ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “พิธา –ก้าวไกล” ชูนโยบายหาเสียง แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข “โฆษกรัฐบาล” เผย “นายกฯ” ป่วยไข้หวัดใหญ่ ขอพักรักษาตัวตามหมอแนะนำ  เหตุลุยงานหนักอย่างต่อเนื่อง เวลาพักผ่อนน้อย “สภาฯ”เห็นชอบเลื่อนญัตติตั้งกมธ.ศึกษาฯกฎหมายนิรโทษกรรม “ก้าวไกล”โวยให้จัดสรรที่นั่งกมธ.ใกล้เคียงกัน หลังพบไม่ปกติ 

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันเดียวกันนี้ กรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กระทำการใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ สืบเนื่องจากที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ว่า ไม่มีความคาดหวังเลย ก็รอฟังกันดู ตนเชื่อมั่นว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ถูกยุบ อย่างไรคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ไปไม่ถึงตรงนั้นอยู่แล้ว

“ผมอยากให้สังคมตั้งหลักเรื่องนี้ให้มั่นๆ พอขึ้นชื่อว่าเป็นกฎหมาย กฎหมายไม่ได้ส่งแฟกซ์มาจากพระเจ้า กฎหมายร่างด้วยมือมนุษย์ ดังนั้นเมื่อร่างด้วยมือมนุษย์ก็ต้องแก้มันได้ ผมว่านี่คือหลักการพื้นฐาน ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเรียกได้เต็มปากว่าเป็นฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถแก้ไขกฎหมายได้ ผมคิดว่าคงมีอะไรไม่ปกติแล้วในประเทศนี้” นายธนาธร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้จะเป็นบรรทัดฐานการแก้มาตรา 112 ในอนาคตหรือไม่ นายธนาธร  กล่าวว่า อย่างที่ตนบอก เรามายืนในหลักการมั่นๆ สภาผู้แทนราษฎรคือฝ่ายนิติบัญญัติ นิติบัญญัติก็บอกอยู่แล้วว่าคือเป็นฝ่ายที่บัญญัติกฎหมาย กลับมายืนให้มั่นๆ


 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเวลา 12.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัย เวลา 14.00 น. ในคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง ถือเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หรือไม่

ขณะที่ บรรยากาศโดยรอบศาลรัฐธรรมนูญช่วงเที่ยงวันนี้ได้มีการวางมาตรการรักษาความปลอดภัย ที่ซึ่งมีมวลชนชูป้ายให้กำลังใจนายพิธาและพรรคก้าวไกล อยู่บริเวณด้านในอาคาร โดยมีเจ้าหน้าที่รปภ.ของทางอาคาร และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้ามาพูดคุยไม่ให้มาเคลื่อนไหว ภายในอาคารเนื่องจากจะเป็นการละเมิดคำสั่งศาลฯ

ทั้งนี้ มีรายงานว่าการดูแลรักษาความปลอดภัยโดยรอบศาลรัฐธรรมนูญนั้นได้จัดกำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ. บช.น.) จำนวน 1 กองร้อย ชุดควบคุมฝูงชนจาก กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 (คฝ.บก.น.2) จำนวน 1 กองร้อย เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องจากบก.น.2 จำนวน 40 นาย โดยทั้งหมดจะสลับสับเปลี่ยนกันดูแลบริเวณโดยรอบก่อนและหลังคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกันมีกลุ่มที่สนับสนุนนายพิธาและพรรคก้าวไกลสวมเสื้อสีส้ม แสดงสัญลักษณ์พรรคก้าวไกล เข้ามานั่งถือป้ายภายในอาคารที่ตั้งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เจ้าหน้าที่ของศาลฯ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เข้ามาเจรจาให้เคลื่อนย้ายออกไปยังจุดที่ทางศาลรัฐธรรมนูญได้จัดเตรียมไว้ พร้อมแจ้งเตือนเรื่องประกาศเขตอำนาจศาล หากมีการละเมิดอาจจะถูกดำเนินคดีได้ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ของทางศาลรัฐธรรมนูญคอยแจ้งให้สื่อมวลชน ได้รับทราบว่า ไม่อนุญาตให้มีการสัมภาษณ์บุคคลใดๆตามประกาศของทางศาลด้วยเช่นกัน

