหรับนางติ๊บแล้วแม้วันธรรมดา บางทีก็ช่วง กลางวัน ๆ หรือค่ำ ๆ ก็เห็นเข้าไปกราบขอพรหน้าแท่นบูชาในโบสถ์อยู่เป็นเวลานาน ๆ จนผู้หญิงด้วยกันก็ยังสงสัยว่านางติ๊บจะมีอะไรผิดปกติ เช่น ป่วย หรือไม่สบายใจอะไรหรือไม่ แต่พอมีคนไปถาม นางติ๊บก็ตอบแบบยิ้ม ๆ ว่า ไม่มีอะไร เพียงแต่ชอบมาหาความสงบ และขอพรเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อความสบายใจ ซึ่งพอถามต่อไปว่าไม่สบายใจเรื่องอะไร นางติ๊บก็ยิ้มอาย ๆ และตอบว่า “ก็รู้ ๆ กันอยู่”
ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความสงสัยในชีวิตคู่ของคนทั้งสอง และก็ได้พยายามที่จะ “ล้วงความลับ” อยู่ในบางโอกาส จนผ่านไปสัก 2-3 ปีที่ผมติดตามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปอยู่ที่บ้านริมปิง จึงพอจะเข้าใจว่าชีวิตคู่ของลุงคำปันกับแม่ติ๊บนั้นไม่ได้มีปัญหา เพียงแต่คนที่ไม่เข้าใจแนวคิดของคนทั้งสองก็อาจจะมองไปผิด ๆ และคิดว่ามีปัญหามาก ซึ่งถ้าทุกคนได้รู้สิ่งที่ผมได้ปะติดปะต่อ ก็จะหายสงสัยและน่าจะให้ความเห็นใจว่า ทั้งสองคนก็มีเหตุผลที่น่ารับฟัง และที่สำคัญเป็นเหตุผลที่ทำให้โลกนี้ยังน่าอยู่ แม้ชีวิตจะมีอุปสรรคต่าง ๆ ขวางกั้น
ลุงคำปันบอกว่านางติ๊บมีความเชื่อในเรื่อง “พรหมจารี” ด้วยความที่นับถือในพระเยซูเจ้า เธอพอรู้มาว่าพระแม่มารี พระมารดาของพระเยซูเป็นสาวพรหมจารี ซึ่งเธอคิดว่าความเป็นพรหมจารีจะทำให้มีชีวิตที่ดี ตั้งแต่ที่นางติ๊บเป็นเด็ก ๆ อาศัยอยู่ในตลาดหลังสถานีขุนตาน และถ้าเดินทางต่อไปตามเส้นทางรถไฟ ก็จะต่อไปถึง บ้านทา และลำพูน ซึ่งนางติ๊บเคยตามพ่อกับแม่ไปส่งผักที่นั่น โดยรับผักมาจากญาติ ๆ ที่รวมกันปลูกผักหลายชนิดตามลำเหมือง (รางส่งน้ำเล็ก ๆ ของไร่นาทางภาคเหนือ) ที่ลำพูนเป็นตลาดใหญ่ มีคนอยู่หนาแน่น รวมถึงร้านค้าหลาย ๆ ประเภท ที่รวมถึงร้านดื่มกิน และ “บ้านแม่ญิงกลางตลาด” หรือโรงโสเภณี แม่บอกว่าผู้หญิง(ที่คนเหนือใช้คำว่า “แม่ญิง”)พวกนี้เป็นคนบาป ทุกคนห่างไกลพระเจ้า (เพราะส่วนหนึ่งก็คือพวกที่ไม่ได้นับถือคริสต์ศาสนา) พวกนี้จะมีชีวิตที่ทุกข์ยากลำบาก และหลายคนต้องเจ็บป่วยติดเชื้อโรค ทุกข์ทรมาน ซึ่งเป็นภาพและเสียงที่ฝังใจนางติ๊บ ทำให้เธอทั้งเกลียดและกลัวผู้ชาย รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์และการมีลูก
ผมตกใจที่ได้ยินแบบนั้น แต่ก็ยังสงสัยอีกว่า แล้วทำไมนางติ๊บจึงยอมแต่งงานกับลุงคำปันเล่า โดยทราบมาว่านางติ๊บเป็นฝ่ายโวยวายว่าลุงคำปัน “ผิดผี” หรือ “ได้เสีย” กันแล้วมิใช่หรือ ลุงคำปันตอบว่าผิดผีนั้นแค่จับเนื้อต้องตัวก็ผิดผีแล้ว แต่ได้เสียกันนั้นเป็นความเข้าใจของคนอื่น ซึ่งแม้จะแต่งงานกันมาแล้วหลายปี ลุงคำปันก็ยังไม่เคยล่วงเกินนางติ๊บเลย แม้แต่จะกอดหรือหอมแก้ม แต่ในวันที่เกิดเหตุ(ลุงคำปันจับเนื้อตัวนางติ๊บ)นางติ๊บร้องไห้หนักมาก ลุงคำปันเองก็ตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ถามว่าจะให้ช่วยยังไง นางติ๊บจึงเล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนที่ลุงคำปันมาชวนว่าจะให้ไปช่วยปลูกผักที่บ้านริมปิงเชียงใหม่ นางติ๊บก็คิดอยากจะไปด้วย เพราะฝันถึงเชียงใหม่มาตั้งแต่เด็ก ๆ เคยบอกพ่อแม่ที่พาลงมาส่งผักถึงลำพูนแล้ว ให้พาไปเที่ยวเชียงใหม่สัก 2-3 วัน พ่อแม่ก็ไม่เคยพาไป ความฝันนั้นจึงวนเวียนอยู่ในหัวมาโดยตลอด แล้วพอมี “ผู้เฒ่า” ในวัยกลางคนแบบลุงคำปันมาเอ่ยปากชวนไปอยู่ด้วย ก็เลยรีบรับปากในทันที เพราะคิดว่าคนในวัยขนาดนี้คง “บ่ฮ้ายบ่ดี” คือไม่มีอันตรายใด ๆ อย่างหนึ่งที่เธอคิดเอาเองก็คือ คงมีแรงไม่พอที่จะปล้ำเธอทำเมียหรือ “ขืนใจ” เธอ
