พาณิชย์เผยภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าปี 66 ส่วนใหญ่ขยายตัวไม่มากนัก ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น จับตาขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ภัยธรรมชาติ และมาตรการภาครัฐใกล้ชิด
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าเฉลี่ยปี 2566 โดย ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ดัชนีราคาส่งออก และดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ขยายตัวไม่มากนักและชะลอตัวจากปี 2565 อย่างชัดเจน ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคานำเข้า ลดลงจากปี 2565 การชะลอตัวและลดลงของดัชนีราคาในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดลงของราคาพลังงาน ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับที่มีความเชื่อมั่นตลอดทั้งปี ทั้งนี้ ในปี 2567 คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างจะชะลอตัวลงจากปี 2566 ส่วนดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนในไตรมาสแรกของปี 2567 คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานของภาครัฐที่มีต่อเนื่องจากปี 2566 ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้า คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นและอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย และภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) ดัชนีราคาผู้บริโภค เฉลี่ยทั้งปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 1.23 (AoA) ชะลอตัวค่อนข้างมากจากปี 2565 ที่สูงขึ้นร้อยละ 6.08 ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินระหว่างร้อยละ 1.0 – 3.0 เนื่องจากราคาสินค้าบางกลุ่มปรับลดลงอย่างชัดเจน อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง ที่ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ รวมถึงเนื้อสุกร และเครื่องประกอบอาหาร อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังคงปรับสูงขึ้นตามการบริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่อง ปี 2566 จึงยังไม่มีสัญญาณที่สะท้อนว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2566 และอยู่ในระดับต่ำ ระหว่างร้อยละ (-0.3) – 1.7 ค่ากลางร้อยละ 0.7 เนื่องจากภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง
2) ดัชนีราคาผู้ผลิต เฉลี่ยทั้งปี 2566 เทียบกับปี 2565 ลดลงร้อยละ 2.4 (AoA) ตามราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้ากลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องลดลงค่อนข้างมาก ประกอบกับปัจจัยกดดันด้านอุปสงค์ จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวไม่เป็นไปตามที่คาด การแข็งค่าของเงินบาท และภาคการส่งออกที่ลดลง ส่งผลให้ทั้งผลผลิตและราคาสินค้าในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉลี่ยปรับลดลงกว่าปี 2565 อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารยังคงปรับตัวสูงขึ้น จากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากสภาพอากาศแปรปรวน สำหรับแนวโน้มปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย จากภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มอุปสงค์โดยรวมของประเทศ และฐานราคาปี 2566 ที่อยู่ระดับต่ำ
3) ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เฉลี่ยทั้งปี 2566 เทียบกับปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ0.1 (AoA) ชะลอตัวค่อนข้างมากจากปี 2565 ที่สูงขึ้นร้อยละ 5.7 โดยได้รับแรงกดดันจากราคาสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณเหล็กส่วนเกินที่เกิดจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีน กดดันให้ราคาเหล็กปรับลดลงทั้งตลาดโลกและไทย ประกอบกับช่วงไตรมาสที่ 4 ภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น และการลงทุนในโครงการภาครัฐปีงบประมาณ 2567 ที่ล่าช้า ทำให้ความต้องการวัสดุก่อสร้างในภาพรวมลดลง สำหรับแนวโน้มปี 2567 คาดว่าจะทรงตัวและอยู่ระดับใกล้เคียงกับปี 2566 โดยมีปัจจัยกดดันจากปัญหาหนี้สินครัวเรือนอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูงรวมทั้งการลงทุนภาครัฐที่ล่าช้าจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่อาจลดลงจากมาตรการของภาครัฐ
4) ดัชนีราคาส่งออก เฉลี่ยทั้งปี 2566 เทียบกับปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 1.1 (AoA) ชะลอตัวจากปี 2565 ที่สูงขึ้นร้อยละ 4.2 เนื่องจากความต้องการสินค้าในภาพรวมชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรกรรมปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากปริมาณผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง สำหรับแนวโน้มปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามต้นทุนด้านพลังงานและค่าขนส่งที่ยังอยู่ในระดับสูง จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ และวัฏจักรการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น
5) ดัชนีราคานำเข้า เฉลี่ยทั้งปี 2566 เทียบกับปี 2565 ลดลงร้อยละ 0.9 (AoA) จากปี 2565 ที่สูงขึ้นร้อยละ 11.1 ตามการลดลงของราคานำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ สำหรับแนวโน้มปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามราคาวัตถุดิบนำเข้า และราคาพลังงานที่อาจปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก ประกอบกับฐานราคาปี 2566 ที่อยู่ระดับต่ำ
6) อัตราการค้า (Term of Trade) ของไทย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดรายได้จากการส่งออกเทียบกับรายจ่ายจากการนำเข้า ทยอยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปี 2565 โดยในเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 99.4 อย่างไรก็ตาม อัตราการค้าตลอดปี 2566 อยู่ระดับต่ำกว่า 100 สะท้อนว่า ประเทศไทยมีความเสียเปรียบทางโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ เนื่องจากรายจ่ายจากการนำเข้าสูงกว่ารายได้จากการส่งออก และคาดว่าปี 2567 จะอยู่ระดับต่ำกว่า 100 ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
7) ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนเฉลี่ยทั้งปี 2566 เทียบกับปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 1.9 (AoA) จากความต้องการขนส่งสินค้าทางถนนที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการสูงขึ้นของค่าแรง อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากตลาดโลกซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการให้บริการขนส่งทางถนน และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ส่งผลให้ดัชนีฯ ชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 และ 3 และหดตัวในไตรมาสที่ 4 ตามลำดับ สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 คาดว่าจะลดลง เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานของภาครัฐที่คาดว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
8) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเฉลี่ยทั้งปี 2566 อยู่ที่ระดับ 54.2 อยู่ในช่วงเชื่อมั่น (สูงกว่าระดับ 50) และปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 46.2 ปี 2565 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุดตลอดปี 2566 คือ ด้านเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางฟื้นตัว และมาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สำหรับแนวโน้มปี 2567 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปี 2566 และอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น ตามภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกที่จะปรับตัวดีขึ้น
นายพูนพงษ์ กล่าวสรุปว่า แม้ดัชนีเศรษฐกิจการค้าส่วนใหญ่ในปี 2567 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่สูงมากนัก แต่ยังคงมีปัจจัยที่อาจทำให้ดัชนีเศรษฐกิจการค้าไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ อาทิ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ภัยธรรมชาติ และมาตรการภาครัฐ ซึ่ง สนค.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ดัชนีเศรษฐกิจการค้ามีความถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับสถานการณ์ และสามารถนำไปใช้ประกอบการดำเนินมาตรการต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2566 และจะดำเนินการต่อเนื่องในปี 2567 คือ การร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเข้มข้นในการกำกับดูแลราคาสินค้าให้มีความเหมาะสม มีปริมาณเพียงพอ ดำเนินมาตรการลดราคาสินค้าอุปโภค – บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ ผลักดันภาคการส่งออก เร่งเจรจาการค้า รวมถึงเร่งขยายโอกาสและเพิ่มประสิทธิภาพให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ตามนโยบาย “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” เพื่อให้เศรษฐกิจการค้าของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีความเข้มแข็ง สามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆได้อย่างยั่งยืน
#กระทรวงพาณิชย์ #การค้า #ผู้บริโภค