กก.เจอดาบสองยุบพรรค   "ธีรยุทธ"หอบเอกสารหนากว่า  100 หน้า ยื่นกกต. ให้ดำเนินการยื่นศาลรธน.วินิจฉัยยุบก้าวไกล ดาบต่อไปร้อง ปปช.Ž เอาผิดจริยธรรมร้ายแรง "พิธา-ก้าวไกล ด้าน"เรืองไกร"บุกร้อง กกต.ยุบก้าวไกลซ้ำ  ก้าวไกลนัดถกด่วน รับมือศาลฯลงดาบพิธา สู้ร้องยุบพรรค      

เมื่อวันที่ 1 ก.พ.67 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของอดีตพระพุทธะอิสระ ซึ่งเป็นผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองนั้น      ล่าสุด นายธีรยุทธ เดินทางมายื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ พร้อมกับให้สัมภาษณ์ว่าหลังจากถอดเทปและอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดแล้ว ในฐานะผู้ร้องคิดว่าต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามสิทธิที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญ จึงได้ทำคำร้องเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งคำร้องประกอบด้วยเนื้อคำร้อง 11 แผ่น ถอดเทปอีก 11 แผ่น และเอกสารประกอบอีก 116 แผ่น เพื่อการบังคับพรรคก้าวไกลให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2562 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่าเมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น โดย 1.กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นตนเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลพิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล      

สำหรับความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ที่ผ่านมา นายธีรยุทธ กล่าวว่า กรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมา ตนเห็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามพยานหลักฐานซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำของนายพิธาและพรรคก้าวไกลเอง เดิมการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตนคิดว่าขอให้ศาลโปรดเมตตาพิจารณาสั่งการเพื่อให้หยุดการกระทำเหล่านั้น แต่เนื่องด้วยหลายปัจจัย อีกทั้งเมื่อคืนที่ผ่านมาได้นั่งอ่านคำวินิจฉัยของศาลอย่างละเอียดเห็นว่าเมื่อศาลได้โปรดพิจารณาวินิจฉัยให้แล้ว ในขณะที่เราอยู่ในฐานะผู้ร้อง ก็เห็นว่ามีความผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นโดยตรง กระบวนการต่อไปก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่วินิจฉัยนั้น จึงทำหน้าที่ตามหน้าที่ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า ผู้ใดทราบเหตุก็ให้ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตนจึงได้เดินทางมายื่นเรื่องต่อกกต.      

