องคมนตรีเชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์​ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายศุภรัชต์ อินทราวุธ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านห้วยหญ้าไซ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย เสื้อกันหนาวมอบให้แก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 10 ตัว เพื่อบรรเทาความหนาวเย็นจากสภาพภูมิอากาศของภาคเหนือ และถุงพระราชทานมอบให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการฯ รวม 73 ถุง สร้างความปลื้มปีติให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยพสกนิกรทั่วทุกพื้นที่เสมอมา โอกาสนี้ องคมนตรีรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ และเยี่ยมชมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของราษฎรในพื้นที่โครงการฯ

โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านห้วยหญ้าไซ เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2542 ให้อพยพราษฎรที่มีฐานะยากจน ไม่มีพื้นที่ทำกินเป็นของตนเอง มาจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ลักษณะ  “บ้านเล็กในป่าใหญ่” ในพื้นที่ต้นน้ำแม่ตาช้าง โดย “คน” สามารถอยู่ร่วมกับ “ป่า” ได้อย่างมีจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมพิทักษ์รักษา “ป่า” และฟื้นฟูสภาพ “ป่า” ที่ถูกทำลายให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ เพื่อรักษาความสมดุลระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืน สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริโดยมีพื้นที่ดำเนินการที่บ้านห้วยหญ้าไซ หมู่ที่ 9 จำนวน 13 ครัวเรือน ประชากรรวม 48 คน เป็นชนเผ่าอาข่า (อีก้อ) จากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันราษฎรในโครงการฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศไปแล้ว 7,500 ไร่ ทำให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน มีการปลูกกาแฟอาราบิก้าเป็นอาชีพหลัก และมีอาชีพเสริมอื่น ๆ เช่น การปลูกงาขี้ม่อน ข้าวเหนียวดำ และไม้ผล สำหรับการขายกาแฟแบบผลเชอร์รี่ไม่ได้มีการแปรรูป โดยในปี 2566 ขายกาแฟแบบผลเชอร์รี่ได้ประมาณ 5,000 – 6,000 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 37 บาท ทำให้มีรายได้เข้าสู่ชุมชนประมาณ 185,000 บาท ปัจจุบันราษฎรมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 55,000 – 70,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี จากเดิมก่อนการก่อตั้งโครงการฯ มีรายได้เฉลี่ยเพียง 30,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ราษฎรมีวิถีชีวิตแบบพอเพียง มีการทำนาแบบขั้นบันได เลี้ยงสัตว์ไว้บริโภค หากเหลือก็จำหน่าย เช่น หมู ไก่ ปลา วัว รวมถึงปลูกพืชเกษตรหลังฤดูทำนา และผักชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ ราษฎรยังมีรายได้จากงานศิลปาชีพ เช่น ทำเครื่องเงิน ผ้าปัก แกะสลักไม้ จักสานไม้ไผ่ และมีรายได้จากการทำงานในโครงการฯ ทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว และได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง

จากนั้น คณะฯ เดินทางไปยังสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านปางขอน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย เสื้อกันหนาวมอบให้แก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 171 ตัว ถุงพระราชทานมอบให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการฯ รวม 150 ถุง จากนั้น องคมนตรีและคณะเยี่ยมชมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของราษฎรในพื้นที่โครงการฯ และรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ โอกาสนี้ องคมนตรีร่วมปล่อยปลาเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนให้แก่ราษฎรในพื้นที่

สืบเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ทอดพระเนตรพื้นที่ป่าต้นน้ำบริเวณดอยเกี๊ยะ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2545 พบว่า พื้นที่ถูกบุกรุกแผ้วถางเป็นบริเวณกว้างจำนวนหลายพันไร่ บางส่วนของพื้นที่มีการปลูกพืชเสพติดและเป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังจังหวัดเชียงราย ทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงของประเทศ ทั้งด้านทรัพยากรป่าไม้ ดิน นํ้า และความมั่นคงด้านทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพชีวิตของราษฎรอยู่ในเกณฑ์ตํ่า ปริมาณและคุณภาพนํ้าในลำธารลดลง ลำน้ำต่าง ๆ เกิดการตื้นเขิน จึงได้มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านปางขอน” ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรควบคู่ไปกับการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร โดยให้คนอาศัยอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนและยั่งยืนตลอดไป สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริโดยมีพื้นที่ดำเนินการที่บ้านปางขอน จำนวน 456 ครัวเรือน ประชากรรวม 1,114 คน ประกอบด้วยชาติพันธุ์อาข่า ชาติพันธุ์เย้า และชาติพันธุ์ลาหู่ ปัจจุบันราษฎรบ้านปางขอนปลูกกาแฟอาราบิก้าเป็นอาชีพหลัก พื้นที่ปลูกประมาณ 2,500 ไร่ มีการแปรรูปในรูปแบบของกาแฟกะลา จำนวน 250 ตันต่อปี ทำให้มีรายได้เข้าสู่ชุมชนมากกว่าปีละ 25 ล้านบาทต่อปี ราษฎรมีรายได้จากการผลิตกาแฟ ประมาณ 150,000 – 250,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และมีรายได้จากการประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น การปลูกอะโวคาโด้ แมคคาเดเมีย และการท่องเที่ยว รวมประมาณ 50,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 200,000 – 300,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และมีรายได้จากการทำงานในโครงการฯ ทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นและเพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว จากเดิมก่อนการก่อตั้งสถานี ฯ มีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยเพียง 50,000 บาทต่อปี

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.