‘ภูมิธรรม’ เตรียมเดินทางลงนาม FTA ไทย - ศรีลังกา ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา 3 – 4 ก.พ.นี้ หลังปิดดีล FTA ฉบับที่ 15 ของไทย พร้อมจัดทัพผู้ประกอบการไทยกว่า 20 ราย นำ 7 สินค้า 4 บริการศักยภาพ โชว์ในงาน Sri Lanka – Thailand Business Networking เชื่อจะช่วยดันการค้าสองฝ่ายขยายตัว ปักหมุดฐานการลงทุนเชื่อมไทยสู่เอเชียใต้ ตะวันออกลาง และยุโรป ชี้เป็น FTA ทวิภาคีฉบับแรกของรัฐบาลชุดนี้ 

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบความตกลงการค้าเสรี ไทย - ศรีลังกา ตนจึงจะร่วมการเดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีตามคำเชิญของประธานาธิบดีศรีลังกา ระหว่างวันที่ 3 – 4 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เพื่อลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย – ศรีลังกา ซึ่งสรุปผลการเจรจาไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ตามนโยบาย Quick Win ที่ต้องทำให้สำเร็จภายใน 99 วันเเรกของรัฐบาล โดยความตกลง FTA ไทย – ศรีลังกา เป็นความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีฉบับแรกของรัฐบาลชุดนี้ และนับเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของประเทศไทย 

โดยการลงนาม FTA ไทย - ศรีลังกา จะมีขึ้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สำนักเลขาธิการประธานาธิบดี ซึ่งเป็นการลงนามระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า พาณิชย์ และความมั่นคงทางอาหารของศรีลังกา นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดงาน Sri Lanka – Thailand Business Networking ซึ่งเป็นกิจกรรมปฐมฤกษ์ kick off การใช้ประโยชน์จาก FTA ไทย - ศรีลังกา โดยในงานจะมีผู้ประกอบการไทยเดินทางไปเข้าร่วมกว่า 20 ราย จาก 7 สินค้าศักยภาพ ได้แก่ อาหาร ผลิตภัณฑ์เกษตร สินค้าสุขภาพ ยานยนต์และชิ้นส่วน วัสดุก่อสร้าง สินค้าครัวเรือน และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และ 4 บริการศักยภาพ ได้แก่ โลจิสติกส์ โรงพยาบาล ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ และพลังงาน โดยจะมีบริษัทศรีลังกาเข้าร่วมงานด้วยกว่า 70 ราย 

ทั้งนี้ ในปี 2566 การค้าระหว่างไทยและศรีลังกามีมูลค่า 415.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา มูลค่า 291.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากศรีลังกา มูลค่า 124.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมันสำเร็จรูปยาง ผ้าผืน ยางพารา และเคมีภัณฑ์ สินค้านำเข้าสำคัญจากศรีลังกา อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และกาแฟ ชา เครื่องเทศ ทั้งนี้ แม้ศรีลังกาจะเป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 22 ล้านคน แต่มีจุดเด่นด้านที่ตั้ง ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขนส่งทางเรือ เชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ประกอบกับเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ อาทิ แร่รัตนชาติ แร่แกรไฟต์ และสัตว์ทะเล แม้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ศรีลังกาจะประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็เริ่มฟื้นตัวและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

#กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ #กระทรวงพาณิชย์ #FTA