ส่วนในอนาคตหากกกต. มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล กังวลหรือไม่ว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายอีกครั้งนั้น นายธีรยุทธ กล่าวว่า ไม่ได้กังวลใจ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการวางบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของประเทศไทย ดังนั้นเมื่อพรรคก้าวไกลหรือสมาชิกพรรค หรือผู้สนับสนุน หรือผู้นิยมชื่นชอบพรรคก้าวไกล อยู่ในฐานะที่จะต้องปฏิบัติและยึดถือบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของไทย ซึ่งแม้ว่จะเกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าหลักการนี้ก็ปรากฏอยู่ในข้อบังคับของพรรคก้าวไกลด้วยอยู่แล้ว ดังนั้น การที่จะมีผลกระทบหรือจะกระทบกระทั่งกันอย่างไรก็เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ที่คนนั้นควรจะพิจารณาระลึกถึงบ้าง       อย่างไรก็ตาม การนักวิชาการบางคนมีความเห็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่าจะแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้อีกทั้งในและนอกสภานั้น แสดงว่านักวิชาการท่านนั้นไม่ได้อ่าน หรือไม่ได้ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด อาจจะฟังแบบผิวเผิน ก็ได้แต่บอกว่าขอให้กลับไปฟังให้หลายๆ รอบ เพราะบรรทัดสุดท้ายห้วงก่อนจะจบ ท่านวินิจฉัยโดยบอกว่าไม่ได้ปิดประตู แต่การจะแก้ไขต้องเป็นไปตามครรลองนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งคำว่านิติบัญญัติโดยชอบ คือต้องเป็นฉันทามติเลยอย่างแรก แต่คนที่คิดจะแก้ไขมาตรา 112 นั้น ศาลท่านก็วินิจฉัยชัดเจนอยู่ว่ามีเจตนาซ่อนเร้น อย่างอื่นอันมีนัยสำคัญ ซึ่งประชาชนโดยทั่วไปอาจจะยังไม่ทราบถึง       ฉะนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญหลักนิติ อีกทั้งก่อนจะทำคำวินิจฉัยเช่นนี้ ทราบจากเนื้อหาคำวินิจฉัยว่ามีการประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องของตนโดยใช้เวลาถึง 62 ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมาก มีการพิจารณาโดยละเอียดรอบด้าน มีข้อมูลจากหลายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม หรือศาลยุติธรรม ก็ส่งเข้ามา และศาลท่านก็สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดยละเอียด       นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 2 ก.พ. เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของพรรคก้าวไกล และส.ส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมเสนอชื่อแก้ไขกฎหมาย 112 รวมถึงนายพิธาด้วย เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยเชื่อว่าจะเหมือนกับกรณีของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่ใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน       วันเดียวกัน  ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องเพื่อขอให้กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิทางการเมือง จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลมีนโยบายหาเสียงยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ศาลจึงสั่งให้ยุติการกระทำ เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าการยกเลิกมาตรา 112 เป็นการกระทำที่ไม่ควร อีกทั้งการแก้ไขกฎหมายก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติจึงถือเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ      โดย นายเรืองไกร กล่าวว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 49 แล้ว คำว่าล้มล้างการปกครองฯอยู่ใน พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) (2) ที่อาจเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งในกรณีนี้มีพรรคเดียวที่เคยโดนคือพรรคไทยรักษาชาติ ดังนั้นแล้วตนจึงยื่นเรื่องขอให้กกต.นำผลคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาล ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุคพรรคก้าวไกล ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) (2) อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าว จะผูกพันถึงกกต. ที่ต้องทำตามหน้าที่ เพราะถือเป็นความปรากฏ ส่วนองค์กรที่ 2 คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ถูกร้องเป็นส.ส. 44 คน ว่าใช้สิทธิและเสรีภาพ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนได้เคยยื่นเรื่องไปแล้วเมื่อปี 2564 "ซึ่งนี่เป็นการตรวจสอบตามข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานไม่ได้มีความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ หรือนำความเห็นส่วนตัวมาร้องแต่อย่างใด"      

ผู้สื่อข่าวถามว่า คำวินิจฉัยนี้จะส่งผลต่อพรรคการเมืองๆ อื่นๆ ที่เคยใช้การแก้ไขมาตรา 112 ในการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่ ฉะนั้นไม่ต้องเป็นห่วง หากมีน้ำหนักพอก็จะยื่นเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ทั้งนี้รวมถึงกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน และน.ส.แพรทองธาร ชินวัตร ที่เคยหาเสียงในประเด็นแก้ไขมาตรา 112 เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลจะถูกยุบหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ไม่น่าจะรอด เพราะศาลวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งก็จะส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ด้วย      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นายเรืองไกรกำลังให้สัมภาษณ์อยู่นั้น น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) กลุ่มทะลุวัง และนางสาวอรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) ปรากฏตัวโดยมีเชือกพันธนาการที่ข้อมือ และลำคอ ของทั้งสองคน เดินทางเข้ามาในพื้นที่ พร้อมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยกล่าวว่า ต้องการมาตามหาศาลไคฟง เพื่อให้มาประหารพวกตนทั้งสองคน เพราะเมื่อวานมีศาลกล่าวอ้างถึงชื่อของพวกตน รวมถึงกิจกรรมก่อนหน้านี้ที่ตนได้ดำเนินการ ที่ได้จัดนำแผ่นป้าย ข้อความ "คิดว่ามาตรา 112 ควรแก้ไขหรือยกเลิก" พร้อมนำสติ๊กเกอร์มาให้ติด เพื่อแสดงความเห็น และรวมถึงการให้นายพิธานำสติ๊กเกอร์ไปแปะด้วยว่าถือเป็นความผิดร้ายแรง ล้มล้างการปกครอง จึงรู้สึกถึงบาปกรรม ที่พวกตนได้ทำไว้ในประเทศชาติ จึงสำนึกบาปวันนี้จึงต้องการให้ท่านเปาบุ้นจิ้น ทำการประหารตนแทนคนอื่นๆ ที่ทำกิจกรรมการเมืองแล้วถูกจับติดคุก และปล่อยพวกเขาออกมา เพราะสิ่งที่พวกเขาทำไม่ร้ายแรงเท่ากระดาษหรือสิ่งที่เราทำ      