นางติ๊บให้ลุงคำปันรับปากว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวในแบบผัวเมียกับเธอ โดยอ้างแบบอาย ๆ ว่า เธออยากเป็น “สาวนิรมล” แบบ “แม่พระนิรมล” อย่างพระนางมารี ลุงคำปันตอนนั้นก็ไม่คิดอะไร เพียงแต่คิดว่าเรื่องนี้คงต้องใช้เวลา แต่งงานไปเดี๋ยวธรรมชาติก็จะนำพาไปเอง แต่พอมาอยู่ด้วยกัน แม้จะนอนห้องและ “สะหลี” หรือฟูกติดกัน นางติ๊บก็ยังระมัดระวังตัวอยู่เสมอ บางครั้งลุงคำปันก็ดื่มเหล้าย้อมใจให้ใจกล้า ๆ พอเฮอะฮะจะเข้าใกล้ นางติ๊บก็หนีออกมาจากห้อง บางคืนก็ขังตัวอยู่ในห้องน้ำจนสว่าง แต่พอเช้านางติ๊บก็มาปลุกให้ลุงคำปันลุกขึ้นไปทำสวน รวมถึงเตรียมอาหารการกินให้ตามปกติ จนที่สุดลุงคำปันก็หมดความพยายามและทำใจว่าคงไม่มีหวังที่จะได้มีอะไร ๆ กับนางติ๊บนั้นแล้ว
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ขึ้นไปเชียงใหม่ปีละหลาย ๆ ครั้ง โดยเฉพาะในหน้าหนาว โดยจะเริ่มลงกล้าผักและดอกไม้ในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี ที่ท่านเรียกประเพณีส่วนตัวของท่านนี้ว่า “วันนัดกับพระเจ้า” (คือนัดปลูกผักและสร้างโลก ทำนองนั้น - ฮา) จากนั้นก็จะเทียวขึ้นเทียวลงตลอดหน้าหนาว จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะทิ้งช่วงห่างไป เป็นมาบ้างเดือนเว้นเดือน ระหว่างนี้ที่บ้านริมปิงก็จะมีลุงคำปันกับแม่ติ๊บอยู่เฝ้าบ้านและดูแลสวนอยู่ประจำเท่านั้น ผมเองถ้ามีโอกาสก็จะลาราชการไปช่วยท่านปลูกผักและดอกไม้อยู่เป็นระยะ จนถึง พ.ศ. 2536 ต้นปี ท่านเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ และต้องไปนอนอยู่ในโรงพยาบาล บ้านริมปิงก็เงียบเหงา ยิ่งเมื่อท่านเจ้าของบ้านถึงอสัญกรรมในปลายปี 2538 บ้านริมปิงนี้ก็เหมือนสิ้นวิญญาณไปในทันที
บ้านริมปิงนั้นภายหลังอยู่ในความดูแลของ ม.ล.รองฤทธิ์ ปราโมช บุตรชายของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ แต่ลุงคำปันและนางติ๊บก็ยังถูกจ้างเป็นคนทำสวนอยู่ต่อไป จนในปี 2544 นางติ๊บก็เสียชีวิต ในวัยแค่ 40 ปี ร่ำลือกันว่าเป็นเนื้อร้ายที่ช่องท้อง(มดลูก) ส่วนลุงคำปันในวัย 70 กว่า ๆ ก็ขอลาออกด้วยแก่ชรา ไปอยู่ที่บ้านร่วมกับลูก ๆ ของพี่ชายกับน้องสาวบนขุนตานตามเดิม โดยได้ทำเซอร์ไพรส์แต่งงานกับเด็กสาวคราวหลาน และมีลูกด้วยกันถึง 2 คน เป็นชาย 1 หญิง 1 ซึ่งมีคนไปเห็นว่าลูกผู้หญิงนั้นหน้าตาเหมืองนางติ๊บยังกะแกะ ที่บางคนบอกว่า นางติ๊บคงจะกลับชาติมาเกิด ตามความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้านั้น
พระเจ้า เทวดา หรือผีสาง จะมีจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ความเชื่อเหล่านี้คงจะมีอยู่ต่อไปอีกนาน!