   ต่อมา เวลา 14.15 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติกรณีที่น ายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ 

โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า การที่ผู้ถูกร้องใช้การแก้ไขร่างกฎหมาย มาตรา 112 ใช้เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง มีความมุ่งหมายให้สถาบันขัดแย้งกับประชาชน อันอาจจะนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน  การที่นำการแก้ไขมาตรา 112 ไปใช้เป็นนโยบายหาเสียง ทำให้เห็นว่า ผู้ถูกร้อง มีเจตนา บ่อนเซาะ สถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้ง 2 จึงฟังไม่ขึ้น ใช้สิทธิ เสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครอง ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรม ตามมาตร 49 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการกระทำ การแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไข มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งมิใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบต่อไป
ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลฯ มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยหรอไม่เห็นด้วย แต่การใช้ถ้อยคำเสียดสี อาฆาตมาดร้าย ย่อมมีความผิด มีโทษ ทั้งตักเตือน จำคุก และปรับ 

โดยในการรับฟังคำวินิจฉัยครั้งนี้ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ในฐานะผู้ร้อง ได้เดินทางมาด้วยตนเอง ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้องคือนายพิธาและสมาชิกพรรคก้าวไกล ไม่ได้เดินทางมารับฟังแต่อย่างใด แต่รอฟังคำวินิจฉัยที่รัฐสภา ร่วมกับส.ส.ของพรรค และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า 

สำหรับคณะตุลาการทั้ง 9 ท่าน  ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ,นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน ,นายจิรนิติ หะวานนท์ ,นายนภดล เทพพิทักษ์ ,นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ และ นายอุดม รัฐอมฤต

ที่ทำเนียบรัฐบาล  นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แจ้งขอลาป่วย วันที่ 31 ม.ค.67 เนื่องจากเป็นไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A จากการลุยทำงานหนักอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน ทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อย “หมอได้แนะนำให้นายกรัฐมนตรีหยุดพักผ่อน พร้อมให้ยารับประทาน ส่วนจะลากี่วันนั้น ให้ประเมินอาการอีกที”

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่2 เป็นประธานการประชุม หลังเปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือดร้อนเสร็จสิ้น นายศรัญย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล ขอเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม ขอให้นำญัตติที่ 5.50 เรื่องขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ขึ้นมาพิจารณาต่อจากกระทู้ทั่วไปในการประชุมสภาฯ วันที่ 1 ก.พ. โดยมีเหตุผลและความจำเป็นเนื่องจากขณะนี้หลายฝ่ายให้ความสนใจ ไม่ว่าจะในสภาฯ นอกสภาฯ หรือภาคประชาชน 

ขณะเดียวกันสิ่งที่หลายฝ่ายกำลังคุยกันก็มีความเห็นที่แตกต่าง แต่ทุกฝ่ายที่เห็นว่าควรจะมีกฎหมายนิรโทษกรรมเกิดขึ้นนั้นมีความเห็นที่ยังแตกต่างกันในหลายประเด็น ทางรัฐบาลและผู้เสนอญัตติจึงมองว่าการที่จะให้ใช้พื้นที่สภาฯ เป็นพื้นที่กลางในการพูดคุย อย่างน้อยๆ ให้ทุกคน ทุกกลุ่ม ที่ต้องการจะเสนอกฎหมาย ได้มีพื้นที่มาคุยกัน จะได้ทำให้เราสามารถผลักดันกฎหมายให้เกิดขึ้นจริง และสามารถหาจุดร่วมกันได้