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกและพรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่า แกนนำพรรคได้นัดประชุมส.ส.ก้าวไกล ในช่วงเย็นวันนี้ โดยจะเป็นการประชุมเป็นการภายใน พร้อมเก็บโทรศัพท์มือถือผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน      รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับเหตุผลการประชุมในครั้งนี้เพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกัน จะมีแกนนำพรรคเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนายพิธา นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค และแกนนำพรรคคนอื่นๆ เพื่อพูดคุย ทำความเข้าใจ กันเป็นครั้งแรก หลังจากคำวินิจฉัยล้มล้างการปกครองปรากฏออกมา    

 นอกจากนี้ จะมีการหารือประเด็นที่มีการวิเคราะห์ไปต่าง ๆ นานา ถึงผลกระทบทางคดีดังกล่าวอาจทำให้พรรคถูกยุบพรรค หรือมีข่าวคณะกรรมการบริหารพรรค หรือส.ส.จะโดนตัดสิทธิทางการเมือง ดังนั้น แกนนำพรรคจึงนัดประชุมเพื่อให้ส.ส.ทุกคนฟังสถานการณ์ ทิศทางการเมือง และทิศทางพรรคหลังจากนี้จากทางพรรคเท่านั้น      นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.ก้าวไกล กล่าวถึงท่าทีและแนวทางการต่อสู้คดีของแกนนำพรรค และส.ส.จำนวน 44 คน ที่ลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อปี 2564 รวมทั้งกรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยุบพรรค เพราะเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ว่า ตอนนี้ยังไม่ได้เตรียมการอะไร รอดูคำตัดสินฉบับเต็ม และต้องรอดูว่าจะมีใครไปดำเนินการต่อหรือไม่อย่างไร ซึ่งหากมีเราก็ต้องต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรนั้น เราก็เตรียมพร้อมกับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าผลจะเป็นบวกหรือลบ และพร้อมที่จะเติบโตตลอด ยืนยันว่าไม่ได้กังวลอะไร และพร้อมจะทำงานต่อตามแนวทางของพรรค      ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 ที่ไม่สามารถใช้กระบวนการนอกสภาได้ และก่อนหน้านี้ก็มีการยื่นกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ซึ่งก็อาจจะ เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ด้วย โดยหลังจากนี้จะมีการทำความเข้าใจอย่างไรกับสมาชิก ว่าต้องรอดู คำวินิจฉัยทั้งหมดของศาลฯ เพื่อนำมาประกอบและให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงฝ่ายกฎหมาย ของประธานสภาได้ดูรายละเอียดและเสนอกลับมาอีกครั้ง    

 ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. กับส.ส.ก้าวไกลที่ได้เคยเสนอร่างกฎหมาย เมื่อปี 64 จะส่งผลอย่างไรหรือไม่ ประธานสภา กล่าวว่า เป็นเรื่องนอกสภา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของผู้ที่ร้องและผู้ถูกร้อง ต่อองค์กรอิสระทั้งหลาย ซึ่งเป็นเรื่องนอกสภาตนไม่อาจอาจจะก้าวล่วงได้ เมื่อถามว่า หลังจากนี้การประชุมสภาก็ไม่ควรจะไปพูดพาดพิงเกี่ยวกับสถาบันใช่หรือไม่ ประธานสภา กล่าวว่าโดยปกติแล้ว มีข้อบังคับ ที่กำหนดไว้ไม่ให้พูดถึงเรื่องสถาบัน และห้ามพูดถึงบุคคลภายนอก หากพูดออกไปผู้พูดก็ต้องรับผิดชอบ ทางสภาจะถือข้อบังคับและกฎหมาย      เมื่อถามย้ำว่า ต่อจากนี้เรื่องมาตรา 112 จะไม่สามารถนำมาพูดถึงในสภาได้อีกแล้วใช่หรือไม่ ประธานสภา ตอบว่า ตรงนี้ตนไม่สามารถจะวิจารณ์ได้ ต้องขอดูรายละเอียดของคำวินิจฉัยทั้งหมด และฝ่ายกฎหมายจะเสนอให้ประธานและรองประธานสภารับทราบต่อไป