อย่าเสี่ยง! เตือนสิงห์นักบิดอย่าเฉียด 4 จุดบอดรถบรรทุก

นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่ประชาชนนิยมใช้ในการเดินทาง โดยเฉพาะในเขตเมืองหรือในพื้นที่จราจรติดขัด เพราะสะดวกและถึงที่หมายอย่างรวดเร็ว แต่ผู้ขับรถจักรยานยนต์ก็สามารถเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายและรุนแรงส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ส่วนหนึ่งคู่กรณีมักจะเป็นรถบรรทุกหรือรถขนาดใหญ่

ทั้งนี้กรมการขนส่งทางบกเตือน ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ควรหลีกเลี่ยงการขับรถเข้าไปในจุดบอดของรถบรรทุกหรือรถขนาดใหญ่ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยมีรายละเอียดดังนี้

4 จุดบอดที่รถบรรทุก หรือรถขนาดใหญ่ มองไม่เห็น

1.บริเวณด้านหน้าของรถบรรทุกและรถขนาดใหญ่

2.ด้านขวาของรถบรรทุกและรถขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นจุดที่บดบังทัศนวิสัยในการมองเห็น โดยเฉพาะในระยะประชิด เนื่องจากความสูงของตัวรถ

3.ด้านหลังของรถบรรทุก ผู้ขับรถบรรทุกไม่สามารถมองเห็นด้านหลังของรถจากกระจกมองหลังได้

4.ด้านซ้ายของรถบรรทุก ซึ่งเป็นพื้นที่อันตรายที่สุด เนื่องจากเป็นจุดที่มีทัศนวิสัยแคบ ผู้ขับรถบรรทุกสังเกตเห็นรถคันอื่นได้ยาก ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จึงควรหลีกเลี่ยงขับขี่รถเข้าไปอยู่ใกล้พื้นที่จุดบอดของรถบรรทุกในทุกกรณี

ทั้งนี้นอกจากจุดบอดของรถบรรทุกหรือรถขนาดใหญ่ที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ควรหลีกเลี่ยงแล้ว พื้นที่บริเวณไหล่ทางยังเป็นพื้นที่เสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุที่ควรระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยกรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศกรมฯ กำหนดให้รถบรรทุกที่ใช้ขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกต้องติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านข้าง (LPD) และด้านท้าย (RUPD) เพื่อป้องกันอุบัติเหตุรถยนต์ที่มีขนาดเล็กหรือรถจักรยานยนต์ล้มเข้าใต้รถบรรทุกหรือรถยนต์ชนท้ายรถบรรทุกเพื่อเป็นการยกระดับความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้กรมการขนส่งทางบกกำชับเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถจักรยานยนต์ควรปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถ ไม่ใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และสวมหมวกนิรภัยซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุรุนแรง ช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บศีรษะและสมอง ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของคนขับและคนซ้อนท้าย ที่สำคัญอยากแนะนำให้ประชาชนเลือกใช้หมวกนิรภัยที่มีคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. การสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งต้องใส่สายรัดคางให้แน่นกระชับพอดี รวมทั้งต้องหมั่นตรวจสอบสภาพรถให้อยู่ในสภาพ