บทความพิเศษ

อ้างอิงจาก บีบีซี ไทย

 

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มฮูตีในเยเมนรายงานว่า ได้ยิงขีปนาวุธโจมตีเรือสินค้าสหรัฐฯ ในทะเลแดง โดยเกิดขึ้นหลังกลุ่มฮูตีประกาศว่าจะเดินหน้าการโจมตีในทะเลแดงต่อไป แม้ถูกสหรัฐฯ และอังกฤษโจมตีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที 11 ม.ค.ที่ผ่านมา

ทางการสหรัฐฯ ระบุว่า การโจมตีทั้งทางอากาศและทางทะเลพุ่งเป้าไปที่เป้าหมายของกลุ่มฮูตี 16 จุด ซึ่งมีทั้งศูนย์บัญชาการ คลังเก็บอาวุธ และระบบป้องกันทางอากาศ

ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร กล่าวว่าการโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มฮูตีโจมตีเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในทะเลแดงมาก่อนแล้วหลายสัปดาห์ โดยระบุด้วยว่าการโจมตีดังกล่าวถือเป็น "การป้องกันตนเอง"

ทางด้านกลุ่มฮูตี ที่ได้รับการหนุนหลังโดยอิหร่าน และในทางปฏิบัติจริง ๆ แล้วมีสถานะเป็นเหมือนรัฐบาลของประเทศเยเมน ยังคงไม่ยอมศิโรราบ

ยาห์ยา ซาเรีย โฆษกของกองกำลังฮูตี กล่าวว่าการโจมตีของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร จะไม่ "ถูกปล่อยผ่านไปโดยไม่มีการตอบโต้แน่นอน"

ทางด้าน อับเดล-มาเลค อัล-ฮูตี ผู้นำกลุ่มฮูตี กล่าวเช่นกันว่าพวกเขามุ่งมั่นอย่างมาก "ที่จะเดินหน้าโจมตีเรือที่มีความเชื่อมโยงกับอิสราเอลต่อไป"

ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2023 กลุ่มฮูตีในเยเมนได้โจมตีเรือสินค้าที่เดินทางผ่านทะเลแดง พวกเขาระบุว่าทำไปเพื่อสนับสนุนกลุ่มฮามาส

ทั้งนี้ กลุ่มฮามาสได้โจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2023 และฆ่าชาวอิสราเอลไปมากกว่า 1,200 คน และจับผู้คนไปเป็นตัวประกันอย่างน้อย 240 คน

ที่ผ่านมา อิสราเอลได้ตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศและทางบกไปยังพื้นที่ฉนวนกาซา และสังหารชาวปาเลสไตน์ไปแล้วมากกว่า 23,000 คน

เรือสินค้ากว่า 20% ของเรือสินค้าทั้งโลกที่เคยใช้เส้นทางผ่านทะเลแดงและทะลุไปถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในยุโรปผ่านคลองสุเอซนี้ ขณะนี้กำลังพากันหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว เรือสินค้าเหล่านี้หันไปใช้เส้นทางที่ต้องอ้อมไปทางใต้ของทวีปแอฟริกาแทน

เจเรมี โบเวน บรรณาธิการข่าวต่างประเทศของบีบีซี บอกว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่การโจมตีทางอากาศเพียงระลอกเดียวจะทำให้กลุ่มฮูตีหยุดการโจมตีเรือสินค้า

"กลุ่มฮูตีในเยเมนโดนซาอุดีอาระเบียทิ้งระเบิดใส่มาตั้งแต่ปี 2015 จนกระทั่งมีข้อตกลงหยุดยิงกันเมื่อปีกว่า ๆ ที่ผ่านมานี้เอง ดังนั้น พวกเขาแทบไม่หวั่นต่อการโดนทิ้งระเบิดใส่เลย" โบเวน ระบุ

โบเวน แสดงทัศนะเพิ่มเติมด้วยว่า ที่จริงสงครามในกาซาได้กระจายไปสู่ระดับภูมิภาคที่กว้างขึ้นแล้ว และแม้ว่ากลุ่มฮูตีจะโดนจัดการ แต่กลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่าน ซึ่งอยู่ในอิรักและซีเรีย ก็อาจมีแรงจูงใจให้โจมตีกองกำลังของสหรัฐฯ ได้

