"เศรษฐา" ระบุครม. มีมติตั้ง "พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์" นั่งเลขาฯสมช. แล้ว ภูมิธรรมยันรัฐบาลมีความพร้อมรับมือ สว.ซักฟอก เผยเรื่องเป็นประโยชน์จะนำไปปฏิบัติ ลั่นเพื่อไทย ไม่ยื้อกม.นิรโทษฯ ด้าน"ก้าวไกล" หนุนตั้งกมธ.นิรโทษฯ เตรียมเสนอร่างประกบ"เพื่อไทย" หวังได้รับการสนับสนุนฝ่ายค้าน-รัฐบาล

     ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ม.ค.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีการแต่งตั้งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คนใหม่ ว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว 

 ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงความพร้อมของครม. ภายหลังสมาชิกวุฒิสภา ยื่นมติอภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติตามมาตรา 153  ว่า จะอภิปรายวันไหนก็ได้ รัฐบาลมีความพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งการอภิปรายตามมาตรา 153 ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์และการติติง ซึ่งเป็นธรรมดาที่รัฐบาลต้องรับฟัง ซึ่งเรื่องใดที่เป็นประโยชน์ก็จะน้อมรับฟังและนำไปปฏิบัติ แต่เรื่องใดที่ยังมีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนกัน ไม่เข้าใจกัน รัฐบาลก็พร้อมที่จะชี้แจง ซึ่งทุกคนก็ทำตามหน้าที่ ฝ่ายค้านก็ทำตามหน้าที่ สว. ก็ทำตามหน้าที่ รัฐบาลก็มีหน้าที่ที่ต้องชี้แจงเพื่อสร้างความความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนมากขึ้น ส่วนที่ประชุมครม.วันนี้จะมีการหารือเรื่องกำหนดวันอภิปรายหรือไม่  นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่เห็นเรื่อง ถ้าเลขาธิการครม. นำเสนอเข้ามา ก็คงจะมีการพูดคุย ซึ่งตนไม่ได้ดูในเรื่องนี้
    
 นายภูมิธรรม ยังได้กล่าวถึงกรณีที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าพรรคเพื่อไทยจะมีการยื้อกฎหมายนิรโทษกรรมด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ว่า ตนขอถามปัญหากับสังคมว่าเรื่องนี้ถ้าดำเนินการไปแล้ว เห็นเหมือนกันว่าจะเป็นส่วนใหญ่จริงๆ พรรคเพื่อไทย ก็ไม่มีเหตุผลอะไรจะไปยื้อ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เราพูดไว้ชัดเจนตั้งแต่ต้นคือปัญหาของประเทศ ปัญหาของประเทศ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดจากวิกฤตความขัดแย้งที่ไม่ยินยอมกัน และต้องการที่จะผลักดันให้ได้ตามความต้องการของตน หากเป็นแบบนี้คงต้องใช้เวลา เพื่อที่จะทำให้ปัญหาคลี่คลายลง ถึงจุดที่พอเป็นฉันทามติของสังคมได้ การแก้ปัญหาก็จะจบ แต่ตราบใดที่คุยกันแล้วยังมีคนต้านอย่างรุนแรง แล้วเราประเมินว่าการต้านเพียงแค่ไม่ใช่ของคนกลุ่มเล็กๆ ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาล ยังจะไม่ขยับจนกว่าจะมีข้อสรุปของสังคม 
    
 ขอย้ำว่าไม่ใช่การยื้ออะไร แต่เป็นการพยายามจัดการปัญหาความขัดแย้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะไม่แก้ปัญหาเพื่อนำมาสู่ปัญหาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ตนพูดเสมอว่าตอนนี้ ต้องแก้ปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจ และสังคมก็ต้องทำก็ต้องทำ เราขัดแย้งมาตลอด ก็รู้อยู่แล้วว่าทำอะไร แล้วจะเกิดความขัดแย้ง ทำอะไรจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไป แต่แน่นอนการตัดสินใจ หลายอย่าง ไม่สามารถทำได้ตามความพึงพอใจ ในทันที แต่ถ้าทุกคนเห็นพ้องต้องกัน การตัดสินใจทำอะไรไปก็จะเกิดความสงบสุข
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า อะไรคือตัวชี้วัดที่ทำให้สังคมเห็นพ้องต้องกัน จะต้องทำประชามติหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ต้องไปติดกับรูปแบบ การรับฟัง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนเห็นพ้องได้ และอย่างผลโพลที่หลายสำนักสำรวจออกมาก็ยังมีความต่างกัน ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องฟังทุกส่วนแล้วชั่งใจ และใช้ดุลพินิจพิจารณาทุกเรื่องและตัดสินใจ ในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด เพราะรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ ในสิ่งที่ตัวเองคิดและทำ
    
