ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่ในบริเวณที่ราบเชิงเขาทางด้านทิศตะวันตกของตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งเดิมมีชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงเข้ามาอาศัยตั้งบ้านเรือนและประกอบอาชีพทำไร่เลื่อนลอย ล่าสัตว์ หาของป่า ทำให้สภาพป่าเสื่อมโทรม ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของพื้นที่
จากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเดือนมีนาคม 2520 ได้พระราชทานพระราชดำริให้ช่วยเหลือชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง โดยให้รวมกลุ่มในพื้นที่เดียวกันและให้หน่วยงานราชการช่วยเหลือด้านการทำมาหากิน ประกอบอาชีพตามความเหมาะสมของพื้นที่ ตลอดจนการรักษาพยาบาลและการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น หน่วยงานต่างๆ จึงได้ร่วมสนองพระราชดำริ โดยดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ตั้งแต่ด้านสาธารณูปโภค มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินในรูปแบบสหกรณ์ ให้สิทธิทำกินชั่วลูกชั่วหลานแต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ และมอบหมายให้หน่วยงานราชการเข้าไปช่วยเหลือแนะนำ รวมถึงวางแผนการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ให้แก่สมาชิกในพื้นที่ ในปี 2563 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้จัดรูปแบบการบริหารโครงการตามพื้นที่ ซึ่งพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีได้เปลี่ยนชื่อเป็นโครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ป่าเด็ง หุบกะพง ดอนขุนห้วย กลัดหลวง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี รับผิดชอบในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และโครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าละอู หนองพลับ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รับผิดชอบในเขตพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มีการแบ่งกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ออกเป็นกลุ่มอาชีพต่างๆ ตามความถนัดแล้วส่งเสริมการผลิตที่มีคุณภาพโดยสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการรวบรวมและจำหน่ายผลผลิต มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้แก่สมาชิก ควบคู่กับการบริหารจัดการองค์กรช่วยเพิ่มความสะดวกในการดูแลสมาชิกและสร้างการมีส่วนร่วมกับสหกรณ์มากขึ้น รวมถึงการสร้างเสริมองค์ความรู้ในระบบสหกรณ์ กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดให้แก่บุคลากรทุกระดับตั้งแต่คณะกรรมการสหกรณ์ ฝ่ายจัดการผู้ตรวจสอบกิจการ สมาชิกสหกรณ์ “ในอนาคตจะส่งเสริมอาชีพให้แก่สมาชิก มีการวางแผนการผลิตและการตลาด เพื่อช่วยให้เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
ด้าน นายสมปอง พุ่มพวง เกษตรกรชาวสวนทุเรียน หมู่ที่ 2 บ้านรวมใจพัฒนา ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า มีสวนทุเรียนจำนวน 12 ไร่ สวนยาง 20 ไร่ ในพื้นที่หมู่บ้านสหกรณ์ป่าเด็ง จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว โดยที่ดินทำกินได้รับพระราชทานจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 สำหรับราษฎรที่ยากจนซึ่งส่วนใหญ่จะเข้ามาแบบเสื่อผืนหมอนใบไม่มีเงินไม่มีรายได้ โดยปลูกทุเรียน ปลูกยางพารา มีรายได้ มีกิน มีใช้ ปัจจุบันไม่มีหนี้ มีเงินฝาก สามารถส่งลูกเรียนจนมีงานทำที่ดีทุกคน “รักในหลวงรัชกาลที่ 9 มากที่สุด ได้ที่ดินทำกิน มีฐานะที่ดีขึ้นก็เพราะในหลวง จะตอบแทนพระองค์ด้วยการทำหน้าที่ราษฎรที่ดีให้ดีที่สุด ไม่สร้างปัญหาให้แก่ส่วนรวม”
วันที่ 10 มกราคม 2567 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ และคณะ ได้เดินทางไปยังโครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ป่าเด็ง หุบกะพง ดอนขุนห้วย กลัดหลวง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยรับฟังสรุปผลการดำเนินงานจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่าในพื้นที่ราษฎรส่วนใหญ่ได้อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ของโครงการเข้าสู่รุ่นที่ 4 ทุกคนมีฐานะพออยู่พอกินไม่มีหนี้สิน มีความสุขกันทั่วหน้า