ททท.โคราช จัดทัวร์กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น นำ นทท.นั่งรถไฟ KIHA เที่ยวปราสาทหินพิมาย ชมแสง สี เสียง “วิมายะนาฎการ” ชุมชนเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน    

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม กลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ 200 คน โดยนายกันตพงษ์  ธนะเนืองโรจน์ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) เดินทางไปหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน อ.โชคชัย โดยมีเจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมาและเทศบาลตำบล (ทต.) ด่านเกวียน ให้การต้อนรับพร้อมให้ข้อมูลเส้นทางชุมชนกองเกวียนชนเผ่า “ข่า” ลุ่มน้ำมูล ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นต่อรุ่นขุดดินริมตลิ่งมาทำเครื่องปั้นดินเผา ประยุกต์เป็นภาชนะใช้ในครัวเรือนบรรทุกใส่เกวียนไปขายระหว่างโคราช-เขมร (กัมพูชา) และพื้นที่รอบนอก ต่อมาได้ยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์สมัยใหม่และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากนั้นไปอุทยานประวัติศาสตร์นักรบไทย ไทรทองเทพนิมิต กราบไหว้สักการะพระบรมรูป 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกกาทศรถและสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ต่อมาเดินทางไปสถานีนครราชสีมา เพื่อโดยสารขบวน KIHA 183 นครราชสีมา-กรุงเทพมหานคร กลับภูมิลำเนาเดิม    

นายกันตพงษ์ นายก สธทท. เปิดเผยว่า ทริปนี้ถือเป็นรถไฟ ขบวนแรกของปี 2567 รับนักท่องเที่ยวเข้าสู่เมืองโคราช ระหว่างทางแวะเยือนผาเสด็จหรือผาเสด็จพักหน้าผาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ 2438 เสด็จมาเมื่อคราวเปิดเดินรถไฟกรุงเทพ-นครราชสีมา สายแรกของประเทศไทยและทรงพระปรมาภิไธย จปร.ไว้ แวะเก็บภาพบันทึกความทรงจำสถานีรถไฟนครราชสีมา อายุ 124 ปี ก่อนจะถูกทุบทิ้ง เพื่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง นักท่องเที่ยวได้รับการต้อนรับอย่างชื่นมื่นตามประเพณีอีสาน ผูกข้อไม้ข้อมือจากผู้เฒ่าผู้แก่ชาวพิมายและชมปราสาทหินพิมาย สถาปัตยกรรมล้ำค่าสมัยอาณาจักรขอมโบราณ ล้อมวงกินเข่าค่ำ (ภาษาถิ่นโคราช) อาหารมื้อเย็น พร้อมชมการแสดงประกอบแสง สี เสียง “วิมายะนาฎการ” เรื่องราวจากภาพจำหลักในปราสาทหินพิมาย สื่อสารออกมาเป็นการแสดงนาฏลีลา ฉากสร้างปราสาทหิน รำมวยไทยโบราณ รำตึงครกตึงสาก รำตั๊กแตน ลาวกระทบไม้ ขบวนแห่พุทธบูชาและระบำพิมายปุระ  

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการนำเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แฝงด้วยเอกลักษณ์อันมีคุณค่าในท้องถิ่นและการเดินทางด้วยรถไฟกำลังเป็นกระแสนิยมที่รวบรัดและประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่ต่อไป