 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชพท.) กล่าวถึงกรณีการร่วมรับประทานอาหารระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า ตนไม่ได้ไปร่วมรับประทานอาหารด้วย แต่ตนได้มอบหมายให้ นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค และนายประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรค เข้าร่วมแทน ซึ่งขณะที่ร่วมรับประทานอาหารกัน ก็มีการโทรหาตนอยู่ ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ เป็นการถามสารทุกข์สุกดิบเรื่องงาน ไม่ได้พูดคุยหารือการปรับครม.ตามที่เป็นข่าว 
    
 เรื่องกระแสข่าวการปรับ ครม.นั้น ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะรัฐบาลชุดนี้ก็ทำงานมา 4-5 เดือนแล้ว มีทั้งคนที่อยากให้ปรับและไม่อยากให้ปรับ สุดท้ายแล้ว ก็คงเป็นไปตามพรรคร่วมรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะมีการปรับหรือไม่ แต่ตอนนี้ก็ยังยืนยันได้ว่าในพรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้แต่ในพรรคชาติพัฒนา ยังไม่ทราบข่าวแนวทางการปรับครม.
    
 ที่รัฐสภา นายสรวงศ์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึง การเตรียมเลื่อนญัตติของ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า ไม่ได้เป็นการถ่วงเวลา แต่เป็นการเดินหน้าและเชื่อว่าการพูดคุยกันในห้องประชุมเล็กจะดีกว่า เพราะเนื้อหามีความละเอียดอ่อน หากพูดคุยกันในห้องประชุมใหญ่ เชื่อว่าสุดท้ายก็จบลงกันที่การประชุมลับ เพราะมีเรื่องของมาตรา 112 เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล มีความเห็นตรงกันให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เพื่อศึกษาการเสนอกฎหมายดังกล่าว ส่วนร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลที่มีการยื่นให้ประธานรัฐสภาแล้ว   แต่ไม่ทราบว่าจะได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเมื่อได  จึงเชื่อว่าการพูดคุยในห้องเล็กอาจมีความเห็นตรงกันในหลายเรื่อง
    
ทุกพรรคการเมืองและทุกภาคส่วน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมืองต้องมาพูดคุยกัน พรรคเพื่อไทยยินดีที่จะแสดงความจริงใจในการผลักดันแม้จะเคยมีการศึกษามาแล้ว แต่เวลาเปลี่ยน จุดยืนของคนก็เปลี่ยน บางคนเคยเป็นเหลืองก็กลายมาเป็นแดง หรือตอนนี้ไม่มีสีแล้ว ผมมองว่าควรหาจุดร่วมเพื่อทำกฎหมายบรรเทาทุกข์ประชาชน รวมถึงเยาวชนที่อาจจะผิดพลาดไป ดังนั้นการมาคุยในห้องเล็กดีที่สุด" 
       
  นายสรวงศ์ กล่าวต่อว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่มีการยกร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่เป็นฉบับของพรรคฯ แต่ได้เสนอให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมาเพื่อที่พรรคร่วมรัฐบาลจะได้ผนึกกำลังเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันเป็นร่างเดียวเพราะในเนื้อหาเราเห็นตรงกันเกือบทุกเรื่อง ติดอยู่เพียงเรื่องละเอียดอ่อนมากเพียงเรื่องเดียว เช่น มาตรา  112 ที่หากเข้าห้องประชุมใหญ่แล้วต้องประชุมลับอย่างแน่นอน แต่ยืนยันว่า จะเร่งดำเนินการให้กฎหมายออกมาเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะกมธ.จะใช้กรอบเวลาในการพิจารณาไม่เกิน 60 วัน รวมถึงจะนำร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ของภาคประชาชนมาร่วมพิจารณาด้วย
    
 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการเสนอเลื่อนญัตติตั้งคณะกรรมการ (กมธ.)วิสามัญศึกษาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของวิปรัฐบาล ว่า เป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรคการเมืองที่จะใช้วิธีดำเนินการผลักดันร่างกฎหมายที่แตกต่างกัน หากมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาศึกษาพรรคก้าวไกลจะเสนอร่างกฎหมายพิจารณาควบคู่กัน โดยจะอธิบายเหตุผล และหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองในสภาฯทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
    
 ผู้สื่อข่าวถามถึงการกรอบเวลาพิจารณาศึกษา 60 วัน จะทำให้การออกกฎหมายล่าช้าหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลมีร่างกฎหมายพร้อมแล้ว และยังมีร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ ร่างของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ส่วนพรรคการเมืองอื่นที่ยังไม่มีกฎหมายอาจจะใช้วิธีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาศึกษา ซึ่งหากจะพิจารณาร่างของพรรคก้าวไกลก็มีความพร้อมในทันที แต่ถ้าที่ประชุมสภาฯจะใช้วิธีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาก่อน เราก็จะใช้ร่างของเราเข้าไปพูดคุยในกรรมาธิการวิสามัญ
      
 "เข้าใจว่าเป็นวิธีหนึ่งที่วิปรัฐบาลเลือกที่จะดำเนินการ เราจะพยายามใช้พื้นที่อย่างเต็มที่ในการนำเสนอหลักคิดและเหตุผลร่างของเรา และหวังว่าร่างของเราจะถูกพิจารณาในวาระแรก และได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ เราเข้าใจดีว่าถ้าจะผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ได้เสียงส.ส. ก้าวไกลอย่างเดียวคงไม่พอ เราจำเป็นต้องพูดคุยกับพรรคการเมืองอื่นทั้งในสิ่งฝ่ายค้านและรัฐบาลให้ความเห็นชอบร่างของเรา" นายพริษฐ์ กล่าว
    
 ผู้สื่อข่าวถามว่า ห่วงหรือไม่หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีการนิรโทษมาตรา 112  จะเป็นประเด็นอ่อนไหว นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในหลักการร่างของพรรคก้าวไกล จะนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจ แสดงออกทางการเมือง ซึ่งในร่างของพรรคก้าวไกลไม่ได้ระบุฐานความผิดเป็นการเฉพาะ แต่จะมีการตั้งคณะกรรมการจากหลายฝ่ายขึ้นมาพิจารณา เป็นกรณีไป
    
 โฆษกพรรคก้าวไกล ยังกล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ว่าการเสนอแก้มาตรา 112 จะนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อพลักดันเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้เกิดความสำเร็จ ทั้งนี้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว อย่างไรก็ตาม นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคก้าวไกล ไม่ได้เดินทางไปรับฟังคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากต้องปฏิบัติหน้าที่ที่สภาผู้แทนราษฎร
     
น.ส.พนิดา มงคลสวัสดิ์ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงความมั่นใจในการวินิจฉัยคดีการหาเสียงด้วยนโยบายแก้ไข มาตรา 112  ของศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ ว่า เราไม่ต้องทำอะไรมาก นอกจากรอคำสั่งศาลอย่างเดียว ซึ่งสมาชิกพรรคก้าวไกลทุกคนมีกำลังใจที่ดี รวมถึงผู้สนับสนุนพรรคด้วยเช่นกัน โดยจากการลงพื้นที่ครั้งล่าสุได้ตรวจสอบผลตอบรับจากประชาชนไม่ได้รู้สึกว่ากังวลอะไรมาก  คาดหวังความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมแน่นอน  รวมถึงทางพรรคได้นำเสนอชุดวิดีโอที่เสนอข้อเท็จจริงที่เราทำว่านโยบายต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และมั่นใจว่าพรุ่งนี้ผลการพิจารณาจะส่งผลดีต่อกระบวนการยุติธรรมไทย เมื่อถามกังวลว่าโทษจะไปถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่   น.ส.พนิดา กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของผู้ร้องไม่ได้ร้องให้ยุบพรรค