ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หรือ ภาคอีสาน มีพื้นที่มากถึง 106.4 ล้านไร่ หรือ 170,218 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 33.1 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ในอดีตประสบกับปัญหาดินเค็ม ขาดความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุ ไม่อุ้มน้ำ ขณะที่แหล่งน้ำและป่าไม้ตามธรรมชาติมีน้อย ทำให้ดินขาดความชุ่มชื้นไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ขณะเดียวกันมีการแผ้วถางป่าเพื่อการทำกินอย่างต่อเนื่องทำให้แหล่งต้นน้ำและระบบนิเวศถูกทำลาย ตลอดจนราษฎรขาดความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะเทคนิควิชาการเกษตรในการทำกินที่ถูกต้อง

จากสภาพภูมิประเทศและทรัพยากร ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีในการดำรงชีพที่แตกต่างจากภาคอื่น จึงมีการศึกษาถึงปัญหาตามสภาพของภูมิสังคมและภูมิประเทศ เพื่อจัดหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับภาคอีสานโดยรวม ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงคัดเลือกพื้นที่จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้วยพระองค์เองที่เป็นตัวแทนของภาคอีสานทั้งหมด ด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวงจรทางชีวภาพที่คล้ายคลึงกับพื้นที่โดยทั่วไปของภาคอีสาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 เพื่อเป็นแบบจำลองหรือพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตของภาคอีสาน ซึ่งสะท้อนคำตอบในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ด้วยวิธีการต่างๆ และพัฒนาภูมิภาคนี้ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ สร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชนในภูมิภาคอย่างยั่งยืน

นายนรินทร์ ประทวนชัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยในโอกาสครบรอบ 41 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนครว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มีส่วนงานที่ร่วมสนองพระราชดำริหลากหลายหน่วยงานซึ่งรวมถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ด้วย เนื่องจากในอดีตช่วงที่มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ขึ้นมา พื้นที่มีความแห้งแล้ง ป่าไม้เสื่อมโทรม ดินไม่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการทำกินได้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีภารกิจหลักในการฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์เอื้อต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้เพื่อให้เกิดป่าตามธรรมชาติ เมื่อป่าไม้อุดมสมบูรณ์ความชุ่มชื้นของพื้นที่มีมาก ทำให้น้ำต้นทุนจากป่าก็มีมากพอสำหรับบริหารจัดการในระบบชลประทานได้ สามารถจัดทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่า เพิ่มพื้นที่การปลูกป่าโดยใช้พันธุ์ไม้ท้องถิ่นเป็นหลักหรือเป็นไม้เบิกนำ จากนั้นก็ปล่อยให้ป่าฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ

เมื่อก่อนชาวบ้านจะไปหาของป่าเพื่อเลี้ยงชีพ ทำให้มีปัญหาตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น หลงป่าบ้าง การก่อกองไฟในป่าแล้วดับไม่สนิททำให้เกิดไฟป่าสร้างความเสียหายในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าแบบพึ่งพาอาศัย คนดูแลป่า ป่าให้อาหารแก่คน กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีหลายแนวทางที่นำมาใช้ คือการเพาะเชื้อเห็ดกับไม้ในวงศ์ยาง โดยการนำเชื้อเห็ดตามธรรมชาติมาเพาะแล้วใส่บริเวณโคนต้นไม้ในวงศ์ยางที่นำมาปลูกในพื้นที่ป่า ทำให้เกิดเห็ดที่เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ซึ่งประชาชนสามารถเก็บมาบริโภคและจำหน่ายได้ อีกทั้งยังนำมาเพาะในพื้นที่ป่าชุมชน หรือใต้ต้นไม้วงศ์ยางของประชาชนบริเวณข้างบ้านได้ ทำให้มีแหล่งทำมาหากินโดยไม่ต้องเข้าป่า และเป็นอาหารที่นิยมบริโภคในปัจจุบัน เช่น เห็ดระโงก เห็ดเผาะ ก็ตรงกับแนวคิดที่ว่า ป่าอยู่ได้ คนก็อยู่ได้ ชาวบ้านก็มีรายได้ ” นายนรินทร์ ประทวนชัย กล่าว

ในการต่อยอดวงจรการประกอบอาชีพภายใต้บริบทคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ กลุ่มงานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯได้พัฒนาการเพาะเลี้ยงหนอนนกสำหรับเป็นอาหารโปรตีนให้แก่สัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ นก เพื่อขยายผลสู่การเพาะเลี้ยงของเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอีกด้วย

นายรัชพล ศรีบุญรมย์ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เปิดเผยว่า หนอนนก หรือ Mealworm เป็นหนอนที่เพาะเลี้ยงเพื่อเป็นโปรตีนที่มีชีวิตให้แก่สัตว์ปีก รวมถึงสัตว์ป่าคุ้มครองที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ เช่น ไก่ฟ้า เป็นต้น

“หนอนนกพ่อแม่พันธุ์ ตัวจะมีสีดำ หลังผสมพันธุ์แล้วตัวผู้จะตาย จากนั้นตัวเมียก็วางไข่ประมาณหนึ่งอาทิตย์ โดยจะฟักเป็นตัวอ่อนและเข้าสู่ระยะหนอนซึ่งใช้เวลาประมาณเดือนครึ่ง แล้วลอกคราบเป็นดักแด้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ ก็จะวนกลับมาเป็นพ่อแม่พันธุ์อีกครั้ง รวมแล้ววงจรชีวิตจะใช้เวลาประมาณ 55 - 85 วัน การนำไปเป็นอาหารสัตว์จะอยู่ที่ระยะประมาณ 1 เดือน ซึ่งจะเป็นแหล่งโปรตีนเสริมให้แก่สัตว์ปีกเพิ่มเติมจากอาหารเม็ด ทำให้สัตว์ปีกแข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดี และสามารถขยายผลไปยังกลุ่มผู้เลี้ยงนกสวยงาม สร้างรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้านได้อีกหนึ่งช่องทาง ตลาดตอนนี้ขายได้กิโลกรัมละ 600 บาท หรือ ขีดละ 60 บาท อายุประมาณ 1 เดือน ก็ขายได้แล้ว การเพาะเลี้ยงง่ายและประหยัด โดยให้อาหารจากเศษผลไม้ตามฤดูกาล หรือรำข้าวสาลี สำหรับเกษตรกรที่สนใจการเพาะเลี้ยงหนอนนก สามารถติดต่อศึกษาดูงานได้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” นายรัชพล ศรีบุญรมย์ กล่าว

สำหรับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร นั้น ครบรอบ 41 ปี ที่ได้น้อมนำแนวทางการพัฒนาควบคู่กับการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาดำเนินงานจนก่อเกิดผลสำเร็จ และขยายผลไปสู่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น มีผลสัมฤทธิ์เป็นที่ประจักษ์ ทั้งด้านการพัฒนาระบบชลประทาน การปลูกพืชเศรษฐกิจ การรักษาระบบนิเวศวิทยาของป่า การปรับปรุงบำรุงดิน และการส่งเสริมด้านปศุสัตว์ การประมง เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จด้านการสร้างน้ำ เพิ่มป่า พัฒนาชีวิตที่พอเพียงให้แก่ผู้คนในพื้นที่ภาคอีสานได้อย่างสมบูรณ์แบบ