วันที่ 1 ก.พ.2567 เมื่อเวลา 16.17 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯที่มีนายวันมูหะมัดร์นอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม โดยที่ประชุมได้พิจารณาญัตติของนายชัชวาลล์ คงอุดม สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเรื่องการสร้างคนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศ ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งจะนำญัตติทำนองเดียวกันมารวมกันพิจารณาในคราวเดียวคือญัตติขอให้สภาฯตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและจัดทำข้อเสนอในการส่งเสริมเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย ของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นคนเสนอ

โดยนายชัชวาลล์ กล่าวว่า เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่าคนหรือทรัพยากรมนุษย์คุณค่าและสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทุกด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม จึงทำให้ประเทศให้ความสนใจถึงการพัฒนาคนของชาติ ให้มีความรู้ความสามารถหรือศักยภาพของคนให้ตอบโจทย์ เป้าหมายการพัฒนาประเทศนั้น ๆ  สำหรับประเทศไทยการพัฒนาคนในระบอบประชาธิปไตยนับตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองปี 2475 เรามีคำถามมากมายว่าการพัฒนาเรามีเป้าหมายหรือการสร้างคนที่พึ่งประสงค์ในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ทั้งในแง่ของความเป็นคนไทยและเป็นประชาธิปไตย รวมทั้งการพัฒนาคนให้นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมไทย 

นายชัชวาล กล่าวต่อว่า ในบางยุคบางสมัยอาจจะเข้าใจไม่ตรงกันทั้งในเรื่องประชาธิปไตยแตกต่างในเชิงแนวคิด และหลักการ ยิ่งในสังคมยุคใหม่คำว่าประชาธิปไตยส่วนใหญ่ถูกตีความ อิงไปกับแนวคิดสังคมตะวันตก ยิ่งแนวคิดและพฤติกรรมของคนไทยมีมุมมองที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจ ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และค่านิยมของสังคมไทย ในแต่ละช่วงที่ผ่านมาจึงทำให้สังคมไทยมีความขัดแย้งกันทางความคิด และการเมืองกันอยู่ไม่น้อย แม้กระทั่งความคิดเห็นในแง่การพัฒนาชาติไทย หรือสังคมไทยว่าจะมีความเป็นไปอย่างไร 

“การหาทางออกในประเด็นข้างต้นจึงเป็นแนวทางที่จะต้องศึกษาการสร้างคน หรือการพัฒนาคนของชาติเพื่อให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้อย่างไรเพื่อไปสู่เป้าหมายคนไทยที่พึ่งประสงค์ ทั้งในแง่การพัฒนาคนที่พึ่งประสงค์ในระบอบประชาธิปไตย และการพัฒนาประชาธิปไตยบนฐานรากของวัฒนธรรมไทย ตลอดจนการสร้างพลเมืองรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม นอกจากนั้นอาจต้องทบทวนกลไกการพัฒนาคนของเราผ่านกระบวนการศึกษา กระบวนการับรู้ในระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ตลอดจนมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสู่การปฏิรูการศึกษา เพื่อนำไปสู่วิทยาศาสตร์ วิจัย และเพื่อผลิตคนให้สอดรับกับการพัฒนาประเทศ และยุทธศาสตร์ของชาติ”นายชัชวาลล์ กล่าว 
 
นายชัชวาลล์ กล่าวอีกว่า จากผลการประเมินในระดับนานาชาติจากสมาชิกทั่วโลกมากกว่า 65 ประเทศ เป็นการสอบวัดความสามารถของเด็กอายุ 15 ปี เรื่องการใช้ความรู้ และทักษะ เพื่อเผชิญกับโลกในชีวิตจริง โดยมีการประเมิน 3 ด้านคือคณิตศาสตร์ การอ่าน วิทยาศาสตร์ พบว่าเด็กไทยมีคะแนนท้ายๆมาตลอด คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในทุกๆด้าน และคุณภาพทางการศึกษาทั่วไปก็ยังไม่เป็นที่พึ่งประสงค์ จากการสำรวจสภาวะการทำงานของประชากรมีภาวะการว่างงานสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สำเร็จการอุดมศึกษาในปี 2564 มีอัตราว่างงานสูงกว่าผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมการศึกษาตอนต้น และตอนปลาย ระดับอุดมศึกษาว่างงานกว่า 3 แสนคน ระดับมัธยมศึกษาว่างงาน 156,000 คน และมัธยมศึกษาตอนปลายว่างงาน 145,000 คน 

“ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องทบทวนการพัฒนาคนของชาติในทิศทางใหม่ เพื่อสร้างคนให้ไปสู่คนที่มีคุณภาพ คือการปรับกระบวนการเรียนรู้ การศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ใช่การศึกษาเพื่อเชิงคุณวุฒิเชิงปริมาณดังกล่าว ดังนั้นการสร้างคนให้มีคุณภาพจึงต้องมีทัศนคติให้มีความนิยมประชาธิปไตย บนบริบทของสังคมไทยสอดคล้องกับอารยะสังคมของตนเอง เพื่อสร้างพลเมืองให้มีความสามารถ ฉลาดคิด กล้าริเริ่ม สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น และประเทศ เพื่อให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ รับผิดชอบต่อประเทศ โดยมีเป้าหมายคือมิติใหม่ในการสร้างคนให้มีคุณภาพ สร้างคนและพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพ มีความคิด มีทัศนคติที่ยึดโยงกับประเทศชาติเป็นสำคัญ  จึงมีความจำเป็นต้องเสนอญัตติ” นายชัชวาล กล่าว