เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 นายแก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญห้ามแตะ ๑๑๒ ? มีเนื้อหาดังนี้
ถาม จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีก้าวไกลยกเลิก ๑๑๒ ชัดเจนว่า ต่อไปนี้ ใครจะแตะต้อง มาตรา ๑๑๒ อีกไม่ได้แล้ว เช่นนั้นหรือ
ตอบ คุณช่วยสละเวลา อ่านคำวินิจฉัยที่ผมแยกแยะมาเสนอต่อไปนี้ ให้ชัดเจน ก่อนนะครับ
“ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองมีพฤติการณ์ในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดย ซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอร่างกฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรค รวมทั้ง มีการรณรงค์ ให้มีการยกเลิก หรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มีลักษณะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ ใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน ทั้งการชุมนุม การจัดกิจการ การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การเสนอร่างแก้ไขกฎหมายเข้าสู่สภา และการใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง
ถาม ศาลหมายความว่าพรรคก้าวไกลต้องเสนอแก้ ๑๑๒ โดยสงบเงียบเชียบอย่างนั้นหรือ
ตอบ ไม่ใช่ตรงนั้นครับ ศาลท่านตีตรง “ความเคลื่อนไหว” ว่าเจตนาแท้จริงที่อยู่หลังการเสนอร่างกฎหมายนี้ คือมุ่งทำลายสถาบัน เป็นงานที่ทำกันอย่างเป็นขบวนการ รณรงค์สร้างกระแสโมเม้นตั้มอย่างกว้างขวาง ให้ความหมายว่าเรากำลังจะเปลี่ยนระบบแล้ว
ถาม มันเปลี่ยนระบบอะไรที่ตรงไหนครับ
ตอบ ตรงที่เลิกไม่ให้รัฐมีอำนาจหน้าที่คุ้มครองสถาบัน อีกต่อไป
“ การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอให้ความผิดตามมาตรา 112 ออกจากความผิดตามลักษณะ 1 จึงเป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังให้ความผิดตามมาตรา 112 ไม่มีความสำคัญ และไม่ร้ายแรง ไม่ให้ถือเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ มีเจตนามุ่งหมายแยกสถาบันพระมหากษัตริย์และความเป็นชาติไทยออกจากกัน จึงเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยยะสำคัญ “
ถาม แล้วการเอาเรื่องนี้มาชูธงเป็นนโยบายสำคัญของพรรค มันผิดตรงไหนครับ เมื่อเป็นเรื่องใหญ่ พรรคการเมืองก็ต้องรณรงค์ในวงกว้าง เป็นธรรมดาอยู่แล้ว
ตอบ เรื่องแก้ ๑๑๒ นี้ พรรคก้าวไกลหยิบขึ้นมาเป็นนโยบายดื้อๆเลย ไม่มีงานวิจัยหรือคำอธิบายรองรับเลยว่า ในตัวของมาตรานี้มันผิดที่ตรงไหน การเลิกคุ้มครอง ให้คนในสถาบัน พอถูกด่าก็แจ้งความเอาเอง มันจะแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง พอฐานเหตุผลทางกฎหมายมันไม่แน่น ศาลก็ชี้ไปเลยว่า เจตนาแท้จริงมันเป็นอย่างนี้
“เป็นการใช้นโยบายพรรคการเมือง นำสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเพื่อหวังคะแนนเสียงและประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะเป็นคู่ขัดแย้งของประชาชน ทำให้สถาบันต้องเข้าไปเป็นฝักฝ่าย ต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน โดยไม่คำนึงถึงหลักการปกครองที่สำคัญว่าพระมหากษัตริย์ต้องดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมือง ”
ถาม ตัดสินอุ๊บอิ๊บกันง่ายๆอย่างนี้ มันไม่หาเรื่องกันมากไปหน่อยหรือ
ตอบ ศาลชี้แจงไว้แต่แรกแล้วว่า ศาลพิจารณาโดยระบบไต่สวน ได้รวบรวมความเป็นไปทางคดีที่เกิดขึ้นในช่วงรณรงค์ต่างๆ เช่นจากตำรวจ อัยการ แล้ว ภาพของการโจมตีติเตียนสถาบัน เกิดขึ้นเป็นกระแสเช่นนั้นจริงๆ สส.ก้าวไกลที่ไปร่วมชุมนุม และคอยประกันตัวคนด่าในหลวง มีอยู่ไม่น้อยจริงๆ
ถาม สรุปแล้ว การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแตะต้อง ๑๑๒ จึงทำไม่ได้อีกเลยใช่ไหม
ตอบ ศาลบอกว่ายังทำได้ แต่ต้องใช้สิทธิโดยสุจริตไม่ใช่เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อปลุกปั่นทางการเมือง ศาลใช้คำว่าต้องเป็นกระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ เท่านั้น
“ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า สั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้ง ไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย”
ถาม เมื่อศาลตัดสินอย่างนี้ กกต.จะเสนอศาลให้ยุบก้าวไกลได้ไหม ในเมื่อก่อนเลือกตั้ง เขาเสนอนโยบายเรื่องแก้ไข ๑๑๒ ให้ตรวจแล้ว กกต.ก็ไม่ว่าอะไร
ตอบ ศาลตีตรงที่วิธีการหรือความเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ข้อเสนอแก้ไขในตัวของมันเองไม่ถูกต้อง ซึ่ง กกต.ยังไม่เคยวินิจฉัยประเด็นนี้มาก่อน จึงยังไม่มีอะไรมาปิดปากครับ
ถาม แล้ว สส.ก้าวไกล ที่ลงชื่อเสนอร่างกฎหมาย หรือไปร่วมชุมนุม หรือช่วยประกันตัวคนด่าในหลวง จะถูกถอดถอนเพราะผิดจรรยาบรรณได้ไหม
ตอบ เป็นเรื่องปัจเจกครับ จะฆ่าให้ตายหมู่แบบปาเลสไตน์ในกาซ่าไม่ได้ ต้องดูเป็นคนๆไป ว่ารู้เห็นเป็นใจเป็นตัวตั้งตัวตีชัดเจนไหม
ถ้าร่วมลงชื่อด้วย ชุมนุมด้วย ด่าเองด้วย จ้องคอยประกันตัวด้วย อย่างนี้ก็ไม่น่าจะรอด
ถาม พอพูดมาถึงตรงนี้ อาจารย์ต้องโดนเขารุมอัดแน่ๆ
ตอบ เรื่อง “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ที่มีขึ้นเพื่ออย่าให้มีนักฉวยโอกาสแบบฮิตเลอร์ ขึ้นครองอำนาจโดยผ่านเลือกตั้งจนทำลายระบอบรัฐธรรมนูญนี้ เรายังทำความเข้าใจร่วมกันไม่พอว่า มันเป็น “ความเคลื่อนไหว” ที่ต้องคอยจ้องคอยปิดล้อมกันอย่างไร
พอศาลตัดสินออกมาเช่นคดีนี้ก็ต้องเข้าใจไม่ตรงกันได้เป็นธรรมดา ผมเองมีส่วนร่างรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ที่นำสิทธินี้เข้ามาในกฎหมายไทยด้วย ก็ขอรับผิดชอบ เสนอกรอบคิดมาร่วมวงบ้างเท่านั้นเอง
เลิกบ้าการเมืองกันบ้างก็ดีนะครับ เมษานี้..เตรียมรับสงครามใหญ่ในโลกให้ดีก็แล้วกัน