ด้าน นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ไม่ว่าผู้เห็นต่างทางการเมือง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องทบทวนการทำกฎหมายนิรโทษกรรม แต่เมื่อพิจารณาจากที่มีการเผยแพร่ออกมา มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน 3 เรื่อง คือร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. นำเสนอโดยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ 2.ร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวเนื่องกับการนิรโทษกรรม จากผู้แทนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ประธานสภาฯ รับไว้แล้ว และ3. ภาคประชาชนและไอลอว์ จะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในเดือน ก.พ. ซึ่งในทางกฎหมาเวทีสภาฯ เป็นเวทีที่มาพูดคุยกัน ตนเชื่อมั่นว่าเรามีความพร้อมที่จะมีการพูดคุย และเชื่อมั่นว่าท้ายที่สุดจะนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม

ดังนั้นเพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น หากมีการเลื่อนญัตติ ก็เชื่อมั่นว่าสภาฯ น่าจะมีการรับหลักการ และนำไปสู่การตั้งกมธ.วิสามัญฯ แต่คนที่ติดคุก และคนที่มีผลกระทบอาจจะรอไม่ได้ จึงขอให้เร่งดำเนินการ มีกรอบระยะเวลาในการพิจารณาญัตติ มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะนำไปสู่สังคมที่กลับคืนสู่ระบบปกติ พวกตนก็เห็นด้วยที่จะให้มีการเลื่อนญัตติ และเห็นตรงกันว่าหากมีการพิจารณาอย่างรวดเร็วนำไปสู่การตั้งกมธ.วิสามัญฯ และขอให้เกิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพราะมีข่าวมาว่าการจัดสรรที่นั่งในกมธ.วิสามัญฯ สัดส่วนไม่เป็นไปตามปกติที่ควรจะเป็น จึงขอให้จัดสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน หากไม่เป็นแบบนั้นก็ต้องมาทบทวนอีกทีว่าจะเอาอย่างไร

ขณะที่ นายพิเชษฐ์ ชี้แจงว่า เรื่องสัดส่วนกมธ.วิสามัญฯ ที่จะเกิดขึ้น ถ้าอยากจะให้มีผู้มีส่วนร่วมมากขึ้น ก็ขอให้วิปทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยกัน เพราะสามารถเพิ่มจำนวนได้ ดังนั้นการเลื่อนญัตติดังกล่าวถือว่าไม่มีผู้ใดขัดข้อง


วันเดียวกัน นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์  โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ "จะยื้อ นิรโทษกรรม ไปถึงไหน" ระบุว่า จะยื้อ นิรโทษกรรม ไปถึงไหน การที่พรรคเพื่อไทย เสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการนิรโทษกรรม ใช้เวลา 60 วัน โดยอ้างว่าเพื่อรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน เปิดกว้างให้นักวิชาการ และประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งในหลักการนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับการนิรโทษกรรมครั้งนี้ จะเป็นการยื้อเวลา หรือซื้อเวลามากกว่า เพราะการตั้งคณะกรรมาธิการ เพื่อศึกษาการนิรโทษกรรม ขีดเส้นให้เสร็จภายใน 60 วัน ในที่สุดก็จะขอขยายเวลาการศึกษาออกไปเรื่อยๆ ครั้งละ 30 วันบ้าง 60 วันบ้าง เหมือนคณะกรรมาธิการศึกษาปัญหาต่างๆหลายคณะ ของสภาผู้แทนราษฎร

ผมเห็นว่าการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กับผู้กระทำความผิดทางการเมือง ควรจะทำโดยเร็ว ไม่ควรยื้อเวลา ไม่ควรให้เสียเวลาอีกแล้ว ถ้าหากทุกฝ่ายต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า และเกิดความปรองดองขึ้นในชาติจริง ก็ควรออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้เสร็จโดยเร็ว การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการนิรโทษกรรม ไม่จำเป็นต้องศึกษาอะไรอีกแล้ว เพราะปัญหาทั้งหมด มีการพูดถึงข้อดีข้อเสียมาเป็นเวลานาน รัฐบาลหลายชุดเคยแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาปัญหาเหล่านี้มาหลายคณะแล้ว รวมถึงการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย น่าจะเป็นบทเรียนที่ดี และมีข้อมูลเพียงพอ สำหรับกำหนดหลักเกณฑ์การนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดการเมืองได้แล้ว

ส่วนตัวเห็นว่า ถ้าหากต้องการให้สังคมปราศจากข้อขัดแย้ง และสร้างความปรองดองเกิดขึ้นในชาติ ก็ควรจะออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับทุกกลุ่ม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เป็นการเซ็ตซีโร่ใหม่ทั้งหมด แต่ถ้าหากมีข้อยกเว้นการนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด หรือนิรโทษกรรมให้เฉพาะบางกลุ่ม ความขัดแย้งก็จะไม่จบสิ้น รวมถึงผู้กระทำความผิดมาตรา 112 ซึ่งเป็นการให้โอกาสกับผู้กระทำผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะได้ปรับปรุงตัวใหม่ กลับตัวกลับใจเสียใหม่ แต่ถ้าภายหลังจากการได้รับนิรโทษกรรมแล้ว ยังมีการกระทำผิดมาตรา 112 ขึ้นอีก ก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยไม่ต้องมีการนิรโทษกรรมอีกแล้ว

ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรมว.คลัง ในฐานะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรอความคิดเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. เพื่อให้เป็นการรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน จึงต้องรอข้อเสนอแนะนี้อย่างเป็นทางการ ไม่ใช่เฉพาะร่าง ซึ่งก็ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า ร่างดังกล่าวเป็นเอกสารตัวจริงหรือไม่ และขณะนี้เอกสารอย่างเป็นทางการ ยังมาไม่ถึงมือรัฐบาล เท่าที่เข้าใจทราบว่ายังอยู่ใน ป.ป.ช.

ในขณะเดียวกันต้องรอฟังความคิดเห็นจากผู้ตรวจการแผ่นดินที่เตรียมสรุปความคิดเห็นมาด้วย ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ในการรับฟัง แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ข้อผูกมัดว่าจะต้องปฏิบัติตามหรือไม่ แต่สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ก็รับฟังและนำมาปรับ สิ่งไหนที่ดีก็ดำเนินการต่อ ตอนนี้หากได้รับข้อเสนอทั้งหมดแล้ว จะมีการสังเคราะห์ข้อมูลข้อเสนอแนะ ก่อนที่จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่อีกครั้ง

ยอมรับว่าต้องมีการขยับไทม์ไลน์โครงการ อาจจะต้องเลื่อนไป แต่จะพยายามทำให้สั้นที่สุด เพราะเข้าใจดีว่าเจตนารมณ์ของโครงการนี้คือการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมีความจำเป็นและระยะเวลาต้องเร่งด่วน โดยจะต้องมีเม็ดเงินลงไปในพื้นที่อย่างรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าขาดช่วงตัวงบประมาณที่ล่าช้า จึงจำเป็นจะต้องมีเม็ดเงินลงไปทดแทนในส่วนที่เป็นฟันหลอตอนนี้

