“เพื่อไทย” ยืนยัน รัฐบาลเดินหน้า”ดิจิทัลวอลเล็ต” ระบุอาจช้าเล็กน้อย แต่ชัวร์-ชอบด้วยกฎหมาย ชี้แจกช้าไม่กระทบความเชื่อมั่นพรรค เชื่อ”ปชช.”เข้าใจ  ด้าน“นิด้าโพล”เผยวิกฤติเศรษฐกิจอยู่ในชั้นวิกฤต “ปชช.”จี้ให้เร่งแก้ปัญหาเร่งด่วน และอยากให้หยุด แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท 

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.67 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  ให้สัมภาษณ์กรณีผลสำรวจนิด้าโพล เรื่อง วิกฤตเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่ระบุมีประชาชาชนอยากให้เดินหน้าและหยุดนโยบายแจกเงินดิจิทัลในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือเดินหน้าโครงการร้อยละ 33.66 และหยุดโครงการร้อยละ 34.66 รวมถึงความรู้สึกของประชาชนร้อยละ 68.85 ระบุว่าหากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ตัดสินใจยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่โกรธเลย ว่า รัฐบาลยืนยันตลอดที่จะผลักดันและเดินหน้าโครงการนี้ แต่ในระหว่างทางไม่ว่าจะเป็นข้อสังเกตจากหน่วยงานรัฐหรือข้อเสนอแนะ จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงโพลที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ตนเชื่อว่ารัฐบาลรับฟังอยู่แล้ว ฉะนั้นการดำเนินโครงการจะเป็นการดำเนินการที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วม เสนอแนะ และตรวจสอบได้ ยืนยันว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะผลักดันและเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต่อ แต่จะเดินหน้าบนพื้นฐานของความชอบธรรม ความโปร่งใส บนพื้นฐานที่นำข้อเสนอแนะมาประมวลเพื่อจะดำเนินการให้ถูกต้องตามกรอบกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการชะลอโครงการนี้จากเดิมที่จะเริ่มแจกในเดือนพ.ค.นี้ หวั่นว่าจะมีผลกระทบกับความเชื่อมั่นของพรรคหรือไม่ นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าประชาชนที่ติดตามโครงการนี้จะทราบว่ารัฐบาลตั้งใจทำทันที แต่มีข้อห่วงใย ข้อสังเกต จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาในการที่จะพิจารณาและดำเนินการเรื่องนี้ ดังนั้น ตนคิดว่าประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลไม่สามารถเดินหน้าเร็วกว่านี้ได้ และเห็นอยู่แล้วว่าไม่ใช่ว่าเมื่อเราเป็นรัฐบาลแล้วเราบอกว่าจะไม่ทำ แต่เพราะมีเรื่องข้อสังเกตต่างๆ เข้ามาที่รัฐบาลต้องรับฟัง ทำให้กระบวนการอื่นๆ ต้องใช้เวลาสักระยะ แต่การใช้ระยะเวลาสักระยะนั้น จะไม่กระทบต่อความตั้งใจของรัฐบาลที่จะผลักดันโครงการนี้

เมื่อถามว่า มองว่าจะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของพรรคใช่หรือไม่ นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ถูกต้อง เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำให้ช้า และเราพร้อมทำทันทีตั้งแต่ต้น เมื่อถามว่า ในพรรคได้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้บ้างหรือไม่ นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ในที่ประชุมพรรคทุกวันอังคารมีเสียงสะท้อนมาว่าประชาชนแต่ละพื้นที่ตั้งตารอว่านโยบายนี้จะสามารถดำเนินการได้เมื่อไหร่ ซึ่งส.ส.ของพรรคก็ได้มีการสอบถามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีท่านอื่นๆ ซึ่งตั้งแต่เราเป็นรัฐบาลจนถึงวันนี้ไม่เคยได้ยินหรือไม่เคยมีการบอกว่าจะไม่ทำ มีแต่บอกว่าจะเดินหน้าต่อแต่จะเดินหน้าอย่างรอบคอบ ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วเบื้องต้นนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงอะไรเพิ่มเติมกับส.ส.ของพรรคหรือไม่ นายอนุสรณ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีบอกว่ารัฐบาลนี้มีต่อนโยบายซึ่งจะดำเนินตามกรอบลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส และไม่ได้แปลว่าพรรครัฐบาลมีนโยบายเดียวคือดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลทำหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นโครงการแลนด์บริดจ์ ที่พยายามจะทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องซอฟต์เพาเวอร์ การลดค่าไฟ ลดค่าพลังงาน ลดค่าน้ำมันก็มีการดำเนินการควบคู่กันไป ฉะนั้น เชื่อว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นหนึ่งในโครงการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในระหว่างที่ทำไม่ได้ทุกคนก็เห็นว่านายกรัฐมนตรี ได้ทุ่มเททำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เดินทางทั้งในและต่างประเทศเพื่อผลักดันโครงการอื่นๆ ที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งส.ส.ก็เข้าใจและจะไปชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่ต่อไป

"ผมยืนยันอีกครั้งว่าจนถึงขณะนี้รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเดินหน้าโครงการนี้ แต่จะเป็นการเดินหน้าโครงการที่ชอบด้วยกฎหมาย เดินหน้าอย่างรอบคอบ รับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนแล้วนำมาประมวลเพื่อให้โครงการนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง ไม่มีผลที่ทำแล้วผิดกฎหมาย อาจจะช้าหน่อย แต่ช้าแล้วชัวร์ ย้ำว่าหากไม่ติดขัดเรื่องอะไรแล้ว โครงการนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้จริง" นายอนุสรณ์ กล่าว

ด้าน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “วิกฤติเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-24 ม.ค.67 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 63.51 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน รองลงมา ร้อยละ 20.15 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องหาทางแก้ไขแต่ไม่เร่งด่วน ร้อยละ 10.08 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ไม่น่าวิตกกังวลใด ๆ ร้อยละ 5.65 ระบุว่า ไม่ได้เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับการเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจของประชาชนในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.72 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วน รองลงมา ร้อยละ 31.91 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่สามารถรับมือได้ด้วยตนเอง ร้อยละ 20.45 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ไม่เร่งด่วน และร้อยละ 10.92 ระบุว่า ไม่ได้เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจใดๆ

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.66 ระบุว่าควรหยุดการดำเนินการในนโยบายนี้ได้แล้ว รองลงมา ร้อยละ 33.66 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อไปในปีนี้ ตามที่ได้ประกาศไว้ ร้อยละ 18.55 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อไปในปีนี้ แต่แจกเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.88 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2568 ร้อยละ 4.58 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2568 แต่แจกเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ และร้อยละ 2.67 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนหาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 68.85 ระบุว่า ไม่โกรธเลย รองลงมา ร้อยละ 12.37 ระบุว่า ค่อนข้างโกรธ ร้อยละ 9.39 ระบุว่า โกรธมาก ร้อยละ 8.85 ระบุว่า ไม่ค่อยโกรธ และร้อยละ 0.54 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ   
 
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.01 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.74 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.79 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.93 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.74 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 95.95 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.59 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.46 นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น ๆ

ตัวอย่าง ร้อยละ 36.18 สถานภาพโสด ร้อยละ 61.83 สมรส และร้อยละ 1.99 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 24.50 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 36.18 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.31 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่าร้อยละ 25.73 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.28 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 8.47 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 17.02 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.76 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.99 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.11 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.85 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 5.80 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ตัวอย่าง ร้อยละ 23.36 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 19.24 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 29.31 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.39 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 3.13 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.43 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.14 ไม่ระบุรายได้