อดัม เคลเมนท์ อดีตเจ้าหน้าที่ทางการทูตของกองทัพสหรัฐฯ ในเยเมน บอกว่า เขา "ค่อนข้างมองโลกในแง่ร้าย" และคิดว่า การโจมตีเยเมนของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ไม่น่าที่จะหยุดยั้งการโจมตีเพิ่มเติมจากกลุ่มฮูตีได้

"กลุ่มฮูตีต่อสู้ในสงครามกับกองกำลังที่นำโดยซาอุดีอาระเบียมาอย่างยาวนาน และได้สะสมประสบการณ์ในการซ่อนยุทโธปกรณ์และลดความเสี่ยงในเรื่องต่าง ๆ" เขากล่าว

มัลคอล์ม ชาลเมอร์ส รองผู้อำนวยการสถาบันรอยัลยูไนเต็ดเซอร์วิส (Royal United Services Institute) บอกว่า เขาจะแปลกใจมากหากกลุ่มฮูตีไม่ตอบโต้กลับการโจมตีของสหรัฐฯ และเตือนว่านี่อาจนำไปสู่สถานการณ์ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" ในภูมิภาคได้

การโจมตีกลุ่มฮูตีของสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ยังเพิ่มความกังวลว่า อิหร่านอาจเข้ามาเกี่ยวข้องในความขัดแย้งอิสราเอล-กาซา โดยตรงมากขึ้นด้วย

เคย์วาน ฮอสเซนี จากบีบีซีแผนกภาษาเปอร์เซีย ระบุว่า ตอนที่สหราชอาณาจักรประกาศความประสงค์ที่จะโจมตีกลุ่มฮูตีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สื่อหลายสำนักที่มีความเชื่อมโยงกับกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Iranian Revolutionary Guards) ได้รายงานเกี่ยวกับการเคลื่อนกำลังพลเรือรบของอิหร่านในทะเลแดงแทบจะในทันที

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวบีบีซีผู้นี้ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า นี่อาจตีความได้ว่าเป็นเพียง "การกระทำเชิงสัญลักษณ์" มากกว่าเป็นภัยคุกคามทางการทหารจริง

"แนวโน้มว่าจะเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ในทะเลแดง ระหว่างอิหร่านและพันธมิตรสหรัฐฯ-สหราชอาณาจักร ยังคงน้อยมาก" เขากล่าว

ทั้งนี้ ความกลัวว่าความขัดแย้งจะลุกลามในภูมิภาคดังกล่าว ก็ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเป็นที่เรียบร้อย ราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุงขึ้นไปที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในปีนี้

ตอนนี้การโจมตีของกลุ่มฮูตีจำกัดอยู่แค่ในบริเวณทะเลแดง แต่นักวิเคราะห์กังวลว่าถ้าความไม่สงบลุกลามขยายไปจนถึงช่องแคบฮอร์มุซ ผลกระทบต่อราคาพลังงานและน้ำมันจะยิ่งมากกว่านี้

นักวิเคราะห์จากธนาคารไอเอ็นจี ระบุว่า ในแต่ละวันมีน้ำมันประมาณ 20 ล้านบาร์เรลที่ถูกขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเที่ยบเท่ากับ 20% ของการใช้น้ำมันของทั้งโลก

นอกจากนี้ บริษัทขนส่งต่าง ๆ ยังถูกบีบให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือ ซึ่งหมายถึงการต้องส่งเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปของแอฟริกา นี่เท่ากับว่าเรือสินค้าต้องเดินทางไกลขึ้นอีกกว่า 6,000 กิโลเมตร และต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น 10-14 วัน

มีการคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินเรือเช่นนี้ จะทำให้ต้องเสียต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับทุก ๆ การเดินเรือสินค้าระหว่างเอเชียและยุโรป นอกจากนี้ เบี้ยประกันภัยและการมีสินค้าน้อยลงเนื่องจากการเดินเรือที่ต้องใช้เวลายาวนานขึ้น ก็เท่ากับว่าราคาสินค้าปลายทางจะแพงขึ้นด้วย