ส่วนการขยับไทม์ไลน์โครงการดิจิทัล วอลเล็ตจะไปที่ไตรมาส 3 หรือ 4 หรือไม่นั้น จะเร่งรัดที่สุดเพราะทุกคนมีความกังวลใจ จำเป็นที่จะต้องมีเม็ดเงินใหม่ลงไปดังนั้นทุกคนจะทำงานด้วยความรัดกุมและรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องทำงานแบบเทรดออฟ หรือได้อย่าง เสียอย่าง เพราะเมื่อรวดเร็วแต่ไม่รัดกุม ก็เกิดความเสียหายได้ หรือหากรัฐกลมเกินไปและทิ้งเวลาไปเป็นปีๆ ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ ย้ำว่าไทม์ไลน์จะไม่ขยับไปมากแต่จะใช้เวลาสักพักแต่ไม่มาก เพราะตอนนี้แค่รอตัวหนังสืออย่างเป็นทางการจาก ป.ป.ช. เท่านั้น เมื่อได้คำแนะนำจากป.ป.ช. รัฐบาลก็จะมีคำตอบให้ ป.ป.ช. ด้วย
“ยังคงหลักเกณฑ์เดิมของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่หากมีข้อเสนอแนะให้ปรับเกณฑ์ ก็พร้อมรับฟังความคิดเห็น ความคิดเห็นแต่ทุกความคิดเห็นจะถูกตัดสินใจโดย คณะกรรมการชุดใหญ่ว่าจะพิจารณาอย่างไร แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อเสนอการปรับเกณฑ์ ยังคงใช้เกณฑ์เดิมที่เสนอไป หลังได้ปรับเกณฑ์จากที่ได้หาเสียงไว้แล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำเรียกร้องไม่ใช่ความตั้งใจแรกของพรรคที่หาเสียงไว้ที่ตั้งใจจะให้ทุกคน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ แต่เมื่อมีข้อสังเกตมาก็รับฟัง ยืนยันไม่มีการปรับเรื่องวงเงินกู้ด้วย”

ที่รัฐสภา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม ถึงความคาดหวังใน กมธ.ชุดนี้ ว่า กมธ.ชุดนี้จะมีเป้าหมายในการศึกษาทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การบริหารของกองทัพที่เกี่ยวกับการพาณิชย์ว่ามีอะไรบ้าง รวมถึงดูว่าจะมีอะไรสามารถถ่ายโอนกลับเข้ามาที่กระทรวงการคลัง ทั้งนี้ เชื่อว่ากองทัพในปัจจุบันมีภารกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศเยอะมาก ทั้งสนามกอล์ฟ โรงแรม และศูนย์ประชุมต่างๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับภารกิจหลัก จึงเห็นว่าควรถ่ายโอนรายได้เหล่านี้ไปให้กระทรวงการคลัง และทำให้กองทัพมีความเป็นสมัยใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะหาจุดสมดุลระหว่างการเมืองกับกองทัพอย่างไร นายธนาธร กล่าวว่า ต้องใช้ กมธ.ในการสนทนากัน เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ ส่วนจะเป็นความขัดแย้งเรื่องการเมืองและกองทัพหรือไม่นั้น ประวัติศาสตร์มีมาแล้ว ในอดีตกองทัพไม่มีงบประมาณขอก็ไม่ได้ กองทัพก็ขอทรัพย์สินบางส่วนไปบริหารเองเพื่อจัดเป็นสวัสดิการให้กับทหาร แต่เวลาก็ผ่านมานานแล้ว หากกองทัพอยากมีสวัสดิการก็ต้องขอผ่านกลไกสภา เหมือนกระทรวงอื่นตามปกติ คิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะนำไปสู่ความขัดแย้ง การจัดสรรทรัพยากรเป็นเรื่องการเมืองอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นปัญหาการเมืองและเชื่อว่ากมธ.ชุดนี้ คงมีข้อสรุปที่เห็นร่วมกันได้

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการมองว่าการที่นายธนาธรนั่งกมธ.ชุดนี้ เป็นการปูทางเข้ากลับเข้าสู่การเมือง นายธนาธร ตอบว่า “ไม่หรอกครับ” พรรคก้าวไกลเห็นว่าติดตามเรื่องนี้มานาน จึงอยากให้มาช่วยนั่งใน กมธ.ชุดนี้ ซึ่งก็ยินดี เมื่อถามถึงกรณีที่ สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษา กมธ.การกฎหมาย ร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่านายธนาธรไม่เหมาะสมที่จะนั่ง กมธ. นายธนาธร กล่าวว่า เป็นมาหลาย กมธ.แล้ว ก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร เมื่อถามว่า มองอย่างไรหาก นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม นั่งประธาน กมธ.ชุดนี้ นายธนาธร กล่าวว่า เชื่อว่านายจิรายุจะทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม และไม่ติดขัดอะไร