เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 1 ก.พ. 2567 ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพุทธะอิสระ ในฐานะผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์และพรรคก้าวไกล กรณีเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการกระความผิดโดยใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
โดยนายธีรยุทธ กล่าวว่า หลังจากถอดเทปและอ่านคำวินิจฉัยของศาลฯอย่างละเอียดแล้ว ในฐานะผู้ร้องตนคิดว่าต้องมีการดำเนินการให้ครบถ้วนตามสิทธิที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญ จึงได้ทำคำร้องเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คำร้องนี้ประกอบด้วย เนื้อคำร้อง 11 แผ่น ถอดเทป 11 แผ่น และเอกสารประกอบอีก 116 แผ่น เพื่อบังคับการกับพรรคก้าวไกลให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2562 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นายธีรยุทธ กล่าวถึงความรู้สึก หลังฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องพรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครองว่า ทุกอย่างเป็นไปตามพยานหลักฐาน ซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำของนายพิธา และพรรคก้าวไกลเอง จากเดิมตนคิดว่าขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดเมตตาพิจารณาสั่งการให้หยุดการกระทำดังกล่าว แต่ด้วยหลายปัจจัย โดยเมื่อคืนที่ผ่านมาตนได้มีการเปิดอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด เห็นว่าเมื่อศาลพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วและเนื่องจากตนเป็นผู้ยื่นคำร้องจึงมีความผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ดังนั้นกระบวนการต่อไปต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้น ทำหน้าที่ตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญไว้ว่า ผู้ใดทราบเหตุก็ให้ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่า ในอนาคต กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล กังวลหรือไม่หากเกิดความวุ่นวาย นายธีรยุทธ กล่าวว่า ตนไม่กังวลใจ เนื่อจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการวางบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของไทย ดังนั้นเมื่อพรรคก้าไกล สมาชิกพรรค ผู้สนับสนุนหรือผู้ชื่นชอบพรรคก้าวไกล อยู่ในฐานะที่จะต้องปฏิบัติและยึดถือบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของไทย ซึ่งถึงแม้ว่าจะเกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยตนเชื่อว่าหลักการนี้ก็ปรากฏอยู่ในข้อบังคับของพรรคก้าวไกลด้วยอยู่แล้ว ดังนั้นการที่จะมีผลกระทบหรือจะกระทบกระทั่งกันอย่างไรก็เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ที่คนนั้นควรจะพิจารณาระลึกถึงบ้าง
เมื่อถามเกี่ยว ความเห็นของนักวิชาการบางท่านมองว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่าจะแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้อีกทั้งในและนอกสภานั้น นายธีรยุทธ ตอบว่า แสดงว่านักวิชาการท่านนั้นไม่ได้อ่าน หรือไม่ได้ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด อาจจะฟังแบบผิวเผิน ทางตนก็ได้แต่บอกว่าขอให้กลับไปฟังหลาย ๆ รอบ เพราะบรรทัดสุดท้ายห้วงก่อนจะจบ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยบอกว่าไม่ได้ปิดประตู แต่การจะแก้ไขต้องเป็นไปตามครรลองนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งคำว่านิติบัญญัติโดยชอบ คือต้องเป็นฉันทามติเลยอย่างแรก แต่คนที่คิดจะแก้ไขมาตรา 112 นั้น ศาลท่านก็วินิจฉัยชัดเจนอยู่ว่ามีเจตนาซ่อนเร้น อย่างอื่นอันมีนัยสำคัญ ซึ่งประชาชนโดยทั่วไปอาจจะยังไม่ทราบถึง
นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 2 ก.พ. เวลา 10.00 น. ตนจะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของพรรคก้าวไกล และสส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมเสนอชื่อแก้ไขกฎหมาย 112 รวมถึงนายพิธาด้วย เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เชื่อว่าจะเหมือนกับกรณีของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ที่ใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน