ได้ฤกษ์เปิดฉากซ้อมรบกันแล้ว
สำหรับ “องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ” หรือ “นาโต” ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โดยการซ้อมรบของนาโตในปีนี้ มีชื่อว่า “สเตดฟาสต์ ดีเฟนเดอร์ 2024 (Steadfast Defender 2024)” แปลเป็นไทยได้ความว่า “ผู้พิทักษ์ที่แน่วแน่มั่นคง 2024”
ตามกำหนดการ ก็ระบุว่า กองทัพนาโตจะเริ่มฝึกซ้อมกันตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม ไปเสร็จสิ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม รวมแล้ว 4 เดือนด้วยกัน ถือเป็นการซ้อมรบที่ลากยาวยืดเยื้อมาราธอนครั้งหนึ่งเลยทีเดียว
ในส่วนของกำลังพลกองทัพที่ตบเท้าเข้าร่วมฝึกซ้อม ก็ประกอบด้วยกองทัพของ 31 ชาติสมาชิก และจะมี “กองทัพของสวีเดน ว่าที่ชาติสมาชิกน้องใหม่ของนาโต ซึ่งแม้ว่ายังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการครบทุกชาติสมาชิก โดยยังขาดการรับรองของประเทศฮังการีเท่านั้น แต่ “กองทัพของสวีเดน” ก็จะได้เข้าร่วมฝึกซ้อมรบในครั้งนี้ด้วย
ก็ส่งผลให้ “สเตดฟาสต์ ดีเฟนเดอร์ 2024” จะมีกำลังพลของกองทัพ 31 บวกหนึ่งเข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 90,000 นายด้วยกัน
โดยกำลังพลที่ซ้อมย่ำศึกจำนวนข้างต้น ก็ต้องถือว่าเป็นจำนวนที่มหึมามากที่สุดของการซ้อมรบของนาโต นับตั้งแต่สิ้นสุด “ยุคสงครามเย็น (Cold War)” ซึ่งเป็นยุคของการเผชิญหน้าจากสองขั้วค่ายของโลกเรา นั่นคือ “โลกเสรีประชาธิปไตย” ที่มี “สหรัฐอเมริกา” เป็นผู้นำ กับ “โลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์” ที่มี “สหภาพโซเวียตรัสเซีย” และ “จีนแผ่นดินใหญ่” เป็นผู้นำ ก่อนที่ยุคสงครามเย็นต้องยุติไปในช่วงต้นของคริสต์ทศวรรษที่ 1990
นอกจากกำลังพลเกือบ 1 แสนนายที่จะตบเท้าเข้าร่วมซ้อมรบแล้ว บรรดากองทัพชาติสมาชิกของนาโต ก็จะระดมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ มาร่วมฝึกซ้อมทางยุทธวิธี ในการรบทั้งภาคพื้นดิน การรบทางน้ำ และยุทธเวหา คือ การสู้รบในทางอากาศด้วยอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ
เรือรบสารพัดชนิดรวมแล้วกว่า 50 ลำ กอปรด้วย เรือบรรทุกเครื่องบิน เรือพิฆาต เรือฟริเกต และเรือลาดตระเวน
เครื่องบินทหารสารพัดอย่างกว่า 80 ลำ รวมถึงเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-35 เครื่องบินเอฟเอ-18 ซึ่งเป็นเครื่องบินโจมตีหลายบทบาทและหลากสภาพอากาศ เครื่องบินรบแบบแฮริเออร์ส เครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-15 เฮลิคอปเตอร์ และอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนทางการทหาร
ส่วนยานรบที่ใช้ในกองทัพบก มีจำนวนรวมแล้วกว่า 1,100 คัน รวมถึงรถถังมากกว่า 150 คัน ยานรบจู่โจมของเหล่าทหารราบจำนวนกว่า 500 คัน และยานรบหุ้มเกราะอีกกว่า 400 คัน
ทั้งนี้ ทั้งกำลังพลจำนวนมหาศาล และอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนยานรบ เรือรบ เครื่องบินรบทั้งหลาย มาร่วมทัพซ้อมรบในครั้งนี้ ต้องถือว่าเป็นการระดมกันแบบครั้งใหญ่ ชนิดครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่นาโต ซ้อมรบภายใต้ชื่อรหัส “รีฟอร์เจอร์ (Reforger)” หรือ “ผู้หลอมรวมใหม่” ซึ่งมีขึ้นเมื่อปี 1988 (พ.ศ. 2531) ซึ่งเป็นช่วงปลายสมัยของยุคสงครามเย็น
ในส่วนของพื้นที่ที่ใช้ในปฏิบัติการซ้อมรบ ก็จะมีน้ำ ฟ้า และฝั่ง คือ ทั้งภาคพื้นดิน การรบทางน้ำ และทางอากาศในภูมิภาคยุโรป คิดเป็นระยะทางรวมแล้วหลายพันกิโลเมตร
เรียกว่าตั้งแต่ภูมิภาคยุโรปตะวันออก จรดไปถึงเกาะอังกฤษ ทางตะวันตกเลยทีเดียว จากยุโรปตอนเหนือ ลงสู่ทางใต้ ตลอดจนพื้นที่ยุโรปตอนกลาง ซึ่งได้แก่ในพื้นที่ของประเทศฟินแลนด์ เอสโตเนีย เยอรมนี กรีซ ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย นอร์เวย์ โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวะเกีย สวีเดน และสหราชอาณาจักร
เมื่อการฝึกซ้อมรบเป็นไปอย่างยาวนาน และใช้พื้นที่มากๆ ทางนาโตก็จะแบ่งจัดสรรการฝึกซ้อมทางยุทธวิธีในระยะ หรือเฟส ต่างๆ กว่าจะครบ 4 เดือน โดยทางนาโต ต้องการซ้อมรบให้แก่กองกำลังพลของกองทัพชาติสมาชิกต่างๆ ให้สามารถปฏิบัติการได้ในทุกสภาพเงื่อนไข เพื่อป้องกันภัยคุกคามด้านความั่นคง ซึ่งในที่นี้ทางนาโตหมายถึง คือภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากรัสเซียเป็นประการสำคัญ
โดยนายเจนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต เปิดเผยว่า ปฏิบัติการซ้อมรบ “สเตดฟาสต์ ดีเฟนเดอร์ 2024” เป็นการแสดงความพร้อมของกำลังพลกองทัพนาโตในการป้องกันพื้นที่ของชาติสมาชิก แบบทุกตารางนิ้ว ซึ่งตราบใดที่เราเตรียมพร้อม ดินแดนของนาโตก็จะไม่ถูกโจมตี
ทั้งนี้ การซ้อมรบของนาโตที่กำลังเริ่มมีขึ้นนั้น ก็มุ่งไปที่การป้องกันภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากรัสเซีย ที่ยุโรปอาจจะถูกรัสเซีย เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับยูเครน ตั้งแต่เมื่อเกือบ 2 ปีก่อน ซึ่งจนถึง ณ ชั่วโมงนี้ การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ก็ยังดำเนินต่อไปไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้งกันแต่ประการใด
อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญ แสดงทรรศนะเกี่ยวกับการซ้อมรบครั้งนี้ มีโจทย์ใหญ่ที่ทางนาโตต้องขบคิด เพื่อให้การฝึกซ้อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
อย่าง ดร.เลียนา ฟิกซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุโรปแห่ง “สภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (Council on Foreign Relations) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ ระบุว่า สิ่งที่สำคัญของนาโตในการซ้อมรบที่มีขึ้นก็คือ การฝึกฝนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการลำเลียงกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ตลอดจนยุทธปัจจัยทั้งหลาย ต้องให้มีความรวดเร็วกว่าฝ่ายตรงข้าม
พร้อมกันนี้ ดร.เลียนา ฟิกซ์ ได้ยกตัวอย่างจากกรณีของสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยระบุว่า สงครามดังกล่าว ได้แสดงออกมาให้เห็นแล้วว่า ความชักช้าของของการลำเลียงกำลังพล และอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนยุทธปัจจัยต่างๆ ของยูเครนนั้น มันหมายถึงการเสียดินแดนของยูเครนให้รัสเซียเข้ายึดครอง ซึ่งยูเครนก็จำต้องยึดคืน ทำให้เสียเวลาและกำลังพลโดยใช่เหตุ แทนที่จะนำกำลังพลเข้าปกป้องพื้นที่ในจังหวะที่รัสเซียยกกองทัพบุกจู่โจมข้ามพรมแดนเข้ามาโจมตี