วันที่ 29 มกราคม 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังลงพื้นที่โรงเรียนนาคนาวาอุปถัมภ์ ซอยพัฒนาการ 26 เพื่อตรวจสอบกรณีนักเรียนแทงเพื่อน เป็นเหตุให้มีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย ว่า จากการตรวจสอบเป็นนักเรียนชั้น ม.2 อายุ 14 ปี ก่อเหตุทำร้ายเพื่อนคนละห้อง ซึ่งรายละเอียดขอให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ

 

ในส่วนของ กทม.มีนโยบายตรวจกระเป๋าเด็ก แต่เป็นการตรวจสุ่ม ไม่ตรวจทุกวัน เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่แอบนำเข้ามา อย่างไรก็ตาม ต้องดูแลผู้ได้รับผลกระทบก่อน โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในโรงเรียน บางส่วนผู้ปกครองมารับกลับบ้านแล้ว จากนี้ กทม.จะจัดนักจิตวิทยาเข้ามาดูแลผลกระทบทางจิตใจแก่เด็กและครูในโรงเรียนต่อไป เบื้องต้นให้การช่วยเหลือคุณแม่ของเด็กผู้ได้รับความเสียหายแล้ว และกทม.จะดูแลเรื่องการจัดงานศพให้

 

ส่วนมาตรการต่อจากนี้ กทม.จะเน้นการตรวจกระเป๋าและอาวุธให้เข้มข้นมากขึ้น และให้นักเรียนช่วยแจ้งเหตุต่าง ๆ เพื่อป้องกันเหตุต่อไป อย่างไรก็ตาม การตรวจกระเป๋าเด็กนักเรียนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง ต้องคำนึงถึงสิทธิเด็กด้วย โดยกทม.จะเร่งหาแนวทางเพื่อดำเนินการให้เหมาะสมต่อไป

 

ส่วนเรื่องเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ กทม.ไม่ยืนยันว่าเป็นเด็กพิเศษ เพราะเป็นเพียงการสังเกต เรื่องนี้ต้องระวังพิเศษเพราะโรงเรียนในสังกัด กทม.มีเด็กพิเศษเรียนร่วมเด็กปกติในโรงเรียน 158 แห่ง ขออย่าเอามาเป็นประเด็นให้รอการสืบสวน รวมถึงการบูลลี่ด้วย

 

“โรงเรียนนี้มีปัญหาเยาวชนจากด้านนอกมีพฤติกรรมเกเร ผู้ปกครองให้ความเห็นว่าไม่อยากให้แต่งชุดไปรเวท เพราะไม่สามารถแยกออกจากเด็กเกเร ซึ่งวันไหนที่โรงเรียนให้เด็กแต่งไปรเวทก็จะมีเด็กเกเรมาคุกคาม เป็นเรื่องบริบทโดยรอบและความปลอดภัยของเด็ก เบื้องต้นได้แจ้งผู้อำนวยการไปประเมินสถานการณ์ประเด็นนี้แล้ว ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างครู ผู้ปกครอง สำนักงานเขต และตำรวจ ร่วมมือเป้นหนึ่งเดียว การแก้ปัญหาก็จะดีขึ้น ไม่ใช่ต่างคนต่างแก้“ นายชัชชาติ กล่าว

 

ด้านนายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.อยู่ระหว่างฝึกอบรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครในทุกโรงเรียนให้เป็นครูเด็กพิเศษ เพื่อให้ครู กทม.สามารถมองออก คัดกรองได้ และสามารถดูแลเด็กได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยการดำเนินการฝึกอบรมนี้จะแล้วเสร็จช่วงกลางปีถึงปลายปีนี้

 

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในอดีตเราให้ความสำคัญในการทำแผนการเรียนการสอนเฉพาะ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่ขณะนี้ได้ให้ครูประจำชั้นทำแผนการเรียนการสอนวิชาโฮมรูมด้วย ไม่ใช่แค่คาบทวงการบ้าน แต่จะให้พูดคุยคล้ายกับการเปิดใจถึงสิ่งที่เด็กชอบ อยากเรียนรู้ หรือความสามารถพิเศษ เพื่อนำไปต่อยอดให้เด็กทุกคนมีความภูมิใจในตนเอง ไม่ใช่การเปรียบเทียบ ขณะนี้นำร่องแล้ว 1 โรงเรียน และจากเหตุการณ์นี้จะขยายมายังโรงเรียนที่เกิดเหตุด้วย